“คิดใกล้ไป เดี๋ยวท่านจะไปไม่ถึงนะครับ”
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทิ้งคำพูดปริศนาประโยคนี้หลายรอบระหว่างแถลงด่วนชี้แจงกรณี AIS และ DTAC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
วันนี้ (15 มิ.ย.) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ยื่นหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยผู้บริการของ DTAC มั่นใจว่าคลื่นย่านความถี่สูงที่มีอยู่คือ 2100 และ 2300 MHz จะเพียงพอในการรองรับลูกค้าและการเติบโตของธุรกิจ แม้คลื่น 850 และ 1800 MHz จะหมดสัมปทานในเดือนกันยายนนี้ก็ตาม ระหว่างนี้จึงพยายามเร่งการถ่ายโอนลูกค้า 2G ข้ามไปคลื่นความถี่ใหม่โดยเร็ว ขณะเดียวกัน DTAC และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ก็ได้ยื่นแผนการเยียวยาลูกค้าต่อ กสทช. ไปแล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดกรณีซิมดับแน่ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของ DTAC บ่ายนี้ตกลงไปเกือบ 3 บาท หรือราว 6% ภายหลังจากที่มีข่าวดังกล่าว
ไม่นานจากนั้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ก็ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกันว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลในคราวนี้ด้วย โดยให้เหตุผลว่าการประมูลไม่เหมาะสมต่อการลงทุน หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลใหม่ก็อาจจะทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง
ค่อนข้างชัดเจนว่าทั้งสองค่ายพร้อมใจ ‘ไม่เอาด้วย’ กับการประมูลรอบนี้ โดยก่อนหน้านี้ ทางบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ก็ชิงทิ้งไพ่เด็ด ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดย TRUE ให้เหตุผลว่าคลื่นที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว ขณะเดียวกันเงื่อนไขการประมูลก็ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ชนะการประมูลด้วย
ช่วงบ่ายที่ผ่านมา เลขาธิการ กสทช. จึงแถลงข่าวด่วนเรื่องที่ค่ายมือถือหลักทั้ง 3 แบรนด์ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz โดยขอยกเลิกกำหนดการเคาะราคา ซึ่งเดิมเป็นวันที่ 4 สิงหาคมนี้ออกไปก่อน และจะสรุปรายงานและแจ้งต่อบอร์ด กสทช. และรัฐบาลต่อไป คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์นับจากนี้จะสามารถสรุปแนวทางเพื่อพิจารณาว่าควรจะจัดการประมูลต่อไปหรือชะลอออกไปก่อนได้
“จะให้ราคาการประมูลต่ำกว่ารอบที่ผ่านมา เป็นไปไม่ได้ ถ้าประมูลรอบนี้แล้วราคาประมูลกลับไปที่ราคาตั้งต้นที่ต่ำกว่าราคานี้ครึ่งหนึ่ง กสทช. ก็จะกลายเป็นจำเลยสังคมแน่นอน” ฐากรกล่าวถึงหนึ่งในปัญหาสำคัญที่บรรดาค่ายมือถืออ้างในการไม่เข้าร่วมประมูล
ฐากรยอมรับว่าจากนี้ทาง กสทช. จะไปหาทางตัดข้อจำกัดบางประการเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลของภาคเอกชน โดยเน้นย้ำว่ากระบวนการดังกล่าวต้องทำให้ทันก่อนสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz จะหมดลงในเดือนกันยายนนี้
อ้างอิง:
- กสทช.
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย