Alphabet Inc. (GOOGL) ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาด Nasdaq ในฐานะเป็นบริษัทแม่ของ Google เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่าบริษัทมีแผนจะเพิ่มหุ้น โดยการแตกหุ้น (Stock Split) ในอัตราส่วน 20 หุ้นใหม่ต่อ 1 หุ้นเดิม โดยมีเป้าหมายที่จะดึงดูดให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากสามารถเข้าถึงหุ้นได้มากขึ้น
“เหตุผลของการแตกหุ้นครั้งนี้คือทำให้หุ้นของเราสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะทำ” Ruth Porat ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของ Alphabet กล่าว
สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ (Mom-and-Pop) ที่ยังไม่มีประสบการณ์และลงทุนเพียงเล็กน้อย ราคาหุ้นที่ต่ำกว่าจะช่วยให้พวกเขาเข้าซื้อหุ้นได้ง่ายขึ้นมากกว่าการไปซื้อเศษหุ้นผ่านโบรกเกอร์
การแตกหุ้นในอัตราส่วน 20 ต่อ 1 จะทำให้ราคาหุ้นของ GOOGL Class A ลดลงเหลือประมาณ 138 ดอลลาร์ อิงจากราคาปิดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2,752.88 ดอลลาร์ ระดับราคาใหม่จะเป็นระดับที่ต่ำสุดนับแต่ปี 2005
ราคาหุ้นของ GOOGL หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2004 ไต่ขึ้นจากระดับ 50 ดอลลาร์ ไปสูงสุดที่ 3,019.33 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 6,000% ในช่วงเวลาเกือบ 18 ปีที่ผ่านมา โดยราคาหุ้น GOOGL วิ่งขึ้นจาก 1,000 ดอลลาร์ มาที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
Ed Clissold หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดสหรัฐฯ ของ Ned Davis Research กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนสถาบันคงไม่มีผลกระทบอะไร แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อย ด้วยราคาต่อหุ้นที่ต่ำลง จะช่วยให้การซื้อหุ้นในปริมาณที่ต้องการเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น
ขณะที่ Michael O’Rourke หัวหน้ากลยุทธ์การตลาดของ JonesTrading กล่าวว่า แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งคือโอกาสในการเข้าคำนวณในดัชนี Dow Jones Industrial Average ซึ่งเงื่อนไขในเรื่องของ Price-weighted Index เป็นอุปสรรคมานานสำหรับหุ้นอย่าง Alphabet รวมถึง Amazon ที่มีราคาในระดับเลข 4 หลัก
ทั้งนี้การแตกหุ้นของบริษัทต่างๆ แทบจะหายไปจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะหลัง โดยในปี 2019 มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น เทียบกับเมื่อปี 2006 และ 2007 ที่บริษัทในดัชนี S&P 500 มีการแตกหุ้นถึง 47 บริษัท แต่ในปี 2020 บริษัทอย่าง Apple และ Tesla ซึ่งประกาศแตกหุ้น ก็ทำให้เรื่องนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP