หากเอ่ยชื่อของ Nike Oregon Project หลายคนอาจจะไม่ทราบว่ามันคืออะไร แต่หากเป็นคนในวงการกีฬา โดยเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงของการวิ่งแบบลึกซึ้งมากพอสมควร น่าจะทราบว่านี่คือโปรเจกต์ในฝันสำหรับคนรักการวิ่งอย่างแท้จริง
Nike Oregon Project (ต่อไปขออนุญาตเรียกสั้นๆ ว่า NOP) อยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน เปิดมาตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งมีไว้สำหรับฝึกนักกีฬาในระดับ Elite หรือนักกีฬาระดับสุดยอดที่ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดีแล้วเท่านั้น โดยเน้นไปที่การฝึกนักวิ่งระยะไกลให้ทำผลงานได้ดีที่สุด
โครงการนี้เกิดขึ้นโดย อัลแบร์โต ซาลาซาร์ ตำนานนักวิ่งชาวอเมริกันเลือดคิวบา ที่เคยชนะการวิ่งรายการนิวยอร์ก มาราธอน ได้ 3 ปีติดต่อกันในปี 1980-1982
แต่ตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการคว้าแชมป์รายการบอสตัน มาราธอน หนึ่งในสุดยอดรายการมาราธอนของโลกในปี 1982 โดยรายการในปีนั้นถูกขนานนามว่าเป็น ‘Duel in the Sun’ จากการขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผาระหว่างซาลาซาร์กับคู่แข่งของเขา ดิก เบียร์ดสลีย์
สุดท้ายซาลาซาร์สปรินต์เข้าเส้นชัยคว้าชัยชนะได้ก่อนจะหมดสติ จนทีมแพทย์ต้องนำตัวส่งห้องฉุกเฉินและให้น้ำเกลือมากถึง 6 ลิตร เพราะเขาขาดน้ำอย่างหนักจากการที่ไม่ยอมดื่มน้ำเลยแม้แต่หยดเดียวตลอดการวิ่ง
ความบ้าคลั่งของซาลาซาร์ ทำให้เขาเป็นตำนานที่ไม่เพียงแต่วงการวิ่งในสหรัฐอเมริกาจะจดจำ แต่เป็นโลกนักวิ่งทั้งใบที่สดุดีคนบ้าคนนี้
แต่ความบ้าคลั่งในการวิ่งของเขาไม่ได้หยุดเมื่อชีวิตนักวิ่งสิ้นสุด เพราะเขานำความทะเยอทะยานมาสานต่อในโครงการ NOP ซึ่งเกิดขึ้นแบบไม่เป็นทางการในวันที่เขาได้นั่งชมรายการบอสตัน มาราธอน กับ โธมัส อี. คลาร์ก รองประธานของ Nike ในปี 2001 และไม่พอใจกับผลงานของนักวิ่งชาวสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถสู้กับนักวิ่งชาติอื่นได้
มันนำไปสู่การตัดสินใจตั้งโครงการเพื่อพัฒนานักวิ่งที่ ‘บียอนด์’ ที่สุด
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซาลาซาร์และ Nike ทุ่มเททุกอย่าง ทั้งทรัพยากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี (อาจเปรียบเปรยง่ายๆ ได้ว่าที่นี่คือ NASA ของวงการวิ่ง) ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการจะมีบ้านหลังหนึ่งที่จะมีตัวกรองออกซิเจนทำให้อากาศนั้นเบาบางเหมือนอยู่บนที่สูง เพราะมีผลการศึกษาว่าการใช้ชีวิตอยู่บนที่สูงจะช่วยให้นักกีฬามีการพัฒนาในเรื่องจำนวนเม็ดเลือดแดงที่มากขึ้น และจะช่วยให้ผลงานดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการตรวจจับคลื่นไฟฟ้าเพื่อดูว่าสภาพร่างกายของนักกีฬานั้นเป็นอย่างไร จะฝึกวิ่งได้ไกลที่สุดแค่ไหน หรือจะซ้อมได้เร็วที่สุดแค่ไหน หรือการทำลู่วิ่งใต้น้ำและที่แรงโน้มถ่วงต่ำ
นี่เป็นแค่การยกตัวอย่างความเทพของ NOP ครับ ยังมีอะไรกว่านี้อีกมากมายนัก (ซึ่งในเวลาต่อมาเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นก็จะถูกนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เทพๆ ให้นักวิ่งได้นำมาใช้กันในปัจจุบัน)
ซาลาซาร์ปั้นนักวิ่งมามากมาย และมี 2 คนที่ถือเป็นตัวท็อปที่สร้างผลงานให้กับ NOP ของเขาและ Nike คือ เซอร์โม ฟาราห์ นักวิ่งระดับตำนานชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นนักกีฬาระดับโอลิมปิกอยู่เดิม ที่หันมาวิ่งระยะไกลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกคนคือ กาเลน รุปป์ อดีตนักฟุตบอลที่ถูกชักนำมาสู่วงการวิ่ง และได้รับการปลุกปั้นจนกลายเป็นนักวิ่งทีมชาติสหรัฐฯ
วันที่น่าภาคภูมิใจที่สุดของซาลาซาร์ คือวันที่ฟาราห์และรุปป์เข้าเส้นชัยคว้าเหรียญทองและเหรียญเงินในรายการวิ่ง 10,000 เมตรในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน
แต่ในวันเวลาเดียวกันนั้นคือ วันที่คนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนอย่าง สตีฟ แม็กเนสส์ บอกว่า “นี่คือหนึ่งในวันที่ผมหัวใจสลายที่สุดในชีวิตนี้”
“ซาลาซาร์โกง”
และเป็นคนตัวเล็กๆ อย่างแม็กเนสส์นี่เองครับ ที่เป็นคนแรกที่ตัดสินใจจะลุกขึ้นสู้กับตำนานของโลกนักวิ่งอย่างซาลาซาร์
ความจริงเขาไม่ได้สู้กับแค่ซาลาซาร์ เพราะเขากำลังสู้กับ Nike บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการกีฬาที่มีอิทธิพลสูงในระดับที่เรียกได้ว่าครอบงำโลกได้ทั้งใบ
ว่าแต่แม็กเนสส์คือใคร แม็กเนสส์เป็นอดีตนักวิ่งดาวรุ่งที่น่าจับตามองในสหรัฐฯ ครับ แต่หันเหมาทำงานด้านโค้ชเมื่ออายุแค่ 20 ต้นๆ และถูกชักชวนจากซาลาซาร์ ให้มาเป็นทีมผู้ช่วยของเขาที่ NOP และนั่นทำให้แม็กเนสส์รู้และเห็นถึงสิ่งที่โค้ชในตำนานที่เขาเทิดทูนทำมาโดยตลอด
เขารู้ว่ามันผิด และเขาไม่สามารถปล่อยผ่านมันไปได้ จึงตัดสินใจที่จะส่งจดหมายถึงองค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของสหรัฐอเมริกา หรือ USADA โดยบอกว่า “ช่วยตรวจสอบนักกีฬาของ Nike Oregon Project หน่อยได้ไหม…ผมรู้สึกสงสัยในตัวพวกเขาอย่างมาก”
จากจุดเริ่มต้นในวันนั้นนำไปสู่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน แม็กเนสส์เองก็สองจิตสองใจ เพราะเขารู้ว่าการลุกขึ้นสู้ของเขาอาจจบลงแบบไม่ได้อะไรเลย เพราะคู่ต่อสู้คือหนึ่งในคนที่มีชื่อเสียงที่สุดของวงการ คนที่ใครๆ ก็นับหน้าถือตา และมีบริษัทกีฬายักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกนักวิ่งที่ทรงอิทธิพลต่อโลกกีฬาทั้งใบหนุนหลังอยู่ แต่เขาตัดสินใจจะเดินหน้าและให้ข้อมูลทุกอย่างเท่าที่รู้กับทาง USADA
แต่ที่สุดแล้วแม็กเนสส์ไม่ได้สู้คนเดียว เพราะยังมี คารา เกาเชอร์ อดีตนักวิ่งที่เคยเคารพรักซาลาซาร์เหมือนพ่อและเคยได้เหรียญเงินในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2007 ที่ออกมาร่วมเปิดโปงด้วยว่าคนที่เธอเคารพเหมือนพ่อนั้นพยายามใช้ยาไทรอยด์กับเธอเพื่อให้เธอทำน้ำหนักได้ก่อนแข่ง
เกาเชอร์เปิดเผยพฤติกรรมของซาลาซาร์ว่าจะทำตัวเหมือนเป็นหมอ พยายามจะใช้ยาโน้นยานี้กับเธอ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้หืดหอบ (เพื่อช่วยระบบการหายใจ), ยาแก้ปวด, ยานอนหลับ และวิตามินดีจำนวนมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เธอ (และนักกีฬาของเขา)
โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายที่เขาหมกมุ่นอย่างมาก
ซาลาซาร์ยังส่งนักกีฬาไปที่คลีนิกของ ดร.เจฟฟรีย์ บราวน์ ที่ Nike ว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาและดูแลนักกีฬา โดยนักกีฬาจะถูกสั่ง ‘ไม่ให้ถามมาก’ และหลายคนเปิดเผยต่อ USDA ว่า พวกเขารู้สึก ‘ถูกข่มขู่’ และถูกกดดันให้ทำตามคำสั่งของซาลาซาร์
ที่อังกฤษ BBC มีเผยแพร่สารคดีเรื่องราวของซาลาซาร์ในรายการ Panorama รายการสารคดีเชิงสืบสวนที่ขุดคุ้ยสิ่งไม่ชอบมาพากลบนโลกใบนี้ โดยมีชื่อตอนว่า Catch Me If You Can ที่เปิดเผยความลับดำมืดและสิ่งที่ซาลาซาร์กระทำผิดตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ก่อนจะนำไปสู่การสอบสวนที่กินระยะเวลาร่วม 4 ปี ใช้เวลาการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมแบบเงียบๆ อีก 2 ปี และมีบทสรุปที่ซาลาซาร์ถูกตัดสินว่ามีการกระทำผิดจริงจากการใช้สารต้องห้ามต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของสุขภาพของนักกีฬา ฯลฯ
หนึ่งในเรื่องสะเทือนใจคือ การที่ซาลาซาร์ยอมรับว่าเขาเคยทดลองเรื่องฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โดยใช้ลูกชายของตัวเองเป็นหนูลองยา!
เขา (และ ดร.บราวน์) ถูกตัดสินลงโทษห้ามข้องเกี่ยวจากวงการเป็นเวลา 4 ปีด้วยกัน และเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการของโลกนักวิ่งอย่างมาก
เพราะคนที่ทำผิดคือโค้ชที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นผู้นำ เป็นผู้คิดค้น เป็นแรงบันดาลใจ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของใครหลายคน
เช่นกันกับโครงการ NOP ที่กลายเป็นโครงการที่ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและการมีอยู่ของมัน (และนักกีฬาในตำนานอย่าง โม ฟาราห์ ก็พลอยมัวหมองไปด้วยจากการที่ไม่ยอมตัดขาดจากซาลาซาร์ตั้งแต่แรก)
ทางด้านคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แนะให้องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้น (WADA) ควรจะตรวจเลือดของนักกีฬาทุกคนที่อยู่ภายใต้การฝึกสอนของซาลาซาร์
ต่อเรื่องนี้ ทาง Nike มีท่าทีที่ชัดเจนในการสนับสนุนซาลาซาร์ โดยบอกว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของซาลาซาร์ ซึ่งไม่ได้มีเรื่องของการใช้สารกระตุ้นที่ผิดกฎหมายให้กับนักกีฬา และพร้อมจะช่วยเหลือซาลาซาร์ในการต่อสู้คดี
ท่าทีของ Nike เป็นสิ่งที่คนในวงการกีฬาต่างกังวลครับ
จริงอยู่ที่ Nike เองก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยเหลือซาลาซาร์ และ ดร.บราวน์ ในการต่อสู้คดี เพราะนั่นก็หมายถึงการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของ Nike ด้วย แต่ในอีกทางท่าทีดังกล่าวนั้นหมายถึงการที่โลกกีฬาเองได้ถูกปิดปากแบบอ้อมๆ
เกาเชอร์บอกว่า ท่าทีของ Nike ทำให้นักกีฬาในสังกัดทั่วโลกจะไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อีก หากยังต้องการรับการสนับสนุนจาก Nike ดังจะเห็นได้จากการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกที่ไม่มีนักกีฬาคนไหนของ Nike ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ขณะที่ผู้บรรยายเองก็พูดถึงสิ่งที่ซาลาซาร์ทำว่า “ถือเป็นการล้ำเส้นแค่เล็กน้อย”
อย่างไรก็ดี อย่างน้อยบทสรุปของเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าพอใจสำหรับนักสู้ตัวเล็กๆ อย่างแม็กเนสส์และเกาเชอร์ ที่เป็น ‘ผู้เป่านกหวีด’ (whitsle-blower) ของวงการ ซึ่งเป็นวีรกรรมของผู้กล้าที่แท้จริง
ถึงแม้จะต้องต่อสู้ด้วยความยากลำบากและทรมานใจ เพราะผลลัพธ์ของมันไม่เพียงแค่มีผลกระทบต่อชีวิตของตัวเอง มันยังเป็นการทำลายความฝันของโลกนักวิ่งทั้งใบลงอย่างสิ้นเชิง
เหมือนครั้งหนึ่งที่วงการจักรยานเคยล่มสลายมาแล้วเพราะ แลนซ์ อาร์มสตรอง ตำนานแชมป์ตูร์เดอฟร็องส์ 7 สมัยถูกตรวจสอบว่าเขา ‘โกง’ (และเขาก็เป็นหนึ่งในนักกีฬาของซาลาซาร์…) จนต้องมีการชำระความกันยกใหญ่
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเกมกีฬานั้นไม่ใช่ชัยชนะหรือตำนานจอมปลอม
สิ่งสำคัญที่สุดจริงๆ คือการแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและน้ำใจนักกีฬา
ไม่มีอะไรที่มากหรือน้อยไปกว่านั้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า