Governance สำคัญที่สุด
มิติสิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่มิติที่สตาร์ทอัพมักตกม้าตายบ่อยๆ คือเรื่องของธรรมาภิบาล (Governance)
Governance หรือธรรมาภิบาล คือการควบคุมดูแลเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการออกแบบโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพ มาตรฐาน แบบองค์กรมืออาชีพ
“คำถามจากนักลงทุนที่มักจะทำให้สตาร์ทอัพไม่รู้จะตอบอย่างไรก็คือ ถ้าวันนี้คุณที่เป็นเจ้าของธุรกิจเกิดเป็นอะไรขึ้นมา ธุรกิจจะไปต่ออย่างไร ใครคือคนที่จะมารันธุรกิจแทนได้ คุณมีคนนั้นแล้วหรือยัง”
ถ้าอยากเติบโตขึ้นต้องทรานส์ฟอร์มไปสู่องค์กรมืออาชีพ และต้องวางแผนเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) ให้ดี
ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp ขยายความต่อไปว่า “ปัญหาคือเจ้าของสตาร์ทอัพจำนวนมากไม่สามารถเปลี่ยนบทบาทจาก Founder ไปสู่การเป็น Leader ได้ ลงมือทำเป็นและทำเก่งด้วย แต่ไม่เคยวางแผนเรื่องการสร้างคนที่จะมาทำหน้าที่แทนตัวเขา”
ธรรมาภิบาลไม่ได้มีแค่เรื่องการวางแผนด้านบุคลากร หากยังมีเรื่องของธรรมาภิบาลการเงิน (Financial Governance) การกำกับดูแลผู้ถือหุ้น (Shareholder Governance) และธรรมาภิบาลการสร้างพันธมิตร (Partnership Governance) ซึ่งสตาร์ทอัพต้องใส่ใจเรื่องเหล่านี้
เรียนรู้ ESG จากตัวจริงในวงการ
หากว่ากันตามจริงแล้วการนำหลัก ESG ไปสู่การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อต้องติดอาวุธทักษะเรื่องนี้ให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ AIS The StartUp จึงชวนพันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญ ปรมาจารย์ด้าน ESG ระดับแนวหน้าของไทย มาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจอุปสรรค ความท้าทาย ตลอดจนบทเรียนที่สตาร์ทอัพจะต้องเจอเมื่อเดินหน้าเรื่องนี้
โครงการกำหนดระยะเวลาไว้ 3 เดือน เฟสแรกคือการเรียนรู้ที่อัดแน่นและเข้มข้นกับวิทยากรตัวจริงเรื่อง ESG ผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจ รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย เช่น บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท เอสบีดีไอ จำกัด ฯลฯ
“ต้องบอกว่าเราเข้มข้นกันมากในการเรื่องของการคัดสรรวิทยากร ถ้าไม่เข้มข้นในแง่ขององค์ความรู้หลักการ ESG ก็ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการลงมือทำจริง เจ็บจริง ได้เรียนรู้จริง เพื่อให้ถ่ายทอดออกมาแล้วเห็นภาพมากที่สุด”
เฟสต่อมาคือการให้คำปรึกษากับสตาร์ทอัพหลังจากนำหลัก ESG ไปลงมือทำจริงในองค์กร เปิดให้ทุกคนได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนถึงบทเรียนที่ค้นพบไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังได้โอกาสในการไปดูงานจากองค์กรต่างๆ ที่เป็นต้นแบบของการทำ ESG ด้วย
เรียกได้ว่าเป็น 3 เดือนแห่งการ ‘สร้าง’ ความเข้าใจให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจด้วยหลักคิด ESG ‘เสริม’ ศักยภาพการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการลงทุนและการดำเนินธุรกิจผ่านกลยุทธ์ ESG และ ‘ต่อยอด’ สตาร์ทอัพไทยให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน พร้อมเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดทุนต่อไป
จาก Shareholder Economy สู่ Stakeholder Economy
โลกธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนจากยุค Shareholder Economy มาสู่ Stakeholder Economy ธุรกิจใดที่ลงมือทำก่อนก็จะคว้าโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนได้ก่อน
“ก่อนหน้านี้ธุรกิจทำเพื่อลูกค้ากับผู้ถือหุ้นก็เพียงพอแล้ว แต่วันนี้โลกเราเผชิญความท้าทายในหลายมิติ ธุรกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการทำเพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียวมาสู่การบริหารผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทุกฝ่ายให้ดีด้วย ทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้กำกับนโยบาย สังคม ชุมชน และพนักงาน
“ผู้นำเก่งเพียงแค่สร้างของ ทำผลิตภัณฑ์ไม่รอด แต่ทุกๆ กระบวนการ ทุกๆ การดำเนินงานของคุณต้องดีด้วย” ดร.ศรีหทัย กล่าว
3 เดือนนับจากนี้ สตาร์ทอัพไทยกว่า 100 รายจะได้เรียนรู้อย่างเข้มข้น พร้อมทั้งนำองค์ความรู้จากตัวจริงเสียงจริงไปสู่การปฏิบัติในองค์กรจริง แน่นอนว่าย่อมมีอุปสรรครออยู่มากมาย แต่นี่คือสิ่งที่ไม่ทำไม่ได้
“อย่างแรกที่ผู้นำสตาร์ทอัพจะต้องเจอก็คือความท้าทายในการสื่อสารแนวคิดหรือกลยุทธ์ให้กับทีมงานในองค์กร ทำอย่างไรที่จะอธิบายเรื่องที่เข้าใจไม่ง่ายเหล่านี้ให้ทุกคนเข้าใจ เพราะฉะนั้นอยากฝากให้ผู้นำออกแบบการสื่อสารให้ดี” ดร.ศรีหทัย ทิ้งท้าย