ภาพยนตร์สัญชาติเยอรมนีเรื่อง All Quiet on the Western Front ของ Edward Berger ซึ่งสตรีมทางช่อง Netflix ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิกชื่อเดียวกันของนักเขียนเยอรมนี Erich Maria Remarque ซึ่งนับเนื่องจนถึงปัจจุบันก็มีอายุเกือบร้อยปี (ตัวนิยายตีพิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกในปี 1929) บอกเล่าเรื่องราวสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งนับเนื่องจนถึงปัจจุบันก็ผ่านพ้นไปแล้วร้อยกว่าปี (สงครามเลิกปี 1918) ข้อมูลเพิ่มเติม งานเขียนของ Remarque เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สองครั้ง ซึ่งนับเนื่องจนถึงปัจจุบัน All Quiet on the Western Front ฉบับปี 1930 ของ Lewis Milestone ยังคงได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะเวอร์ชันที่ดัดแปลงได้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด รวมถึงยังชนะรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
คำถามที่อาจจะผุดในห้วงคำนึงของคนดูก็คือ เหตุผลอะไรที่นำพาให้ Edward Berger นำนิยายของ Remarque กลับมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง และสิ่งที่บอกเล่ายังคงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับโลกในช่วงเวลานี้หรือไม่ อย่างไร
All Quiet on the Western Front (1930)
ว่ากันตามจริงแล้ว ลำพังการดัดแปลงให้ภาพยนตร์ดูทันยุคทันสมัยมากขึ้นด้วยความเอื้ออำนวยของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยไวยากรณ์ใหม่ๆ ทางด้านภาพ เสียง การตัดต่อ การออกแบบงานสร้าง ด้วยการแสดงที่สมจริงสมจังมากขึ้น ด้วยการนำเสนอมุมมอง การตีความและวิสัยทัศน์ของคนทำหนังรุ่นหลัง นัยว่าเพื่อสื่อสารกับผู้ชมร่วมสมัย ก็นับได้ว่าเป็นคำอธิบายที่แน่นหนาและรัดกุมในตัวมันเองเพียงพอแล้ว และรูปโฉมโนมพรรณของ All Quiet on the Western Front ฉบับปี 2022 ก็ดูเป็นภาพยนตร์ของศตวรรษที่ 21 จริงๆ
ที่แน่ๆ งานกำกับภาพของภาพยนตร์สร้างความระส่ำระสายทางอารมณ์ ผ่าน ‘คอนทราสต์’ ระหว่างห้วงเวลาที่งดงามและน่าตื่นตะลึงของธรรมชาติ และมันหยิบยื่นความรู้สึกว่าโลกใบนี้ช่างน่ารื่นรมย์ กับหลายๆ ฉากที่ผู้สร้างพาคนดูไปเผชิญหน้ากับความโหดเหี้ยมและสยดสยองของการฆ่าแกงกันชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน และการถูกกำหนดให้เฝ้ามองความอุจาดและอัปลักษณ์ ความกักขฬะ มืดทึบ และไม่มีอะไรเจริญตาเจริญใจสักอย่างเดียว ก็เป็นภาวะที่สุดแสนทานทน
และส่วนที่ทำให้ภาพยนตร์สงครามของ Berger ดู ‘โมเดิร์น’ มากๆ ก็คือดนตรีประกอบที่ไม่ได้ทำงานตามขนบที่คุ้นเคย อันได้แก่สุ้มเสียงที่แอบซ่อนอยู่หลังบ้านและขับกล่อมอารมณ์ความรู้สึกของเราอย่างลับๆ ล่อๆ ทว่าตัวโน้ตทุ้มต่ำและหนักแน่นสามตัวซึ่งถูกใช้ซ้ำๆ ตลอดเรื่อง (หรือที่เรียกว่า Motif) ถูกเร่งระดับความดังจนแทบจะเขย่าผู้ชมตกจากเก้าอี้ และมันไม่เพียงแค่สร้างความรู้สึกผิดที่ผิดทางกับภาพเบื้องหน้า ยังเป็นเสมือนลางบอกเหตุย้ำเตือนถึงเรื่องร้ายๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
แต่ความพิเศษที่นำพาให้ All Quiet on the Western Front เป็นมากยิ่งกว่า ‘อัปเดตเวอร์ชัน’ ของทั้งหนังสือและภาพยนตร์คลาสสิกปี 1930 ก็เป็นอย่างที่ตัว Edward Berger ให้สัมภาษณ์ว่านี่เป็นภาพยนตร์ที่สร้างผ่านมุมมองและโลกทัศน์ของคนเยอรมนี ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่าเป็นจำเลยตลอดกาลเวลาใครพูดถึงสงครามโลกทั้งสองภาค และพวกเขามักจะอยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก พูดอะไรมากไม่ได้ เพราะหัวเรื่องดังกล่าวเป็นเหมือนเผือกร้อน อีกทั้งสถานะของการเป็นผู้แพ้สงครามก็ยังมาพร้อมกับปมผิดบาป ความเจ็บปวดขื่นขม ความน่าอัปยศอดสู ความห่อเหี่ยวสิ้นหวัง บาดแผลที่อักเสบกลัดหนอง ฝันร้ายที่หลอกหลอน ซึ่งพูดได้ว่านี่เป็นสิ่งที่คนดูแทบไม่พบเจอในภาพยนตร์สงคราม ‘เมดอินฮอลลีวูด’
ในแง่หนึ่ง นิยายของ Erich Maria Remarque นำเสนอด้านที่อับเฉาเศร้าหมองเหล่านี้อย่างครอบคลุมตามเจตนารมณ์ที่ผู้เขียนในฐานะอดีตทหารผ่านศึกประกาศไว้ตั้งแต่หน้าแรก ทำนองว่ามันถูกเขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องคนรุ่นหนึ่งที่ถูกส่งไปรบ และต่อให้พวกเขารอดพ้นจากวิถีกระสุน คนหนุ่มเหล่านั้นก็ยังถูกสงครามเหยียบย่ำทำลายล้างอยู่นั่นเอง
ว่าไปแล้วสิ่งที่ถูกบอกเล่าในภาพยนตร์ของ Edward Berger ก็คือการให้เห็นว่าเครื่องจักรที่เรียกว่าสงครามบดขยี้ความเป็นมนุษย์ของตัวละครอย่างเลือดเย็นและไม่ปรานีปราศรัยเพียงใด หรืออีกนัยหนึ่ง ในขณะที่ผู้ชมถูกกำหนดให้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของตัวเอกที่ชื่อ Paul Bäumer (Felix Kammerer) ผู้ซึ่งในตอนเริ่มต้นเขาเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาสดใสและเต็มเปี่ยมด้วยเลือดเนื้อและความมีชีวิตชีวา ทว่าชีวิตในสนามรบไม่เพียงกลืนกินความร่าเริงแจ่มใส กระฉับกระเฉง และปล่อยให้เขาอยู่ในสภาพที่ดูหมองคล้ำอิดโรย หากยิ่งเวลาผ่านพ้นไป Paul ก็ดูใกล้เคียงกับซากศพที่ไม่รู้สึกรู้สมกับความเป็นไปรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อน่าสังเกตก็คือ คนดูแทบไม่ได้เห็นตัวการที่อยู่เบื้องหลังและคอยโหมกระพือไฟสงคราม เนื่องเพราะดังที่เกริ่นข้างต้น ทั้งหนังสือและภาพยนตร์เน้นหนักไปที่เรื่องของคนตัวเล็กๆ ในสมรภูมิ แต่ครั้นจะบอกว่าไม่มีเลยก็ไม่ถูกต้องนัก และตัวละครสองคนผู้ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นเชียร์ลีดเดอร์ และน่าเชื่อว่าคนดูเฝ้ามองพวกเขาด้วยความรู้สึกขยะแขยงสะอิดสะเอียน คนหนึ่งก็คือครูที่พูดจากระตุ้นเร้านักเรียนของตัวเองให้สมัครไปรบ ด้วยถ้อยคำที่เปี่ยมไปด้วยวาทศิลป์ ใครฟังก็อดรู้สึกฮึกเหิมและพองโตไม่ได้ ทั้งๆ ที่ประโยคของครูคนนี้ไม่ได้ปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขาเป็นเพียงแค่เบี้ยบนกระดานหมากรุก และเป้าประสงค์ก็คือการ ‘สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี’ ซึ่งโดยอ้อมนั่นหมายถึงชีวิตหรือความตายของเขาไม่ได้มีความหมายที่สลักสำคัญเท่ากับความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วมันเป็นเพียงประโยคสวยหรูซึ่งแอบซ่อนผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองไว้เบื้องหลัง
อีกคนหนึ่งได้แก่นายพล Friedrichs (Devid Striesow) ซึ่งสั่งการจากหอคอยงาช้างของตัวเอง ข้อที่ควรระบุก็คือตัวละครนี้ไม่ได้มีอยู่ในนิยาย ทว่าในแง่ของฟังก์ชัน บุคลิกนี้สืบสานและต่อยอดเนื้อหาของ Remarque อย่างน่าสนใจ บรรยายสรุปสั้นๆ ในแง่ของคาแรกเตอร์ หมอนี่เป็นแบบฉบับของนายพลกระสันสงครามและเกียรติยศศักดิ์ศรี ตลอดจนความหยิ่งทรนง (โง่ๆ) ของเขาสามารถแลกได้ด้วยชีวิตของทหารเลวกี่ร้อยกี่พันก็ได้
แต่แม้ว่าบุคลิกของนายพลหน้าตาบอกบุญไม่รับคนนี้จะถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้น ทว่าเหตุการณ์ที่เขาปลุกระดมให้ไพร่พลออกรบเป็นครั้งสุดท้ายทั้งๆ ที่ฝ่ายเยอรมนีเจรจาหย่าศึกกับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว รองรับด้วยข้อเท็จจริง และแน่นอนผลลัพธ์ของมันก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายและสูญเสียที่ไม่จำเป็น
ส่วนที่น่าสลดหดหู่ก็ตรงที่หลังจากนายพลคนนี้ ‘สำเร็จความใคร่ด้วยวาทกรรมรักชาติ’ เสร็จแล้วก็มุดกลับเข้าถ้ำตัวเอง และปล่อยให้ทหารที่เหลือซึ่งไม่มีกะจิตกะใจสู้รบอีกแล้วบาดเจ็บล้มตายเป็นใบไม้ร่วง และช็อตท้ายๆ ของภาพยนตร์เผยให้เห็นใครคนนี้นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดเฝ้ามองนาฬิกาตีบอกเวลาหยุดยิง (ซึ่งก็หมายถึงความพ่ายแพ้ของเยอรมนี) ตามลำพัง
อย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกต ตอนที่ Remaque เขียนนิยายเรื่อง All Quiet on the Western Front ช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 เขาไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าสงครามที่ผ่านพ้นเป็นเพียงแค่ภาคแรก และที่แน่ๆ มันไม่ใช่ ‘war to end all wars’ หรือสงครามที่ ‘เบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ ตามที่คนยุคนั้นเชื่อและเข้าใจ ตรงกันข้าม มันบ่มเพาะตอนต่อไปซึ่งกำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้าไม่นาน และคนอย่างนายพล Friedrichs นี่แหละที่เป็นเหมือน ‘ผีที่ไม่ยอมตายในตอนจบของหนังสยองขวัญ’ และกลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนให้สงครามรอบใหม่ปะทุขึ้น ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่ามันนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากกว่ารอบแรกอย่างไม่อาจเทียบเคียง บางทีนี่อาจถือเป็นความชอบธรรมของการถือวิสาสะต่อเติมเสริมแต่งเนื้อเรื่องเดิมของคนทำภาพยนตร์ อีกทั้งการทิ้งท้ายในลักษณะดังกล่าวก็ยังเป็นเหมือนกับการบอกโดยอ้อมว่า หายนะที่เกิดขึ้นกับประเทศเยอรมนีเป็นเรื่องที่โทษใครไม่ได้นอกจากคนเยอรมนีด้วยกันเอง
แต่พูดอย่างแฟร์ๆ ขณะที่ภาพยนตร์ของ Berger นำนิยายของ Remarque มาดัดแปลงอย่างค่อนข้างหลวม จนน่าสงสัยว่าถ้าผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ เจ้าตัวจะโอเคกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมากน้อยเพียงใด ข้อเท็จจริงอีกด้านก็คือ ภาพยนตร์ฉบับปี 2022 ยังคงรักษาแก่นแกน ตลอดจนจิตวิญญาณของหนังสือไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งในมิติของการต่อต้านสงคราม และโดยเฉพาะการสะท้อนความเหลวไหลไร้สาระของการเข่นฆ่า ซึ่งน่าจะทำให้คนดูพูดไม่ออกบอกไม่ถูกไปตามๆ กัน สองฉากที่สะท้อนคุณลักษณะนี้อย่างน่าเวทนาได้แก่เหตุการณ์ที่ Paul พบว่าทหารกองหนุนหกสิบคนซึ่งยังไม่ทันได้ลิ้มรสชาติในสนามรบ ต้องตายหมู่เพียงเพราะพวกเขาถอดหน้ากากกันแก๊สพิษเร็วเกินไป และอีกฉากที่เขาใช้มีดจ้วงแทงทหารฝรั่งเศสกลางสมรภูมิที่ถูกทิ้งร้าง ก่อนที่สำนักผิดบาปจะกระตุ้นเร้าให้เจ้าตัวแก้ไขไถ่ถอนสิ่งที่ทำลงไป ทั้งๆ ที่มันสายเกินไปแล้ว
รวมๆ แล้ว All Quiet on the Western Front เป็นผลงานดัดแปลงที่ประณีตพิถีพิถัน ฉีกตัวเองจากเวอร์ชันก่อนหน้าได้สวยสดงดงาม และสมควรชนะรางวัลทั้งหลายที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าใครจะแซ่ซ้องสรรเสริญภาพยนตร์ของ Berger อย่างไร ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ใครจะเปิดดูเล่นๆ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ มันเป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วเหนื่อยและกดดัน เนื่องด้วยภาพ เสียง และเนื้อหาสร้างความปั่นป่วนทางอารมณ์อย่างสุดขีดคลั่งจริงๆ
แต่ก็อีกนั่นแหละ ความจำเป็นของการต้องมีและต้องดูภาพยนตร์อย่าง All Quiet on the Western Front ก็เพราะสงครามยังคงเป็นหมากบนกระดานและเกมแห่งอำนาจของชนชั้นผู้นำ และวาทกรรมสละชีพเพื่อชาติอันสวยหรูก็ล่อลวงให้แมลงเม่าบินไปหาความตายในกองไฟตลอดเวลา บางทีประโยคหนึ่งที่อาจใช้สรุปความหมายรวบยอดมาจากหนังเรื่อง All Quiet on the Western Front ฉบับปี 1930 ที่ตัวเอกของเรื่องผู้ซึ่งตาสว่างแล้ว บอกกับรุ่นน้องของเขาในห้องเรียนว่า
“When it comes to dying for your country, it’s better not to die at all.” หรืออีกนัยหนึ่ง อย่าพยายามตายจากการเป็นเหยื่ออุดมการณ์รักชาติอย่างหน้ามืดตามัว
All Quiet on the Western Front (2022)
กำกับ: Edward Berger
ผู้แสดง: Felix Kammerer, Albrecht Schuch และ Daniel Brühl
ภาพ: Netfilx