เดือนนี้เป็นเดือนที่มีปัจจัยให้ต้องติดตามค่อนข้างมาก มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาพรวมดูแกว่งๆ ไปมา แต่รวมๆ ไม่ได้เหนือความคาดหมายของนักลงทุนมากนัก ทำให้ภาษานักเล่นหุ้นเขาเรียกกันว่าแกว่งออกข้างๆ ครับ เราลองมาเรียงกันไปโดยผมจะเริ่มจากปัจจัยต่างประเทศ แล้วตามด้วยในประเทศนะครับ
ปัจจัยต่างประเทศเริ่มจากรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 4 มิถุนายน มองเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ Fed มักหยิบมาใช้เป็นข้ออ้างในการดำรงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงหลัง ดังนั้นหากตัวเลขการจ้างงานออกมาแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดที่ 6.2 แสนตำแหน่งอย่างมาก มองจะเป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนตีความไปก่อนได้ว่า Fed อาจมีการส่งสัญญาณผ่อนคันเร่งการซื้อสินทรัพย์ในเร็วๆ นี้ได้ โดยอาจเริ่มตั้งแต่การประชุม FOMC กลางเดือนนี้เลย ซึ่งการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ ถือเป็นการประชุมรอบใหญ่ที่จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและ Dot Plot ออกมา แต่อย่าคิดว่า Fed จะยังไม่มีการส่งสัญญาณทำ QE Tapering ออกมาในรอบนี้
ปัจจัยในประเทศคงหนีไม่พ้นเรื่องของประมาณการตัวเลข GDP ไทย โดยการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ที่ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงมาที่ 1.5-2.0% โดยเป็นการปรับลดสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือเพียง 5 แสนคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งน่าจะถูกป้องกันได้จากการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สำหรับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อดูแล้วก็น่าจะสูงเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ภาพของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่แค่อาจจะนะครับ เพราะต้องยอมรับว่าความเสี่ยงของทั้งโลกยังเหมือนเดิม โควิด-19 ยังอยู่ การกลายพันธุ์ยังมาเรื่อยๆ นักลงทุนบางกลุ่มก็ยังคงมีความต้องการที่พักเงินที่ปลอดภัยอยู่ถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำ ต่อมาก็เป็นเรื่องของความคาดหวังว่าการฉีดวัคซีนภายในประเทศจะทำได้เร็วพอและกระจายในวงกว้างพอ ที่จะทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ของไทยมีแนวโน้มลดลง
ถึงแม้ภาวะการลงทุนจะผันผวนไปมาตามกระแสข่าวโควิด-19 และความคาดหวังของนักลงทุนต่อการเติบโตในระยะยาวของประเทศไทย แต่สภาวการณ์แบบนี้ ซึ่งบรรยากาศการลงทุนปรับเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นสภาวะความไม่แน่นอนอันเนื่องจากการระบาดระลอกที่สามซึ่งเรากำลังประสบอยู่ ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อภาวะการลงทุนในประเทศก็หนีไม่พ้นเรื่องต้นทุนการผลิต เนื่องจากการฟื้นตัวในหลายๆ ประเทศทำให้วัตถุดิบในการผลิต และน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับอัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน
ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญมีเพียงเรื่องการฉีดวัคซีนที่เป็นความหวัง ที่จะทำให้ภาพการลงทุนฟื้นตัวไปในทางบวก นั่นเป็นที่มาว่าทำไมผมถึงมองสภาวะการลงทุนในประเทศเรายังคงผันผวนแต่ไม่ได้เลวจนเกินไป สำหรับยามนี้ธีมการลงทุนอาจจะเริ่มขยับจากธีมเปิดเมืองมาดูธีมธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อ เช่น กลุ่มอาหารส่งออก และกลุ่มพาณิชย์ เป็นต้น
สำหรับประเภทสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในรอบแบบนี้ก็อาจจะกระจาย 5-10% ไปลงในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองรีท โดยอาจจะต้องพิจารณาถึงประเภทสินทรัพย์ และผลตอบแทนเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงก่อนการลงทุนด้วยนะครับ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์