วิกฤตโควิดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ ทั่วประเทศ แต่จะเห็นได้ว่ามีบางธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตนี้เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านในประเทศไทย จากทั้งจำนวนการเรียนออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านเติบโตขึ้นอย่างมาก
กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ AIS กล่าวว่า เดิมทีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2562 อยู่ที่ 46.2% หรือประมาณ 10.11 ล้านครัวเรือน) แต่การระบาดของโรคโควิดทำให้ผู้ใช้งานเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 51.5% หรือ 11.48 ล้านครัวเรือน ในปี 2563 ที่ผ่านมา และในปีนี้ 2564 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นมากถึง 57.6 หรือ ประมาณ 12.98 ล้านครัวเรือน
การเติบโตนี้เองทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของอินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมานี้ มีสัดส่วนเป็น 13.5% หรือมีจำนวนผู้ใช้ประมาณ 1.53 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราวๆ 1.5% เมื่อเทียบในไตรมาสเดียวกัน รวมทั้งมีการเติบโตของจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 27.7% และมียอดขายเติบโตขึ้นถึง 21% YoY ในขณะที่ตลาดภาพรวมเติบโตเพียงแค่ 8.7% เท่านั้น
แม้ว่า AIS Fibre เองจะตั้งเป้าไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่า จะขึ้นครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 แต่การควบรวมของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตคู่แข่งอย่าง TOT และ CAT เป็นบริษัท NT ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดมีการปรับเปลี่ยน และก้าวขึ้นมาป็นอันดับ 3 แทน AIS Fibre ที่ขยับไปเป็นอันดับ 4 ส่วนลำดับที่ 1 และ 2 เป็นของ True Online และ 3BB
แต่กิตติยังคงยืนยันว่าจะบรรลุเป้าหมายเดิม คือมีฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านให้ถึง 1.65 ล้านรายภายในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) มีแผนที่จะยุติการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (NetX) และย้ายลูกค้าไป AIS Fibre ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ทำให้ AIS Fibre มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นราวๆ 1 หมื่นรายจากฐานลูกค้าเดิมของซีเอส ล็อกซอินโฟ
“เราเชื่อว่าปีหน้าเราจะสามารถมีส่วนแบ่งตลาดเป็นลำดับที่ 3 ได้” กิตติ แม่ทัพ AIS Fibre กล่าว
สำหรับกลยุธ์หลักของ AIS Fibre นอกจากเน้นไปที่คุณภาพเครือข่ายและความเร็วแล้ว ยังเน้นไปที่การบริการเป็นหลักอีกด้วย ซึ่ง AIS Fibre ทำการเก็บข้อมูลถึงปัญหาที่ลูกค้าพบเจอ พร้อมทั้งใช้ AI ในการวิเคราะห์ถึงโอกาสของลูกค้าที่จะพบเจอปัญหาต่างๆ รวมถึงยกระดับการดูแลลูกค้า โดยการออกแพ็กเกจใหม่คือ AIS Broadband 24 จุดเด่น คือสามารถติดตั้งได้เร็วภายใน 24 ชั่วโมง ติดต่อง่ายได้ทั้งวัน 24 ชั่วโมง และพร้อมส่งทีมเข้าแก้ปัญหาการใช้งานให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การมาของโควิดทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอีกด้วย จากเดิมที่มีความหนาแน่นในการใช้อินเทอร์เน็ตบ้านส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เปลี่ยนเป็นมีการใช้งานอย่างหนาแน่นในทุกๆ วัน และมีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นถึง 40%
โดยพื้นที่ที่ใช้งานเพิ่มขึ้นสูงที่สุดคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ถัดมาคือภาคอีสาน และรองลงมาคือภาคกลาง โดยการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด อาจเกิดจากการที่ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนามากขึ้นในช่วงโควิด
รวมถึงยังมีจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เครื่องต่อครัวเรือน หลังจากเกิดโควิด จำนวนอุปกรณ์เพิ่มขึ้นเป็น 10 เครื่องต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ย นอกจากนั้นสื่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นบริการของ AIS อย่าง AIS Play ก็มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: