×

Alphabet และ Meta เสนอเงินล้านให้ค่ายหนังฮอลลีวูด หวังดึงทรัพยากรภาพยนตร์ฝึกฝน AI

26.05.2024
  • LOADING...

Alphabet บริษัทแม่ของ Google และบริษัท Meta Platforms ได้หารือกับค่ายหนังหลายแห่งในฮอลลีวูดเกี่ยวกับการขอคอนเทนต์ที่ติดลิขสิทธิ์ เพื่อนำมาใช้พัฒนาโมเดล AI ของบริษัทบิ๊กเทค โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ AI ที่ใช้สร้างวิดีโอ

 

Bloomberg รายงานว่าทั้ง Alphabet และ Meta กำลังเร่งพัฒนาเครื่องมือที่จะทำให้ AI สามารถสร้างซีนให้เหมือนกับหนังได้ผ่านคำสั่งที่เขียนด้วยตัวหนังสือเท่านั้น โดยบริษัททั้งสองได้เสนอเงินลงทุนครั้งนี้จำนวนหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับค่ายหนังเพื่อแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้อีกหนึ่งผู้เล่นหลักในตลาดอย่าง OpenAI ก็กำลังเจรจากับค่ายหนังเช่นเดียวกัน

 

แม้ว่าค่ายหนังฮอลลีวูดหลายแห่งจะสนใจการหาช่องทางที่ AI จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการสร้างชิ้นงาน แต่พวกเขาก็ยังให้ความสำคัญกับการปกป้องผลงานให้ไม่ถูกแย่งไปจากผู้สร้าง โดยคนในอุตสาหกรรมหนังจะค่อนข้างระมัดระวังในการแชร์ทรัพยากรภาพยนตร์ให้กับบริษัทเทคโนโลยีหากพวกเขาไม่สามารถควบคุมมันได้ ซึ่งตัวอย่างชัดเจนที่สุดก็คือดราม่าที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ Scarlett Johansson ที่ไม่พอใจว่า OpenAI นำเสียงที่คล้ายเธอไปอยู่ใน ChatGPT

 

ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างมาก ค่ายหนัง Warner Bros. Discovery ได้แสดงความสนใจในการที่จะให้ลิขสิทธิ์กับทรัพยากรของบริษัทที่ถูกใช้ในภาพยนตร์ แต่เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ในขณะที่ Netflix และ Walt Disney ขอไม่เปิดให้เข้าถึงเนื้อหาที่ตนครอบครอง แต่สนใจที่จะร่วมมือทางธุรกิจในด้านอื่นมากกว่า

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาค่ายหนังได้เริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการทำงานบางส่วนไปบ้างแล้ว AI จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับฮอลลีวูด แต่สิ่งที่ใหม่คือความล้ำของเครื่องมือ AI ที่ถือกำเนิดขึ้นไม่นานมานี้อย่าง Sora ของ OpenAI และ Veo ของ Google ที่สามารถสร้างคลิปวิดีโอแบบสมจริงได้ด้วยการป้อนคำสั่งเข้าไปเพียงไม่กี่ประโยค ซึ่งมีทั้งความน่าตื่นเต้นปนความกังวล จนทำให้นักแสดงและนักเขียนบทบางคนออกมาประท้วงในปีที่แล้ว ท่ามกลางความกลัวที่ว่า AI จะเข้ามาแย่งงานของพวกเขา

 

Tyler Perry นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ และเจ้าของสตูดิโอ กล่าวกับ Bloomberg ว่า เขารู้สึกทึ่งกับความสามารถที่ Sora ทำได้ และเขาเป็นหนึ่งในคนที่พยายามผลักดันให้วงการเห็นถึงศักยภาพของ AI แต่ในขณะเดียวกันก็เตือนถึงผลกระทบเชิงลบด้านแรงงาน และสนับสนุนให้มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ชัดเจน มิเช่นนั้น “ถ้าไม่มีกรอบกฎหมายดูแล ฉันนึกไม่ออกเลยว่าอาชีพของเราจะอยู่รอดได้อย่างไร?”

 

อย่างไรก็ตามยังไม่มีสตูดิโอชั้นนำเจ้าไหนที่ฟ้องร้องบริษัทเทคในประเด็นที่ AI บางตัวได้หยิบยืมทรัพย์สินทางปัญญาของบางค่ายหนังไปใช้ฝึกโมเดล AI แล้ว ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้น พวกเขาเลือกที่จะหาหนทางว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้อย่างไรบ้างแทนที่จะเอาเวลาไปต่อต้านกับมัน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการแถลงความร่วมมือจากสตูดิโอหนังและบริษัทบิ๊กเทคอย่างเป็นทางการ

 

นอกจากนี้ ความซับซ้อนของปัญหาที่ต่างกันออกไปในแต่ละผู้เกี่ยวข้อง สำหรับสตูดิโอผู้ถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมีอำนาจตัดสินใจที่จะเลือกเปิดการเข้าถึงคอนเทนต์ให้กับบริษัท AI แต่นักแสดงในภาพยนตร์อาจไม่ต้องการให้ตัวเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็ได้ ความซับซ้อนดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปว่าสุดท้ายแล้วทุกฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันในแนวทางไหน?

 

ภาพ: AaronP / Bauer-Griffin / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising