×

Alexander McQueen กับการใช้ตัวตลกเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญในผลงานระดับตำนาน

โดย OPOLOP POPPY
11.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • สำหรับคอลเล็กชัน Fall/Winter 2001 ที่มีชื่อว่า What a Merry-Go-Round เป็นการแสดงผลงานสื่อถึงตัวตนภายในของ ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ได้อย่างชัดเจน ทั้งแรงบันดาลใจอันมาจากความมืดมิดอันแสนน่ากลัว รันเวย์ที่จำลองสวนสนุกร้างสุดหลอน ซาวด์ประกอบโชว์ Lullaby จากภาพยนตร์เรื่อง Rosemary’s Baby (1968) ที่ช่วยสร้างบรรยากาศความวังเวง การแต่งหน้าที่ให้กลิ่นอายของตัวตลก (Clown) และที่ขาดไม่ได้เลยคือผลงานการออกแบบเสื้อผ้าอันดรามาติกของแม็กควีน

 

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ เดือนที่มีวันสำคัญอย่างเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องราวของแฟชั่นอย่างผมและคุณผู้อ่านคอเดียวกันแล้วต้องไม่ลืมวันที่ 11 กุมภาพันธ์ วันแห่งการรำลึกถึงดีไซเนอร์หัวขบถผู้รังสรรค์ผลงานแสนดรามาติกอย่าง ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน แม้ในปีนี้แม็กควีนจะจากพวกเราไปนานถึง 9 ปี แต่วันเวลาที่ล่วงเลยไปก็ไม่ได้ทำให้ความรักที่มีต่อนักออกแบบคนนี้ลดน้อยลง

 

หนึ่งในหัวข้อสนทนาหลักเมื่อพบเจอคนที่รักแม็กควีนเช่นเดียวกันมักถามในช่วงเวลานี้คือ “ชอบคอลเล็กชันใดของแม็กควีนมากที่สุด” สำหรับตัวผมเองถือว่าเป็นคำถามที่ตอบยากมาก (เน้นว่ามาก) เพราะผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าผลงานของแม็กควีนภายใต้แบรนด์ Alexander McQueen (ที่ก่อตั้งด้วยตัวเองมาตั้งแต่ปี 1992) และผลงานสำหรับกูตูร์เฮาส์เก่าแก่ Givenchy ที่ร่วมงานกันราว 4 ปี (ปลายปี 1996 ถึงต้นปี 2001) นั้นมีความน่าสนใจทุกคอลเล็กชัน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจนั้นเริ่มตั้งแต่แรงบันดาลใจที่ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซ โดยนำเรื่องราวเกี่ยวกับด้านมืดภายในจิตใจ ศาสนา และความเชื่อเรื่องสิ่งเร้นลับมาตีความใหม่ แนวคิดการนำเสนอผลงานผ่านโปรดักชันโชว์ที่ไม่เหมือนใคร เสื้อผ้าหน้าผม สไตลิ่ง ทั้งหมดคือสิ่งที่ทำให้แม็กควีนกลายเป็นนักออกแบบเพียงไม่กี่คนในช่วงทศวรรษที่ 90s-2010s ที่มัดใจแฟนคลับได้อยู่หมัดอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ

 

ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ที่แบ็กสเตจของโชว์ Givenchy Fall/Winter 1997 คอลเล็กชันเสื้อผ้าสำเร็จรูปผลงานแรกของแม็กควีนสำหรับกูตูร์เฮาส์เก่าแก่หลังนี้

 

แอดแคมเปญตัวแรกของ Givenchy ภายใต้วิสัยทัศน์ของแม็กควีนในปี 1997

 

หากต้องตัดใจเลือกเพียงหนึ่งคอลเล็กชันสำหรับการตอบคำถามว่า “ชอบคอลเล็กชันใดของแม็กควีนมากที่สุด” ผมขอตอบว่าชอบคอลเล็กชัน Fall/Winter 2001 ที่มีชื่อว่า What a Merry-Go-Round เหตุผลเป็นเพราะว่าการแสดงผลงานในคอลเล็กชันนี้สื่อถึงตัวตนภายในของแม็กควีนได้อย่างชัดเจน ทั้งแรงบันดาลใจอันมาจากความมืดมิดอันแสนน่ากลัว รันเวย์ที่จำลองสวนสนุกร้างสุดหลอน ซาวด์ประกอบโชว์ Lullaby จากภาพยนตร์เรื่อง Rosemary’s Baby (1968) ที่ช่วยสร้างบรรยากาศความวังเวง การแต่งหน้าที่ให้กลิ่นอายของตัวตลก (Clown) และที่ขาดไม่ได้เลยคือผลงานการออกแบบเสื้อผ้าอันดรามาติกของแม็กควีนอย่างที่แฟนคลับชื่นชอบ เทคนิคการตัดเย็บ และวัสดุสุดหรูเทียบเท่ากับงานระดับโอต์กูตูร์ มาพร้อมกับเครื่องประดับและซากโครงกระดูกโดย ฌอน ลีน และเฮดพีซโดย ฟิลิป เทรซีย์ สองนักออกแบบมากความสามารถที่ร่วมงานกับแม็กควีนมาตั้งแต่แรกเริ่ม


เหตุผลที่แม็กควีนจัดเต็มกับผลงานของเขามากถึงขนาดนี้ก็เป็นเพราะว่าคอลเล็กชัน Fall/Winter 2001 จะเป็นผลงานสุดท้ายที่จัดแสดงในแฟชั่นวีกของลอนดอน ประเทศบ้านเกิดของแม็กควีน และยังเป็นคอลเล็กชันโบกมืออำลาการร่วมงานกับกลุ่ม LVMH กลุ่มบริษัทสินค้าลักชัวรีรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก (เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Givenchy ที่แม็กควีนทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ โดยขณะเข้าร่วมงานเขามีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น) ก่อนที่จะย้ายไปจัดแสดงผลงานประจำในปารีส ภายใต้การกำกับดูแลโดย Gucci Group (ชื่อเดิมของ Kering ในปัจจุบัน) เป็นการสร้างความประทับใจครั้งใหญ่ก่อนการเริ่มต้นร่วมงานกับนายทุนใหม่ จึงอาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แม็กควีนตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่

 

คอลเล็กชัน Fall/Winter 2001 ของแบรนด์ Alexander McQueen ที่ใช้ชื่อว่า What a Merry-Go-Round

 

เป็นที่รู้กันดีว่าแม็กควีนมีความหลงใหลในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์ของเครื่องแต่งกายเท่านั้น แต่เขายังชื่นชอบที่จะศึกษาเหตุการณ์สำคัญและแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจในอดีต โดยแม็กควีนจะหยิบยกเรื่องราวเหล่านั้นมาตีความและสร้างผลงานการออกแบบที่มีนิยามในแบบเฉพาะตัว ผลงานในคอลเล็กชัน What a Merry-Go-Round จึงมีเทคนิคของถนัดที่เขาจงใจใช้อย่างการบิด มัด ผูก การฉลุ เลเซอร์คัต งานรูปแบบดีคอนสตรักชันในการสร้างแพตเทิร์นชุดให้ดูเหมือนใส่เสื้อที่ราวกับถูกดึง ทึ้ง รั้ง และความไม่สมบูรณ์แบบ หรือแม้แต่ชุดที่ดูแล้วคล้ายกับสาวขายบริการ เพราะแม็กควีนตั้งใจใช้ผลงานเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงเรื่องราวคาวโลกีย์ โดยเฉพาะกับเซ็กซ์ในรูปแบบ S&M (Sadism & Masochism) ที่สื่อถึงความดิบในก้นบึ้งของจิตใจ

 

แบ็กสเตจ Alexander McQueen Fall/Winter 2001 นางแบบแต่งหน้าโดยได้แรงบันดาลใจมาจากตัวตลกและซากโครงกระดูกในสุสาน

 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือการสร้างความหลอนโดยสื่อผ่าน ‘ตัวตลก’ ที่ฟังชื่อแล้วน่าจะเป็นคาแรกเตอร์ที่มาพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่ความเป็นจริงแล้วมีเรื่องราวความน่ากลัวซ่อนเร้นอยู่ เพราะการยิ้มตลอดเวลาและท่าทางที่คาดเดาไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นที่มาของ ‘โรคกลัวตัวตลก’ หรือชื่อทางการแพทย์เรียกว่า Coulrophobia โดยมากกว่า 70% ของเด็กมักมีอาการกลัวตัวตลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวตลกที่ทาหน้าสีขาว ปากสีแดง สวมวิกผมหลากสีสัน แสดงท่าทีแปลกประหลาด แต่ความกลัวเหล่านี้จะเริ่มหายได้เองเมื่อโตขึ้น

 

ศาสตราจารย์โจเซฟ เดอร์วิน แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เด็กส่วนใหญ่มีอารมณ์อ่อนไหวต่อคนที่มีกายภาพผิดแปลกไปจากพ่อแม่และตนเอง โดยมากแล้วตัวตลกส่วนใหญ่มักพยายามเข้าใกล้เด็กเพื่อสร้างความเพลิดเพลินสนุกสนาน แต่การปฏิบัติลักษณะนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกถูกรุกล้ำ ทำให้รู้สึกอึดอัด และยิ่งทำให้รู้สึกกลัวมากกว่าเดิม

 

โรคกลัวตัวตลกนี้ยังเป็นพื้นฐานในการสร้างนิยายสยองขวัญหลายเรื่อง โดยหนึ่งในเรื่องที่โด่งดังไปทั่วโลกคือนิยายของเจ้าพ่อสยองขวัญอย่าง สตีเฟน คิง ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นหนังชื่อเดียวกันว่า It (ปลายปี 2019 นี้เราจะได้ชมภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง It กันด้วย) เรื่องราวเหล่านี้ดูเหมือนว่าทำให้แม็กควีนประทับใจไม่ใช่น้อย เพราะไม่เพียงแต่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ไลน์หลักอย่าง Alexander McQueen แล้วยังส่งผลต่อไลน์รองที่ชื่อ McQ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือคอลเล็กชัน McQ Spring/Summer 2007

 

แอดแคมเปญของไลน์รองที่ชื่อ McQ คอลเล็กชัน Spring/Summer 2007 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของการกลัวตัวตลกเช่นเดียวกัน

 

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่านจะเห็นว่าการศึกษาผลงานของนักออกแบบชั้นดีอย่างแม็กควีนไม่ต่างอะไรกับการศึกษาประวัติศาสตร์และการได้เสพแง่มุมน่าสนใจผ่านงานศิลปะที่สวมใส่ได้  


ดังนั้นความสนุกในการเฝ้ารอผลงานของแบรนด์ Alexander McQueen แต่ละฤดูกาลคือนอกจากได้ลุ้นว่าเสื้อผ้าและเครื่องประดับจะทำให้คนชอบแฟชั่นประทับใจมากขนาดไหน หรือรูปแบบโชว์จะมีอะไรทำให้เซอร์ไพรส์แล้ว ยังรวมไปถึงความกระหายที่จะได้เสพเรื่องราวที่แฝงไว้ในคอลเล็กชัน เพราะสำหรับผม แฟชั่นไม่ได้เป็นเพียงการแต่งตัวสวยไปวันๆ แต่ ‘งานพาณิชย์ศิลป์’ เหล่านั้นเป็นอะไรที่ควรค่าแก่การยกย่อง เช่นเดียวกับที่เรายกย่องเจ้าของผลงานที่ชื่อว่า ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories