หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพื่อเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
หนึ่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปรับเปลี่ยนจากเดิมคือ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ
สำหรับเอกนัฏมีชื่อเล่นว่า ขิง เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2529 อายุ 38 ปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเอกนัฏเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นเลขานุการของ สุเทพ เทือกสุบรรณ กระทั่งปี 2565 เอกนัฏยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค โดยมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค
ประวัติการศึกษา
- ปริญญาตรีควบปริญญาโทใน 2 สาขา EEM (Engineering, Economics and Management) จาก University of Oxford สหราชอาณาจักร
- มัธยมศึกษา Charterhouse School (นักเรียนทุนอันดับ 1) สหราชอาณาจักร
- ประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร
สรุปผลงาน 1 ปี พิมพ์ภัทรา ก่อนส่งไม้ต่อให้เอกนัฏ
ด้านพิมพ์ภัทรากล่าวว่า ในช่วง 1 ปีของการเข้ามาบริหารงานในตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ซึ่งเป็นแนวทางในการพลิกอุตสาหกรรมไทยที่รองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยรื้อ คือ เร่งรื้อ ปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น
โดยได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่คงค้างแล้วเสร็จ จำนวน 187 คำขอ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท ตลอดจนการแก้ไขปัญหาผังเมือง เพื่อให้เกิดการลงทุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ยังได้ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular แห่งแรกของไทยในพื้นที่ EEC โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ หุ่นยนต์ และดิจิทัล
ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยปล่อยสินเชื่อลดโลกร้อน Decarbonize Loan กว่า 1.5 พันล้านบาท เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน และได้ผลักดันเหมืองแร่โพแทช เพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ
ที่สำคัญยังสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดโลก โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future), อุตสาหกรรมชีวภาพ, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
พร้อมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพเพิ่มเติม ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาลาล
“ที่สำคัญคือได้กวาดล้างสินค้าผิดกฎหมาย ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ วันนี้ครบ 1 ปีในตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม พร้อมส่งไม้ต่อให้เอกนัฏ รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่ต่อไป” พิมพ์ภัทรากล่าว