×

All the Money in the World (2017) เศรษฐศาสตร์การลักพาตัว

26.02.2018
  • LOADING...

อย่างหนึ่งที่หนังเรื่อง All the Money in the World (2017) ของริดลีย์ สก็อตต์ โน้มน้าวชักจูงอย่างได้ผล โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่หนังบอกเล่าควบคู่ไปกับความเป็นจริงของชีวิตที่พวกเราต่างรู้เห็นและพบเจอก็คือ โลกนี้ไม่มีคำว่าคนรวยใจดีหรือมหาเศรษฐีใจบุญ เพราะสองสิ่งนี้ (ความรวยกับความดี) เป็นอะไรที่ไม่มีวันเข้ากัน หรืออีกนัยหนึ่ง ในทันทีที่ใครคนนั้นเกิดความรู้สึกดีงามกับเพื่อนมนุษย์ขึ้นมาเมื่อใด เป็นไปได้ว่าหมอนั่นอาจจะไม่ได้รวยจริง

 

และในขณะที่มีหนังนับไม่ถ้วนที่บอกเล่าเรื่องราวของมหาเศรษฐี ทั้งที่เป็นเรื่องจริง และเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้น ไล่เรียงได้ตั้งแต่หนังคลาสสิกขึ้นหิ้งอย่าง Citizen Kane, Chinatown จนถึงหนังรุ่นหลังอย่าง The Aviator, The Great Gatsby ข้อน่าสังเกตก็คือ ‘ตัวหารร่วมมาก’ ที่หนังเหล่านี้มีเหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์ก็คือ ยิ่งคนพวกนี้มั่งคั่งร่ำรวยมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมีอุปนิสัยแปลกประหลาดและมีวิธีคิดอันพิลึกกึกกือมากขึ้นเท่านั้น

 

บางทีเสียงบรรยายช่วงต้นเรื่องในลักษณะร้องขอความเห็นอกเห็นใจของ พอล เก็ตตี (ชาร์ลี พลัมเมอร์) เด็กหนุ่มผู้ซึ่งเป็นหลานชายคนโปรดของ เจ.พอล เก็ตตี (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) เจ้าพ่อวงการน้ำมันที่ได้ชื่อว่า ‘ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ’ น่าจะช่วยให้ผู้ชมตระหนักได้ถึงความไม่ปกติของคนเหล่านี้ เขาพูดแทนโคตรเหง้าศักราชของเขาทำนองว่า โดยรูปลักษณ์ภายนอก พวกเขาอาจจะดูละม้ายคล้ายคลึงกับคนธรรมดา แต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่เหมือนคนธรรมดา พวกเขาเหมือนกับมาจากดาวเคราะห์อีกดวงที่มีแรงโน้มถ่วงผิดแผกแตกต่างโดยสิ้นเชิง กระทั่งก่อให้เกิดการหักเหของแสงอย่างชนิดที่คนบนโลกนี้ไม่เคยพบเจอ หรือแปลความหมายอีกทอดหนึ่งได้ว่า มีระบบตรรกะและเหตุผล ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาในแบบที่คนทั่วไปได้แต่อ้าปากค้าง

 

ด้วยเหตุนี้เอง ในทันทีที่พวกมาเฟียอิตาลีเรียกร้องเงินจำนวนสูงถึง 17 ล้านเหรียญเป็นค่าไถ่ พอล เก็ตตี ที่ถูกลักพาตัวอย่างอุกอาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อกันว่านี่เป็นเงินจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดที่ซูเปอร์มหาเศรษฐีผู้นี้ครอบครอง ปฏิกิริยาของชายชราภายหลังรับรู้เงื่อนไขของพวกโจรก็คือ เขาไม่มีความประสงค์ที่จะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแม้แต่แดงเดียว ซึ่งหากจะพูดอย่างแฟร์ๆ เหตุผลของเขาอาจจะฟังดู เขาดูแห้งแล้ง เย็นชา และตอกย้ำถึงความบกพร่องในเชิงศีลธรรมและมนุษยธรรม แต่ก็ไม่ถึงกับรับฟังไม่ได้ นั่นก็คือเขามีหลานชาย 14 คน หากเขายอมจ่ายค่าไถ่ให้กับโจรพวกนั้นแม้แต่ 1 เพนนี นั่นก็แปลว่าต่อไปนี้เขาก็จะมีหลานชายที่ถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 14 คน

 

 

เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ชมที่อาจจะไม่รู้รายละเอียดมากพอ หนังเรื่อง All the Money in the World ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1973 กระนั้นก็ตาม วิธีการหรือมุมมองที่ ริดลีย์ สก็อตต์ เลือกมาบอกเล่า ก็ทำให้ All the Money in the World เป็นหนังที่พิเศษกว่าหนังตื่นเต้นระทึกขวัญว่าด้วยการลักพาตัว และปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวแปรที่ทำให้เรื่องราวการลักพาตัวนี้เข้มข้นและชวนติดตามอย่างยิ่ง เกี่ยวเนื่องกับการดำรงอยู่ของตัวละครสำคัญของเรื่อง เจ.พอล เก็ตตี ผู้ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้มีทั้ง ‘แรงโน้มถ่วงและการหักเหของแสง’ ที่สุดแสนพิสดาร

 

ว่ากันตามจริง เจ.พอล เก็ตตี ตามที่หนังของสก็อตต์บอกเล่าไม่ได้ถึงกับเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ เพราะจนแล้วจนรอด เขาก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของหลานชาย และรวมไปถึงเกล (มิเชลล์ วิลเลียมส์) ผู้เป็นแม่และอดีตลูกสะใภ้ และแก้ปัญหาด้วยการส่ง เฟล็ทเชอร์ เชส (มาร์ก วอห์ลเบิร์ก) ที่ปรึกษาส่วนตัวและเป็นอดีต CIA ไปช่วยดูแล กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เขากำชับอย่างแข็งขันก็คือ ให้พาหลานชายกลับมาโดยเร็วที่สุด และ ‘เสียสตางค์น้อยที่สุด’ เท่าที่จะเป็นไปได้

 

ในแง่หนึ่ง เจ.พอล เก็ตตี อาจจะดูเป็นคนขี้งกระดับเหยียบน้ำทะเลจืด ดังที่ผู้ชมเห็นได้ในฉากช่วงต้นเรื่องที่เขาซักและตากเสื้อผ้าของตัวเองในห้องพัก ไม่ยอมใช้บริการของโรงแรม หรือภายในคฤหาสน์อันโอ่โถงและรโหฐานของเขา ณ กรุงลอนดอน ก็อุตส่าห์ติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญ เพื่อว่าแขกไปใครมาจะได้ไม่ต้องเบียดเบียนบิลค่าโทรศัพท์ส่วนตัวของเขา แต่ในทางกลับกัน หนังให้เห็นว่าเขายอมจ่ายเงินจำนวนมหาศาลซื้อภาพเขียนล้ำค่าอย่างไม่รั้งรอ และคฤหาสน์ของเขาก็ประดับประดาด้วยศิลปะวัตถุราคาแพงระยับมากมาย

 

ผู้ชมคงนึกสงสัยทำนองว่า คนประเภทไหนที่เห็นคุณค่าของวัตถุสิ่งของมากกว่าชีวิตผู้คน ยิ่งเมื่อคำนึงว่าชีวิตผู้คนที่กล่าวถึงนั้นเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของตัวเอง แต่ก็นั่นแหละ เก็ตตีผู้ซึ่งตลอดทั้งชีวิตของเขาดูเหมือนจะได้เจอแต่เฉพาะผู้คนที่ล้วนแล้วคาดหวังเศษเนื้อข้างเขียง นั่นเลยกลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เจ้าตัวจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยและเกิดความเชื่อมั่นเมื่ออยู่ท่ามกลางศิลปะวัตถุหรือภาพเขียน ซึ่งไม่เคยทรยศหักหลัง ไม่เคยทำให้ผิดหวัง ข้อสำคัญ นั่นเป็นคุณสมบัติที่หาไม่ได้ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน

 

 

ว่าไปแล้ว มีหนังที่เล่าเรื่องมหาเศรษฐีอุปนิสัยอัปลักษณ์ถูกสร้างออกมานับไม่ถ้วน น่ายินดีที่ริดลีย์ สก็อตต์ไม่ได้เจาะจงพูดถึงเก็ตตีแต่เฉพาะแง่มุมนั้น เป้าประสงค์ของ All the Money in the World ไม่ได้อยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้วพวกเราจะชอบหรือชังเก็ตตี เห็นเขาเป็นคนดีหรือเลว แต่หนังของสก็อตต์ช่วยให้พวกเราเข้าอกเข้าใจคนที่รวยล้นฟ้าอย่างเก็ตตีมากขึ้น อย่างน้อยก็เรื่องตรรกะและวิธีคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ และหนึ่งในบทเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนอยู่ในช่วงต้นเรื่อง ที่เก็ตตีอธิบายถึงคุณค่าและมูลค่าของวัตถุโบราณชิ้นหนึ่งให้หลานชายฟัง ชายชราอวดอ้างว่าเขาสามารถต่อรองวัตถุชิ้นดังกล่าวมาได้อย่างชนิดถูกแสนถูก ทั้งๆ ที่หากประเมินราคาค่างวดของมันจริงๆ อาจสูงเป็นล้านเหรียญ

 

ประโยคที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญของหนังทั้งเรื่องอยู่แถวนี้ นั่นคือทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งรวมถึงชีวิตมนุษย์ล้วนแล้วมาพร้อมกับป้ายราคา ความยุ่งยากหรือท้าทายอยู่ที่ว่า เรารู้หรือไม่ว่าราคาค่างวดจริงๆ ของสิ่งนั้นควรจะเป็นเท่าใด

 

ทีละน้อย การลักพาตัวในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่อาชญากรรม แต่กลายเป็นอะไรบางอย่างที่มาพร้อมกับป้ายราคา แน่นอนว่าสำหรับ เกล ผู้เป็นแม่ ลูกชายของเธอไม่อาจจะประเมินค่าได้ และเธอดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อการอยู่รอดของลูกชาย ทว่าสำหรับโจรเรียกค่าไถ่ อย่างที่กล่าวข้างต้น ราคาที่ตั้งไว้ในเบื้องต้นคือ 17 ล้านเหรียญ ตลกร้ายก็คือ เมื่อคนเหล่านั้นสังหรณ์ว่าบางทีนี่อาจจะไม่ใช่ราคาค่างวดที่แท้จริง เด็กหนุ่มก็เลยถูกขายต่อให้กับมาเฟียอีกพวก ซึ่งยอมลดราคาลงมาเหลือ 4 ล้านเหรียญ

 

หรือแม้แต่พวกหนังสือพิมพ์ ซึ่งรวมถึงบรรดาสื่อแร้งทึ้งหรือปาปารัซซีในหนัง ก็ล้วนแล้วมองการลักพาตัวเป็นเรื่องมูลค่า และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อเท็จจริงตามบทบาทหน้าที่ หนึ่งในนั้นถึงกับเสนอเงิน 5 หมื่นเหรียญให้เกลแลกกับการตีพิมพ์ ‘เรื่องและภาพสุดพิเศษ’ ของหนุ่มน้อยที่ถูกลักพาตัว

 

พูดอย่างสะเด็ดน้ำ ความน่าสนุกและชวนติดตามของหนังอยู่ที่กระบวนการต่อรองราคาที่ปรากฏในรูปแบบต่างๆ สำหรับเก็ตตี นี่เป็นเกมที่เขาถนัดที่สุด ร้ายกาจที่สุด และวิธีการที่เขาหาหนทางให้ตัวเอง ‘จ่ายน้อยที่สุด’ และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากที่สุด ก็สมควรชนะรางวัลโนเบลสาขาเล่นแร่แปรธาตุ แต่ก็อีกนั่นแหละ บางสิ่งบางอย่างต่อให้ใช้เงินทั้งหมดในโลกนี้ก็ซื้อหาไม่ได้ และเอาเข้าจริงๆ เก็ตตีก็ไม่ได้มืดบอดจากข้อเท็จจริงนี้

 

 

ดังที่เป็นข่าวคราวไปทั่วว่า All the Money in the World เป็นหนังที่มีการเปลี่ยนนักแสดงสมทบกลางคันจาก เควิน สเปซีย์ เป็น คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ เนื่องจากคนแรกโดนข้อกล่าวหาเรื่องการคุกคามทางเพศ และขณะที่ผู้ชมไม่อาจรู้ได้ว่า โฉมหน้าของหนังเวอร์ชันที่สเปซีย์สวมบทเป็น เจ.พอล เก็ตตี จะออกมาเช่นใด อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ สถานะของคริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์นอกจากไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวสำรอง ยังกลายเป็น ‘แจ็กพอต’ ของหนังโดยปริยาย

 

การแสดงที่ยอดเยี่ยมของพลัมเมอร์ไม่ได้จำกัดเฉพาะห้วงเวลาที่เขาถ่ายทอดความใจทมิฬหินชาติของตัวละคร หากยังได้แก่การทำให้ผู้ชมได้เห็นอีกด้านหนึ่งที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นจากโลกภายนอก ทว่าเต็มเปี่ยมด้วยเลือดเนื้อและความมีชีวิต โมเมนต์ที่น่าทึ่งมากๆ และดำรงอยู่เพียงช่วงสั้นๆ ก็คือ ตอนที่เก็ตตีแสดงออกอย่างเลิ่กลั่กทำนองว่า ยังมีคนประเภทที่ไม่ต้องการเงินของเขาอยู่ในโลกนี้อีกหรือ

 

มากยิ่งไปกว่านั้น แอ็กติ้งของพลัมเมอร์ซึ่งมีสถานะเป็นศูนย์ถ่วงของหนังทั้งเรื่องยังน่าจะช่วยให้ผู้ชมตัดสินใจได้ว่า นี่เป็นตัวละครที่นอกจากไม่มีอะไรให้อิจฉา ยังกลับน่าสงสาร และหากจะมีอะไรที่พวกเราเก็บเกี่ยวหรือเรียนรู้ได้จากตัวละครอย่างเก็ตตี บางทีอาจจะได้แก่การที่เขาทำให้ตระหนักได้ว่า พวกเราช่างโชคดีเหลือเกินที่ไม่ได้เป็นเกิดเป็นคนรวย

 

 

All the Money in the World (2017)

กำกับ: ริดลีย์ สก็อตต์

ผู้แสดง: มิเชลล์ วิลเลียมส์, คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์, มาร์ก วอห์ลเบิร์ก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising