สังคมไร้เงินสดเป็นเป้าหมายอุดมคติที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องการนำพาประเทศไทยไปให้ถึง หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงมากที่สุด ทุกวันนี้การบริหารจัดการเงินสดมีต้นทุนไม่น้อย ขณะเดียวกันบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคก็เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้การชำระด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
คำถามคือ แล้วเราจะจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มของใครดี?
คำตอบในใจหลายคนตอนนี้ทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการธนาคารสะดุ้งตื่นกลางดึกและไม่สามารถข่มตาหลับได้ง่ายๆ เหมือนเคย เพราะ Digital Disruption ทำให้ผู้เล่นรายใหม่ในคราบ Non-bank ข้ามข้อจำกัดเดิมที่มีเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หนึ่งในสีสันธุรกิจที่น่าจับตาเมื่อเร็วๆ นี้คือ ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคม AIS จับมือกับ Rabbit LINE Pay เพื่อลุยเรื่อง ‘e-Money’ โดยตรง และภายใต้สีหน้าที่ยิ้มแย้มของทีมผู้บริหาร คือการเปิดศึกครั้งใหญ่ที่ต้องจับตา
ถึงเวลาผนึกกำลัง เมื่อฐานลูกค้าและแพลตฟอร์มคือหัวใจสำคัญ
AIS, LINE และ Rabbit คือ 3 แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากต่างธุรกิจแต่ทรงพลังอย่างมากในอุตสาหกรรมของตัวเอง AIS มีฐานลูกค้าในมือกว่า 40 ล้านคนในฐานะเจ้าตลาดโทรคมนาคม ด้วยมูลค่าธุรกิจหลายแสนล้านบาท ขณะที่ Rabbit อยู่ภายใต้เครือ BTS Group ซึ่งจับมือร่วมทุนกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทยอย่าง LINE ลุยตลาดบริการเงินดิจิทัลในประเทศไทยภายใต้แบรนด์ Rabbit LINE Pay เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา
ฐานลูกค้าของ AIS ปัจจุบันอยู่ที่ 40 ล้านคน ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน LINE ในประเทศไทยมีมากถึง 41 ล้านคน ผู้ใช้งาน Rabbit ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS แทบทั้งสิ้นมี 8.5 ล้านคน แต่เมื่อพิจารณาผู้ใช้งาน Rabbit LINE Pay ปัจจุบันยังมีจำนวน 3 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
การเพิ่มทุนครั้งนี้มูลค่า 787 ล้านบาท โดย AIS ชำระ 599 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้น Rabbit และ LINE เป็นผู้ชำระเพิ่มเข้าไปทำให้สัดส่วนการถือหุ้นทั้ง 3 แบรนด์เท่าๆ กันที่ 33.33% การผนึกกำลังของ AIS และ Rabbit LINE Pay ครั้งนี้เป็นความตั้งใจที่จะชิงพื้นที่แพลตฟอร์มการชำระเงินทางมือถืออันดับ 1 ของประเทศไทยภายในปี 2564 หรืออีก 3 ปีข้างหน้านี้
ผู้ใช้งาน AIS ทั้งลูกค้าระบบเติมเงินและรายเดือน ไม่เพียงแต่สามารถจ่ายบิลได้มากกว่า 200 รายการผ่าน Rabbit LINE Pay บน mPay เท่านั้น ยังรองรับการชำระเงินบนมือถือผ่านแอปฯ ซึ่งเปรียบเสมือนกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการได้
หากจำลองภาพของการซื้อสินค้าและบริการโดยที่ไม่ต้องใช้บริการทางการเงินของธนาคาร ผู้บริโภคสามารถนำเงินสดที่มีชำระสินค้าได้โดยตรง หรืออาจเติมเงินสดเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ AIS Shop หรือจุดบริการที่รองรับ จากนั้นก็นำไปซื้อสินค้าและบริการที่มีเครื่องรับชำระด้วย Rabbit LINE Pay ได้ทันที และภาพที่ชัดเจนขึ้นคือ ถ้าต้องการโอนเงินให้กับผู้อื่น ก็สามารถโอนผ่านทางระบบของ mPay ได้เลย เป็นการโอนข้ามกระเป๋าเงินโดยที่ไม่ผ่านการจัดการของธนาคารแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากระบบพร้อมเพย์ที่ยังต้องใช้บัญชีธนาคารและ Mobile Banking ของธนาคารนั้นๆ
แนวโน้มการทำธุรกรรมบนมือถือเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ช่องทางหลักยังเป็นการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ของธนาคาร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ในปี 2560 มีผู้ใช้งานมากกว่า 26 ล้านคน และปริมาณธุรกรรมใกล้แตะ 1 พันล้านรายการแล้ว ตัวเลขนี้สะท้อนจำนวนผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการ ‘จ่ายเงินด้วยมือถือ’ จำนวนมหาศาล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจากการชำระเงินด้วยแอปฯ ของธนาคารไปใช้แอปฯ อื่นๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่ม Non-bank ก็ดูจะไม่ได้มีอุปสรรคอะไรมากนัก และดูเหมือน LINE แอปพลิเคชันที่มีบทบาทกับชีวิตคนไทยจะคิดการใหญ่เรื่องนี้
LINE เปิดบริษัทใหม่รุกธุรกิจการเงิน ตั้งเป้าผู้นำฟินเทค
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา LINE Corporation ประเทศญี่ปุ่น ประกาศตั้งบริษัทใหม่ชื่อ LINE Financial Corporation หรือ LINE Financial ภายใต้เงินทุน 5 พันล้านเยน หรือกว่า 1.4 พันล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจทางการเงินให้สอดรับกับ LINE Pay ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด มีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก โดยมียอดการทำธุรกรรมผ่าน LINE Pay ทั่วโลกมากกว่า 4.5 แสนล้านเยน หรือกว่า 1.3 แสนล้านบาท
LINE Financial จะให้บริการข้อมูลและบริการทางการเงินแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งรวมไปถึงการให้บริการเทรดเงินเสมือน (Virtual Currency) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการยื่นเอกสารเพื่อเปิดตัวให้บริการกับทางสำนักงานกำกับดูแลบริการทางการเงินของญี่ปุ่น หรือ FSA ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบพิจารณา
นอกจากนี้ยังจะให้บริการธุรกิจสินเชืี่อและธุรกิจประกันภัยด้วย ขณะเดียวกันยังพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง Blockchain มาใช้ต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัลด้วย LINE ประกาศพันธกิจที่น่าสนใจคือ การเชื่อมต่อคน เงิน และการบริการที่ง่ายเข้าไว้ด้วยกัน ค่อนข้างชัดเจนว่า LINE ตั้งใจจะเป็นผู้นำของโลกฟินเทคให้ได้
การแข่งขันข้ามอุตสาหกรรมในขณะนี้เกิดขึ้นในรูปแบบที่ควบคุมได้ยาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ เปลี่ยนแปลงเร็ว และกรอบการกำกับของโลกการเงินเดิมไม่สามารถไล่ตามได้ทันท่วงที
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า สิ่งที่บรรดาธนาคารกังวลกันในตอนนี้อาจจะไม่ใช่การแข่งขันกับธนาคารด้วยกันเอง แต่เป็นการรุกคืบเข้ามาของธุรกิจ Non-bank ที่อาศัยความได้เปรียบจากเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มที่มีเข้ามาแข่งขันให้บริการทางการเงิน ซึ่งกลุ่ม Non-bank มีต้นทุนที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์เป็นเท่าตัว รวมทั้งคิดเร็ว ปรับตัวเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องที่แบงก์ทั้งหลายจะนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป
ยังเร็วไปที่จะสรุปผลกระทบเรื่องนี้ แต่อย่างน้อยการเปลี่ยนแปลงก็ทำให้เราได้เห็นว่าใครที่ก้าวเร็ว ใครที่ก้าวช้า
อ้างอิง: