ยิ่งโลกดิจิทัลพัฒนาไปไกลเท่าไร ความกังวลของผู้ปกครองในการท่องโลกออนไลน์ของลูกหลานก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากเท่าตัว…
จากจุดเริ่มต้นการประกาศวิสัยทัศน์ ‘ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย’ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผสมผสานกับแนวคิดการเดินหน้าสร้างสังคมดิจิทัล วันนี้ (18 มิ.ย.) เอไอเอสได้เปิดตัวอุ่นใจไซเบอร์ (Cyber Wellness) โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะ ภูมิคุ้มกัน และปลูกจิตสำนึกเยาวชนไทยให้รู้เท่าทันการใช้งานเทคโนโลยีและโลกออนไลน์
ความตั้งใจของเอไอเอสคือมุ่งยกระดับทักษะทางโลกดิจิทัลควบคู่ไปพร้อมๆ กับการคัดกรองคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์ โดยสามารถจำแนกแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
1. ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัลด้วย DQ (Digital Quotient) หลักสูตรที่ว่าด้วยความฉลาดทางดิจิทัล เพื่อปลูกฝังทัศนคติการใช้งานโลกออนไลน์ในทางที่ดีให้กับเยาวชน ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้นำไปใช้กับเยาวชนในประเทศของตัวเองแล้ว ให้ความสำคัญกับ 8 ทักษะ ประกอบด้วย ตัวตนบนโลกดิจิทัล, การยับยั้งชั่งใจ, การแก้ปัญหาเมื่อถูกรังแกบนโลกออนไลน์, ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย, การทราบผลที่จะตามมา, ใจเขาใจเรา, คิดเป็น และการรู้สิทธิความเป็นส่วนตัว
ปัจจุบันเอไอเอสเป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยที่นำเข้าหลักสูตรนี้มาพัฒนาเป็นภาษาไทยทั้งหมด (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ais.co.th/dq) แถมยังนำเข้าไปเสริมในหลักสูตรการสอนของสถาบันการศึกษาหลายแห่งแล้วใน 3 ช่องทาง เช่น ข้อความผ่านอีเมล (5,000 แห่ง), การโทรเข้าไปพูดคุยกับอาจารย์ (1,000 แห่ง) และการเข้าไปสื่อสารกับโรงเรียนโดยตรง (200 แห่ง)
2. พัฒนาระบบคัดกรองคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ หนึ่ง จับมือกับกูเกิล แนะนำบริการ Parental Control ควบคุมการใช้งานสมาร์ทโฟนของบุตรหลานให้เหมาะสมผ่านแอปฯ Google Family Link ทั้งการใช้งานทั่วไป กำหนดระยะเวลาการใช้งานแอปฯ ต่างๆ กำหนดความเหมาะสมการรับชมคอนเทนต์และเนื้อหาบนเว็บไซต์ และการติดตามพิกัดของบุตรหลาน ฯลฯ
และสอง AIS Secure Net ที่ทางเอไอเอสพัฒนาขึ้นมาเองเพื่อป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม แถมยังป้องกันไวรัสและมัลแวร์ได้ เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนทดลองการใช้งานเวอร์ชันเบตาตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนเป็นต้นไป
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส เล่าถึงความตั้งใจของโครงการอุ่นใจไซเบอร์ว่า เอไอเอสไม่ได้ต้องการจะให้ความสำคัญแค่กับการทำธุรกิจในฐานะผู้ให้บริการหรือมุ่งพัฒนาเน็ตเวิร์กเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
“อุ่นใจไซเบอร์จะเป็นโครงการที่ช่วยให้เยาวชนไทยเข้ามาใช้งานโลกดิจิทัล เทคโนโลยี และสมาร์ทโฟนได้อย่างมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น น้องๆ หลายคนอาจจะใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์มาก แต่ถ้าเราไม่มี DQ มันก็อาจจะก่อให้เกิดโทษกับผู้ใช้ได้”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์