วานนี้ (20 มิถุนายน) อลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงกรณีการโหวตเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี
อลงกรณ์ยืนยันว่า ได้เสนอให้ ส.ส. ของพรรคโหวตพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชุดรักษาการ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
- ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วตามครรลองของประชาธิปไตย
- การให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (พรรคก้าวไกล) ได้รับการสนับสนุนว่าจะต้องเผชิญกับเสียงในรัฐสภา ซึ่งต้องได้เกิน 376 เสียง
“เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่ไม่ปกติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ถ้าเป็นในอดีต เสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายที่ได้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว ดังนั้นคงต้องตั้งหลักการเดินหน้าประเทศใหม่ เนื่องจากประชาชนได้ลงคะแนนเสียงอย่างชัดเจน พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือฝ่ายค้านเดิม นี่คือสิทธิอันชอบธรรม และรวบรวมคะแนนได้ 300 กว่าเสียง ซึ่งถ้าเป็นภาวะปกติคงได้เป็นรัฐบาลไปนานแล้ว” อลงกรณ์เผย
อลงกรณ์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้แจ้งต่อคณะกรรมการบริหารชุดรักษาการเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีขอให้เป็นมติร่วมตามข้อบังคับของพรรค ระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหารรักษาการร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
ทั้งนี้ เมื่อเป็นการลงมติก็เป็นเอกสิทธิของ ส.ส. ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ส่วนจะเป็นตามแนวปฏิบัติในมติของที่ประชุม ส.ส. หรือคณะกรรมการบริหารร่วมกับ ส.ส. ตนเองก็เห็นพ้องและน้อมรับตามมติที่เกิดขึ้น โดยวันที่ 9 กรกฎาคม จะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกชุดคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคใหม่
อลงกรณ์ระบุว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างได้ด้วยความเกลียดชังและความรุนแรง แต่เกิดขึ้นได้ด้วยสันติวิธีกับความมีเหตุผล และต้องการการเลือกตั้งเพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างสุจริต
“ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องยอมรับว่าก้าวไกลชนะโดยไม่ซื้อเสียง อย่างน้อย 14 ล้านคนที่ได้แสดงความชัดเจนในการเลือกตั้ง ที่อิทธิพลของเงินหรือใดๆ ทางการเมืองไม่สามารถเบี่ยงเบนเจตจำนงของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้” อลงกรณ์ขยายความ
อลงกรณ์ระบุเพิ่มว่า “ไม่ใช่แค่ชัยชนะของก้าวไกล แต่ยังได้เห็นแสงสว่างที่จะมีโอกาสเห็นการเลือกตั้งที่สุจริต และชัยชนะโดยสุจริตจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยโดยสุจริต ตรงนี้มีความหมายมากกว่าเพียงแค่ชัยชนะของพรรคก้าวไกลหรือการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบประชาธิปไตยที่มีหรือไม่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การเลือกตั้งยังคงไม่ดีขึ้น ตนเองจึงคาดหวังว่าถ้าอย่างน้อย 14 ล้านเสียง สามารถสร้างโมเมนตัมให้เติบโตขึ้นทั้งระดับชาติและท้องถิ่น เชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยจะเกิดประชาธิปไตยสุจริตอย่างแน่นอน
สำหรับพรรคก้าวไกลที่ชนะ ส.ส. แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร อย่างถล่มทลาย อลงกรณ์มองว่าเป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนกรุงเทพฯ จะสนับสนุนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เนื่องจากหลายๆ คนก็ยังเชิดชูสถาบันอยู่ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งต้องมีสปิริต เคารพต่อทุกนโยบายและความเห็นต่างของแต่ละพรรคการเมือง