วันนี้ (29 มิถุนายน) ที่สำนักงานอัยการ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตลิ่งชัน อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำผู้เสียหายที่ระบุว่าถูกทีมงาน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งแจ้งว่าได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ให้มานำตัวไปกักขัง
โดยตำรวจได้แจ้งว่าผู้เสียหายมีความเกี่ยวข้องในคดีรีดทรัพย์ผู้เสียหายเว็บไซต์พนันออนไลน์ 140 ล้านบาทของ พล.ต.ต. กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี กับพวก
ผู้เสียหายจึงเดินทางมาร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญาทีมงาน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กับพวก ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
โดยอัจฉริยะได้นำหลักฐานประกอบด้วยภาพถ่าย คลิปเสียง และคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการแจ้งข้อหาของผู้เสียหายรายนี้มายื่นต่ออัยการ ซึ่งผู้ที่ทำการแจ้งความคือตำรวจหนึ่งในทีมคณะทำงานของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ซึ่งมีรายงานว่านายตำรวจคนดังกล่าวมีส่วนร่วมในขบวนการรีดทรัพย์ 140 ล้านบาท แต่ไม่ถูกดำเนินคดี
อัจฉริยะกล่าวว่า หลักฐานที่ตำรวจใช้ควบคุมตัวในครั้งนี้เป็นหลักฐานที่สร้างเท็จ ขบวนการดังกล่าวทั้งหมดนั้นเป็นการฟอกขาวให้กับเป้และพวกที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์พนันออนไลน์
อัจฉริยะกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ พยายามพูดมาตลอดว่าจะทำความจริงให้ปรากฏ แต่เมื่อเพื่อนร่วมรุ่นและลูกน้องตัวเองกระทำความผิดหลายอย่าง กลับไม่มีการดำเนินคดีอะไร ตนเองขอเป็นตัวแทนตำรวจกว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ ที่เป็นผู้เสียหายว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไม่ให้ความเป็นธรรม แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องในการกระทำความผิด
และหลังจากนี้ตนจะไปแจ้งความยังกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อดำเนินคดีกับนายตำรวจที่แจ้งข้อหาผู้เสียหายในข้อหาแจ้งความเท็จ
ด้านผู้เสียหายกล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา มีตำรวจ 3 นาย เข้ามาที่บ้านในพื้นที่อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในขณะที่เธอกำลังนอนป่วย ตนเองตกใจมาก เพราะตำรวจทั้ง 3 นาย ไม่ได้มีหมายค้น หมายจับ หรือหมายใดๆ เข้ามาและบอกว่ามาขอความร่วมมือ ก่อนพาตนไปที่โรงพัก สภ.บ้านนาสาร และอยู่ที่โรงพักนานถึง 9 ชั่วโมง
ตนเองรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ในคดี 140 ล้านบาท แต่ตำรวจชุดที่เข้าไปที่บ้านพยายามให้ลงลายมือชื่อในเอกสารกว่า 100 แผ่น และพยายามสอบถามว่ารู้จักคนนั้นคนนี้หรือไม่ สุดท้ายตนต้องเซ็นยินยอมทุกอย่าง
ด้าน กุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสวบสวน กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคณะทำงานศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กรุงเทพมหานคร จะพิจารณารายละเอียดและดำเนินการตามกฎหมาย
ซึ่งตามขั้นตอนของกฎหมาย ถ้าคณะทำงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะมีบทกำหนดความผิดอยู่ประมาณ 5-6 ฐาน ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานมีอำนาจสอบสวนความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ ถ้าผู้เสียหายเชื่อว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะต้องมีการแจ้งพนักงานอัยการทันที ซึ่งไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาว่าจะต้องแจ้งภายในเวลาเท่าใด
สำหรับกรณีดังกล่าว ทางคณะทำงานจะเร่งดำเนินการในทันที แต่ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาเงื่อนไขอีกหลายส่วน ในนามสำนักงานอัยการสูงสุดและพนักงานอัยการทั่วประเทศ เราได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้แล้ว
วันนี้ก็ต้องขอบคุณที่ได้มอบความไว้ใจให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตนจะดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายในทันที โดยจะมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ พิจารณาเรื่องนี้เพื่อเสนอพิจารณาดำเนินการทันที
อย่างไรก็ตาม ภายหลังผู้เสียหายรายนี้ให้ข้อมูลกับพนักงานอัยการเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ตลิ่งชัน ได้นำหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 28 มิถุนายน มาจับกุมตัวผู้เสียหายรายดังกล่าวในข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานรับสินบนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และมาตรา 157 พร้อมคุมตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ตลิ่งชัน และเตรียมนำตัวไปสอบสวนต่อที่สถานีตำรวจภูธร (สภ.) คูคต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการไปขอศาลออกหมายจับ