ครั้งแรกที่ได้ยินแนวคิด ‘อยู่สบาย ตายดี’ ของงาน Healthy Living Day #โชคดีที่ได้เลือก ที่จัดโดย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมกับเจาะใจ และชีวามิตร แอบตีความไปว่านี่อาจเป็นงานที่เต็มไปด้วยหลักธรรมคำสอนทางศาสนาที่ฟังแล้วชวนให้ปลงชีวิต แต่หลังจากดูรายชื่อแขกรับเชิญที่จะขึ้นมาพูดบนเวที และคอนเซปต์ของงานที่ประกาศชัดเจนว่าเป็น ‘มหกรรมความรู้ที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนในสังคมตระหนักถึงทางเลือกในการใช้ชีวิต เพื่อการอยู่อย่างดีทั้งกายและใจ และเตรียมพร้อมเรื่องความตายอย่างมีคุณภาพ’ ความคิดก็เปลี่ยนไปทันที และยิ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์สกาลา ก็ยิ่งรู้สึกโชคดีที่ได้ฟัง จึงอยากจะแบ่งปันให้คนที่ไม่ได้ไปฟังได้มีโอกาสเลือกที่จะ ‘อยู่สบาย ตายดี’ จากบทสรุปที่ THE STANDARD ได้กลับมา
บทสรุปแนวคิด ‘อยู่สบาย’ จากเหล่าคนดัง แค่เรียนรู้ที่จะอยู่ให้เป็น ไม่ว่าชีวิตคุณจะอยู่ในบริบทใดก็ตาม
จากที่เคยเชื่อมั่นว่าชีวิตที่ ‘อยู่สบาย’ คงหมายถึงชีวิตที่ได้กินดี นอนหลับ การงานราบรื่น แต่ประสบการณ์ชีวิตของเหล่านักคิดและคนดังในหลากหลายวงการบนเวทีเปลี่ยนวิธีมองการ ‘อยู่สบาย’ ต่างไปจากเดิม ไม่ว่าวันนี้คุณจะมีชีวิตแบบไหนก็หาวิธีอยู่สบายในแบบของคุณได้ในเงื่อนไขชีวิตที่ต่างกัน แค่เปลี่ยนวิธีคิดและปรับใช้ให้แมตช์กับชีวิตของคุณ
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
เปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนตัวเอง
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ คอลัมนิสต์ เปิดเวทีด้วยคำพูดชวนคิด “ทุกวันที่เราทำงาน เราเปลี่ยนไปทุกวัน” ตัวเขาเองก็เช่นกัน แต่สิ่งที่น่าคิดต่อก็คือเราเปลี่ยนไปเป็นคนที่เราอยากเป็นหรือเปล่า และนี่คือชีวิตที่เราอยากมีหรือเปล่า อย่าปล่อยให้ความเบื่อหน่ายกัดกินความรู้สึกจนเราเริ่มเกลียดงานที่ทำและลุกลามจนเริ่มเกลียดตัวเอง เหมือนที่เขาเองก็เคยรู้สึกไร้ค่ากับสิ่งที่ทำ จนได้มาเขียนคอลัมน์และทำพอดแคสต์ให้คำปรึกษาเรื่องที่ทำงาน ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่นได้ ทำให้เขาได้พบคุณค่าและค้นพบคนที่เขาอยากเป็น ก่อนจะทิ้งคำถามสุดท้ายไว้ให้คนทำงานได้คิดเพื่อหาวิธี ‘อยู่สบาย’ ตลอดชีวิตการทำงานว่า “ตอนนี้คุณกำลังทำงานแบบไหนอยู่ งานที่คุณภูมิใจ เป็นคนที่คุณอยากเป็น หรืองานที่ทำให้คุณกำลังเกลียดตัวเอง ยารักษาโรคออฟฟิศซินโดรมทางใจที่ดีที่สุดคือ ถ้าเราอยากเป็นคนแบบไหน ให้เราลงมือทำงานนั้น สร้างเราให้เป็นคนแบบนั้น”
แม้ดหมี่-พิมพ์อร โมกขะสมิต
อย่าให้คนในกระจกทำร้ายคุณ
แม้ดหมี่-พิมพ์อร โมกขะสมิต บล็อกเกอร์สาวสายสุขภาพ CU Fitgirl ที่ดำเนินชีวิตตามเป้าหมายมาโดยตลอด ซึ่งการลดน้ำหนักคือหนึ่งในเป้าหมายที่เธอไม่เคยลดละ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ “กินเพื่อทดแทนที่ว่างทางจิตใจ ความเหงา ความสับสนในชีวิตที่ไม่รู้จะไปทางไหน และความเชื่อมั่นในตัวเองที่ต่ำ” นั่นคือความรู้สึกของเธอที่วนเวียนตลอดระยะเวลาที่น้ำหนักวนลูปในวงจรอ้วน-ผอมตลอดมา เธอยอมรับว่าเคยใจร้ายกับร่างกายตัวเองมาก เพราะอยากหุ่นดีจนไม่มีความสุข แต่หลังจากค้นพบวิธี ‘อยู่สบาย’ กับร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ของตัวเองได้ ก็เริ่มหาสมดุลให้กับตัวเอง กินดี นอนดี และหาวิธีไดเอตที่พอดีในแบบของตัวเองด้วยทฤษฎี 30:70 โดย 70% คือสิ่งที่เลือกให้กับร่างกาย สิ่งที่รู้ว่าต้องกิน และอีก 30% คืออาหารที่ต้องไปกินกับเพื่อน เธอบอกว่าทฤษฎีนี้นำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นในชีวิตได้ จะทำให้เรา ‘อยู่สบาย’ ได้ทั้งกายและใจ ก่อนจะทิ้งท้ายเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนที่ยังไม่มั่นใจในตัวเองว่า “ความสมบูรณ์แบบไม่เคยมีจริง เราควรจะรู้สึกดีและพอใจในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง เพราะนั่นแปลว่าจะมีสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาต่อไปได้”
เอิน-กัลยกร นาคสมภพ
ลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อชีวิตที่เราอยากมี
“ทุกวันนี้คนยังเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าคือโรคเรียกร้องความสนใจ” เอิน-กัลยกร นาคสมภพ ชี้ให้เห็นความเจ็บปวดที่ต้องรับมือนอกเหนือจากอาการของโรคซึมเศร้าที่เธอต้องต่อสู้มาตลอด 20 ปี คือการต้องอยู่อย่างลำบากในสังคมที่ไม่เข้าใจเรื่องของโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง เพราะ “คนเรามักจะตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้ตัว” เธอบอกเช่นนั้น กว่าจะก้าวผ่านความเจ็บปวดจนสามารถ ‘อยู่สบาย’ แบบเป็นมิตรกับโรคซึมเศร้าได้ สิ่งที่เธอทำและนำมาแชร์กับทุกคนในวันนั้นคือ “ฝึกหาความสุขใกล้ๆ ตัว สะสมไว้เยอะๆ เพราะวันที่เราแย่ที่สุด ความสุขเหล่านี้จะช่วยรั้งเราไว้ให้อยู่กับโลกใบนี้ต่อไปได้” นี่คือประโยคที่สร้างพลังใจให้กับผู้ร่วมงานที่กำลังหมดหวังกับชีวิตได้อย่างมาก ถ้าเรายังอยากจะมีชีวิตใหม่ ต้องเลิกทำอะไรแบบเดิมๆ แต่ต้องลงมือทำแม้จะฝืนตัวเองก็ตาม เพื่อให้ได้ชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการ ไม่มีใครช่วยเราได้ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้และเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ดลพร รุจิรวงศ์
ความตายแบบไม่ตั้งตัวไม่มีอยู่จริง เราไม่เตรียมตัวรับความตายต่างหาก
สิ่งที่นักแปลสาว ดลพร รุจิรวงศ์ ผู้แปลหนังสือ ‘วาระสุดท้าย: คู่มือสบตาความตายอย่างอบอุ่นและซื่อตรง’ ได้ค้นพบความหมายบริบทใหม่ของ ‘ความตาย’ ตลอดระยะเวลา 4 ปี และเธอได้เผชิญหน้ากับความตายจากคนใกล้ตัวถึง 3 คน เธอบอกว่า “วิธีรับมือกับความตายที่ดีที่สุดคือ ‘ยอมรับ’ ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติและเกิดขึ้นกับทุกคน หากเราเปลี่ยนความกลัวจากความไม่รู้เป็นความเข้าใจ มันจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างรู้คุณค่า มีสติ และไม่ไปเสียเวลาโกรธหรือเกลียดใคร เพราะความตายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ความคิดของเราต่างหากทำให้เรากลัวความตาย” สัจธรรมที่เธอฝากให้ทุกคนได้คิดก่อนเดินลงจากเวที
ศ.นพ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร
อยู่สบายแม้ต้องอยู่กับโรคร้ายไปจนถึงวันตาย
เมื่อหลีกหนีโรคร้ายไม่ได้ เราจะเลือกอยู่อย่างไรให้มีศักยภาพ นี่คือใจความสำคัญที่ ศ.นพ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาล ผู้อำนวยการโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม เยือนเย็น ต้องการบอกไปถึงคนที่กำลังต่อสู้และต้องอยู่กับโรคร้ายก็ดี หรือคนที่ต้องอยู่กับความทุกข์ในใจตนก็ดี โดยบอกว่า “เราใช้เวลาเยอะๆ ในการอยู่ให้มีความสุขที่สุด ความตายเป็นแค่โมเมนต์เดียวเท่านั้นเอง” เหมือนเป็นคำเตือนที่เรียบง่าย ให้เราตระหนักรู้ว่าเวลาที่เราใช้ชีวิตนั้นมากกว่าช่วงเวลาขณะหมดลมหายใจยิ่งนัก แล้วเหตุใดเราจึงไม่ให้ค่าขณะที่มีชีวิตอยู่ แทนที่จะวิ่งหนีความเป็นจริง ทนทุกข์อยู่กับมัน จงหันมาเยียวยาตัวเองด้วยการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างเต็มที่ ได้กินในสิ่งที่อยากกิน ได้ไปในที่ที่อยากไป และมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างมีความสุข
รายการเจาะใจไลฟ์ตลอดช่วง นำทีมโดย ดู๋-สัญญา คุณากร
เจาะใจไขวิธี ‘ตายดี’ แบบคนคิดดี
คุณพร้อมจะ ‘ตายดี’ อย่างไร ทอล์กโชว์ช่วงที่ 2 ที่ยกรายการ เจาะใจ มาจัดรายการไลฟ์ นำทีมโดย ดู๋-สัญญา คุณากร พร้อมด้วยแขกรับเชิญสุดพิเศษ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (เอ๋ นิ้วกลม), นที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดดาเบลส), โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ จากชีวามิตร มาล้อมวงคุยกันเรื่องความตายว่าทำอย่างไรเราจึงจะ ‘ตายดี’ เพื่อให้ทั้งตัวเราเองและคนที่เรารักใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกช่วงชีวิต ประสบการณ์ของแขกรับเชิญแต่ละคนทำเอาผู้ร่วมงานต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เราใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ดีพอ และพร้อมที่ ‘ตายดี’ หรือยัง
เอ๋ นิ้วกลม กล่าวตอนเปิดเวทีว่าจริงๆ แล้วความตายก็มีแง่งามที่เป็นแรงผลักดันให้เรามีชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างที่เป็น เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากความกลัวตาย แต่แค่เราเปลี่ยนวิธีคิดว่า ‘วันหนึ่งเราจะต้องตาย’ มันอาจจะเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของคุณได้
อุ๋ย บุดดาเบลส ยังบอกอีกว่า ถ้าเรารู้วันตาย เราจะใช้ชีวิตทุกวันอย่างรู้คุณค่า ไม่เสียเวลาไปโกรธเกลียดใคร ‘สติ’ อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกคนจะต้องใช้เพื่อกระตุ้นเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ‘ความตาย’ เป็นเรื่องธรรมดาและมาเมื่อไรก็ได้ จึงต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ในขณะที่ โหน่ง วงศ์ทนง ชวนผู้ร่วมงานมาตั้งคำถามว่า ถ้ามีเวลาเหลือแค่ 7 วัน คุณจะทำอะไร และบอกถึงผลสำรวจว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เวลาอยู่กับคนที่รัก และนั่นเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้เวลาชีวิตเหลือน้อย
และสุดท้าย มุมมองความตายของ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ จากชีวามิตร ความตายไม่ใช่ของคนที่ตายเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของคนที่เหลืออยู่ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงแก่นแท้ของความตาย สิ่งที่เรากลัวไม่ใช่ความตาย แต่กลัวเพราะเราไม่รู้ว่าความตายคืออะไร
#โชคดีที่ได้ฟัง จากเหล่าคนดังที่ได้มาร่วมงานทอล์กโชว์
หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์
หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ หนึ่งในผู้ร่วมงานก็ได้ให้แนวคิดดีๆ ไว้เตือนตัวเองว่า “เจี๊ยบเชื่อว่าหากเราได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและมีความสุข เตรียมพร้อมรับมือกับความตายอย่างเข้าใจ หากถึงวันที่เราหรือคนที่เรารักต้องจากไป สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับทุกช่วงของชีวิตได้โดยไม่กังวล”
โบว์-แวนด้า สหวงษ์
ทางฝั่ง โบว์-แวนด้า สหวงษ์ กล่าวว่า “การวางแผนชีวิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อย่างโบว์ต้องดูแลทุกคนในครอบครัว เราจึงต้องใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ ไม่ใช่เพียงแค่คิดว่าจะอยู่อย่างไรให้มีความสุข แต่ต้องคิดเผื่อไปถึงวันที่เราต้องจากโลกนี้ไป จะทำอย่างไรให้คนข้างหลังเราอยู่ได้โดยไม่ลำบาก”
เตรียมความรู้ที่จะ ‘อยู่สบาย ตายดี’ ผ่านนิทรรศการและเวิร์กช็อป
นอกจากมุมมองแนวคิดที่มีต่อการ ‘อยู่สบาย ตายดี’ ของนักคิดคนดังทุกท่าน งานในวันนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานสร้างอารมณ์ร่วมผ่านนิทรรศการที่แบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซน ‘อยู่สบาย’ เรียนรู้แนวคิดการใช้ชีวิตให้อยู่สบาย และโซน ‘ตายดี’ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง นอกจากนี้ยังมี Exclusive Collection ของน้องมะม่วง โดยศิลปินไทยชื่อดัง ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร ที่ชวนคุณมาเรียกร้องสิทธิ์การ ‘ตายดี’ ให้กับชาวไทยผ่าน change.org
เพื่อให้เข้าใกล้และเข้าใจคำว่า ‘อยู่สบาย ตายดี’ ยิ่งขึ้น ภายในงานยังจัดเวิร์กช็อป I FEEL U โดย I See U ชวนทุกคนมาเปิดใจเรียนรู้การสื่อสารด้วยหัวใจ กิจกรรม ‘ฟัง’ ด้วย ‘ใจ’ โดยสะมาริตันส์ ทุกคนจะได้ฝึกทักษะการรับฟังด้วยใจ และสุดท้ายกับกิจกรรมเขียนจดหมายถึงอนาคต โดยศูนย์การุณรักษ์ ที่ชวนมาลองเขียนหนังสือแสดงเจตนาเพื่อการตายดี
ใครพลาดกิจกรรมทอล์กโชว์ในงาน สามารถติดตามชมบันทึกเทปของทอล์กโชว์ย้อนหลังได้ในรายการ เจาะใจ และติดตามคลิปจากสปีกเกอร์และภาพบรรยากาศงานย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/AZAYfan
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์