เมื่อวานนี้ (6 กรกฎาคม ) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย และไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมานานมากกว่า 1 เดือน และมีประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 12 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ คำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 6 อนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทย และผู้ติดตามของบุคคลดังกล่าว แต่ต้องไม่เป็นกรณีที่เข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ทั้งนี้ รวมถึงผู้ป่วยเดิมที่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล หรือผู้ป่วยใหม่ที่จำเป็นต้องมารับการรักษาในประเทศไทย ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจปลอดโรคโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยอย่างเข้มงวด
ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-5 กรกฎาคม 2563 พบว่า มีผู้เดินทางเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ราย โดยทั้ง 3 รายเป็นผู้ป่วยเก่าที่เคยมารับการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว (มาจากประเทศเมียนมา มัลดีฟส์ และกาตาร์ ประเทศละ 1 ราย และมีญาติผู้ดูแลติดตามมาด้วยจากประเทศเมียนมา 1 คน และมัลดีฟส์ 1 คน) ซึ่งทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องผ่านการตรวจ ซึ่งไม่พบเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ประเทศต้นทาง และมีเอกสารสำคัญครบถ้วนก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่
– เอกสารหรือหนังสือรับรองของสถานพยาบาลจากประเทศต้นทางที่ระบุความจำเป็นในการเข้ามารักษาพยาบาล
– เอกสารหรือหนังสือรับรองของสถานพยาบาลในประเทศไทยที่ยืนยันการรับผู้เดินทางเข้ามารักษาพยาบาล และการจัดสถานที่กักกันในสถานพยาบาลเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน
– ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate) หรือตามสภาพการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางการแพทย์ และใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าตรวจไม่พบเชื้อก่อโรคโควิด- 19 ภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง
– เอกสารหลักฐานซึ่งแสดงถึงหลักประกันที่ผู้เดินทางสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่ในประเทศ และกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
– หนังสือที่รับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry – COE)
โดยเมื่อชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตเดินทางมาถึงประเทศไทย จะมีการคัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ ต้องเดินทางโดยยานพาหนะของสถานพยาบาลเท่านั้น และมีระบบติดตามตัวหรือติดตั้งแอปพลิเคชันตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการในระหว่างที่เข้ารับการกักกัน และที่สำคัญจะต้องตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีก 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางมาถึงสถานพยาบาล ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7 และ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 ของระยะเวลาที่ถูกกักกัน ทั้งนี้ ในกรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่ถึง 14 วัน ทางสถานพยาบาลจะดำเนินการให้ผู้ป่วยอยู่กักกันจนครบ 14 วัน รวมทั้งญาติและผู้ติดตามจะถูกกักกันให้อยู่ในโรงพยาบาลเดียวกันกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 14 วัน หลังจากตรวจไม่พบเชื้อ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดของประเทศไทย เพื่อป้องกันและจำกัดการแพร่ระบาดของโรค แม้จะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล แต่เป็นการบริหารจัดการในโรงพยาบาลที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว จึงมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์