วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 26 GHz ช่วงความถี่ 25.2-26.4 GHz ได้นำเงินค่าประมูลรวมทั้งสิ้น 5,719.15 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ซึ่งเป็นการชำระงวดเดียว มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูลแล้ว
ซึ่งทางสำนักงานฯ ก็จะมอบใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ดังกล่าวให้กับบริษัทฯ โดยใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุ 15 ปี เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุดลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2579
ทั้งนี้ หลักหักค่าใช้จ่าย และเงินนำส่งกองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร้อยละ 15 แล้ว กสทช. ระบุว่า จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
ด้าน สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ปี 2564 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับการเดินหน้าของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่ต้องผนึกกำลังเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้
“AIS ในฐานะผู้พัฒนา Digital Infrastructure ยึดมั่นในบทบาทนี้อย่างยิ่งเช่นกัน ดังที่เคยประกาศไว้ในการเปิดตัว AIS 5G เป็นรายแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากเป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยการถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ เทียบเท่ามาตรฐานโลก
“ช่วงที่ผ่านมา AIS ยังได้ร่วมทำงานกับพาร์ตเนอร์ผู้ผลิต Device ระดับโลก ทดลองทดสอบ 5G โซลูชันกับพาร์ตเนอร์หลากหลายอุตสาหกรรม พร้อมๆ กับการลงทุนพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง จนครบ 77 จังหวัดเป็นรายแรก พร้อมครอบคลุม 100% สำหรับพื้นที่ใช้งานใน EEC ด้วยงบลงทุนในปี 2563 เป็นเงิน 35,000 ล้านบาท และสำหรับปีนี้ 2564 AIS ได้เตรียมงบลงทุนเครือข่ายรวม 25,000-30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเครือข่ายทั้ง 5G และ 4G อันจะเป็นการยกระดับสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะที่แข็งแกร่ง เพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป”
สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ถือเป็นย่านความถี่สูง และมีปริมาณแบนด์วิธมากที่สุด มีความสามารถในการรองรับการใช้งานได้มหาศาล จึงทำให้ลงเครือข่ายได้อย่างเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ของแต่ละโรงงาน อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องการกวนกันของคลื่นสัญญาณ และยังสามารถออกแบบเครือข่ายได้อย่างสอดรับกับลักษณะธุรกิจที่แตกต่างกันของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีความหน่วงที่ต่ำมาก สามารถตอบสนองการทำงานของอุปกรณ์ในสายพานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีระดับความเร็วของการส่ง Data ไร้สายเสมือนวิ่งอยู่บนสายไฟเบอร์ ติดตั้งสถานีฐานได้ง่ายดายและรวดเร็ว เพราะอุปกรณ์มีขนาดเล็ก จึงเป็นที่มาของการเน้นย้ำถึงโอกาสของการนำคลื่น 26 GHz มาให้บริการทันที สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม ด้วยการขับเคลื่อนผ่านโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) นั่นเอง
ทั้งนี้ ตลอดปี 2563 AIS เดินหน้าผนึกผู้นำอุตสาหกรรมระดับประเทศ อย่างสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ในการร่วมทุนตั้งบริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค พัฒนาด้าน ICT Infrastructure และเทคโนโลยี 5G, อมตะ คอร์ปอเรชัน ร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City), สวนอุตสาหกรรมบางกะดี พัฒนาสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ในการยกระดับภาคการผลิต และ ปตท. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G สร้างนวัตกรรม Unmanned ภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศในพื้นที่ EEC นำเทคโนโลยี 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตภายในโรงงาน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมทดลองการใช้งานบนคลื่นความถี่ 26 GHz แล้ว และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง พร้อมเป็นต้นแบบของการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็น Digital Industrial ต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์