×

นักวิจัยไทยเผย ‘มนุษย์ต่างดาว’ มีโอกาสเจอโลกของเราเพียงแค่ 14 ครั้งต่อปี

25.08.2022
  • LOADING...
มนุษย์ต่างดาว

ผลการศึกษาล่าสุดจากนักวิจัยไทยเปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่โลกของเราจะถูกตรวจพบจาก ‘สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก’ เพียงแค่ 14 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สามารถอธิบายข้อสงสัยที่ว่า ‘ทำไมเราจึงยังไม่เจอมนุษย์ต่างดาว’ 

 

ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและชีวดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ศุภากร ศุภผลถาวร นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และทีมนักวิจัย ใช้ฐานข้อมูลดาวฤกษ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Gaia DR2 คำนวณหาโอกาสที่โลกจะถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกด้วยเทคนิคไมโครเลนส์ พบว่า โลกมีโอกาสถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาด้วยเทคนิคดังกล่าวเพียงแค่ 14 ครั้งต่อปี โดยงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society 

 

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 5,000 ดวง ส่วนใหญ่จะถูกค้นพบด้วยเทคนิค ‘การผ่านหน้า’ (Transit) แต่สำหรับการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดเล็กคล้ายโลก การค้นหาด้วยเทคนิค ‘ไมโครเลนส์’ (Microlensing) สามารถทำได้ดีกว่าเทคนิคการผ่านหน้า โดยเทคนิคไมโครเลนส์อาศัยแสงจากดาวฤกษ์พื้นหลังที่เกิดการบิดโค้งคล้ายเลนส์นูน เนื่องจากสนามโน้มถ่วงของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ที่อยู่ระหว่างกลางในแนวเล็งเดียวกัน ทำให้แสงของดาวพื้นหลังมีความสว่างมากขึ้นในขณะหนึ่ง

 

ในทางกลับกัน ถ้าเราสมมติให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกมีเทคโนโลยีในรูปแบบเดียวกันกับที่มนุษย์มีในปัจจุบัน เทคนิคไมโครเลนส์ก็จะถือว่าเป็นเทคนิคที่ดีที่สุดที่สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจะใช้ในการค้นพบโลกของเราได้ เมื่อสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาได้ค้นพบโลกของเราแล้ว สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเหล่านั้นก็จะพยายามส่งสัญญาณวิทยุมายังโลกของเรา เพื่อติดต่อกับมนุษย์บนโลก ดังนั้นการที่เราบอกได้ว่าดาวฤกษ์บริเวณใดบนท้องฟ้ามีโอกาสค้นพบโลกด้วยเทคนิคไมโครเลนส์ ก็จะทำให้เราสามารถหันกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปในทิศทางนั้น เพื่อรอรับสัญญาณที่ส่งมาได้

 

งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลของดาวฤกษ์จากฐานข้อมูล Gaia DR2 คำนวณหาโอกาสที่โลกจะถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกด้วยเทคนิคไมโครเลนส์ทั่วทั้งท้องฟ้า พบว่า ดาวฤกษ์บริเวณระนาบกาแล็กซีทางช้างเผือกมีโอกาสที่จะถูกตรวจพบโลกมากกว่าบริเวณอื่นบนท้องฟ้า เมื่อรวมอัตราการถูกตรวจพบทั่วทั้งท้องฟ้าแล้วพบว่า โลกมีโอกาสถูกตรวจพบจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเพียงแค่ 14 ครั้งต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีมากกว่า 4 แสนล้านดวง นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อธิบายปฏิทรรศน์ของแฟร์มี (Fermi paradox) ที่ว่า ‘ทำไมเราถึงยังไม่เจอมนุษย์ต่างดาว?’ 

 

การที่โลกของเราตั้งอยู่ในบริเวณที่ถูกค้นพบได้ยากจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา ทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นไม่พยายามที่จะติดต่อหรือเดินทางมายังโลก อาจเป็นเหตุให้ปัจจุบันเรายังคงไม่สามารถค้นพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเหล่านั้น

 

การศึกษานี้นับเป็นก้าวแรกของนักวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติในการศึกษาวิจัยการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกับนักดาราศาสตร์นานาชาติต่อไปในอนาคต เช่น ใช้หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติของสถาบันฯ ร่วมค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาภายใต้โครงการ SETI (The Search for Extraterrestrial Intelligence) เป็นต้น ซึ่งในอนาคตข้างหน้ากล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติของเราอาจหันไปยังดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะบางดวง และค้นพบสัญญาณวิทยุจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่กำลังพยายามติดต่อมาหาเราเช่นกัน 

 

อ่านวิจัยฉบับเต็มได้ที่

https://academic.oup.com/mnras/article-abstract/515/4/5927/6640428?redirectedFrom=fulltext

 

แฟ้มภาพ: NOAA Via NASA

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X