เกือบ 1 ปีแล้วที่เราและเพื่อร่วมโลกได้รู้จัก ‘โควิด-19’ อย่างสนิทชิดเชื้อ อะไรๆ ก็ดูจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะเศรษฐกิจโลกในประเทศที่นับวันก็ยิ่งทรุดหนักลงเรื่อยๆ การต้องใช้ชีวิตตามรูปแบบความปกติใหม่ที่มาพร้อมกับหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และเครื่องวัดอุณหภูมิ
เหนือส่ิงอื่นใด ‘การ Disrupt จากดิจิทัลและเทคโนโลยี’ กลายเป็นวาระที่ถูกเร่งปฏิกิริยาย่นเวลาให้เกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ สืบเนื่องจากข้อจำกัดการใช้ชีวิตบางอย่างที่บีบให้เราไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป ประกอบกับเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้สามารถเข้ามาตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของผู้คนได้อย่างไร้รอยต่อ
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและได้รับผลกระทบ ‘เชิงบวก’ เพราะยิ่งความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมากแค่ไหน ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้นมากเท่านั้น นั่นจึงทำให้ทักษะในการปรับตัวและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนสกิลเซ็ตที่แต่ละคนมีเป็นทุนเดิมกลายเป็นจุดชี้วัดโอกาสการเอาตัวรอดของแต่ละคน
ด้วยเหตุนี้และการฉลองครบรอบการให้บริการลูกค้าชาวไทย 30 ปี AIS จึงตัดสินใจนำโครงการ ‘AIS Academy for Thais’ ที่ดำเนินงานต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มาพลิกมุมคิดเพื่อช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปได้ด้วยเทคโนโลยี 5G และแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้ธีมหลัก ‘คิดเผื่อเพื่อคนไทย: JUMP THAILAND’
‘JUMP THAILAND’ ติดอาวุธธุรกิจ สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนสังคม พาคนไทยโดดข้ามความเปลี่ยนแปลง
กานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวในงานเสวนา AIS Academy for Thais: JUMP THAILAND เอาไว้ว่า วันนี้ประเทศไทยและหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งตัวเขาเองเชื่อว่า ‘การเรียนรู้’ และการสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ให้สำเร็จได้นั้นจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราช่วงชิงความได้เปรียบสู่การขึ้นเป็นผู้นำโลกในยุคหลังผ่านโรคระบาดได้อย่างมั่นคง
“สิ่งที่ AIS ทำในตอนนี้ผ่านโครงการ Academy for Thais: JUMP THAILAND ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนับเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจและการสานต่อสิ่งต่างๆ สู่การพัฒนานวัตกรรมออกมา
“ผมมองว่าความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนมีต่อกัน ไม่ว่าจะรัฐบาล เอกชน หรือสถาบันการศึกษา ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญช่วยให้คนไทยสามารถก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ และเมื่อไรก็ตามที่วิกฤตโควิด-19 จบลง เราก็จะมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในระดับเวทีโลกด้วย”
ด้าน กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท อินทัช กล่าวว่า “เราไม่เชื่อในการเติบโตตามลำพังแต่เพียงผู้เดียว ภารกิจเหล่านี้ที่ AIS ทำ ไม่ได้ทำเพื่อแสวงหากำไรหรือผลประโยชน์ใดๆ แต่เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งเป็นดีเอ็นเอคน AIS
“เราหวังว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้จะกลายเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้องค์กรอื่นๆ ลุกขึ้นมาทำงานในรูปแบบเดียวกับเราหรือจะเหมือนเรา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและประเทศ”
3 แกนสำคัญที่ AIS ได้นำเสนอภายใต้ภารกิจคิดเผื่อเพื่อคนไทย และการกระโดดข้ามความเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย
- JUMP to Innovation: การกระโดดข้ามความเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างนวัตกรรม
- JUMP Over the Challenge: การกระโดดข้ามความท้าทายด้วยการปรับตัวสู่อาชีพและโอกาสการทำธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้การช่วยเหลือและโค้ชชิ่งของทีม ‘อุ่นใจอาสา’
- JUMP with EdTech: การกระโดดข้ามด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มด้านการศึกษา เพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยการยกระดับขีดศักยภาพความสามารถ
สำหรับงานเสวนา Academy for Thais ในพาแนล JUMP THAILAND นั้น ชาคริตย์ เดชา รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ร่วมกันแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจที่ทั้งคู่มีต่อประเด็นแรงงานโลกอนาคต การอัพสกิลและการรีสกิล ตลอดจนความท้าทายต่อระบบการศึกษาไทย
โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ ชี้ให้เห็นว่า 2 ปัจจัยหลักที่จะช่วยผลักดันไทยสู่การเป็น ‘ประเทศมหาอำนาจ’ ที่ประชากรในประเทศมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นคือ 1. ปริมาณ และ 2. คุณภาพ ซึ่ง ณ วันนี้ไทยสามารถผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ปีละประมาณ 5 แสนรายเท่านั้น (กลุ่มที่จะเป็นผู้จ่ายภาษีให้กับรัฐบาล) น้อยกว่าประเทศอย่างอินโดนีเซียกว่า 10 เท่าตัว นั่นหมายความว่าไทยไม่มีทางเลือกอื่นอีกต่อไปนอกจากเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มี ‘คุณภาพ’ แบบสุดโต่งแทนการเน้นที่ปริมาณหรือจำนวนไปเลย
และหนึ่งในความท้าทายที่สุดที่ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาพอจะสามารถทำร่วมกันได้คือ ‘การเชื่อมต่อฝั่งเอกชนและระบการศึกษา’ เข้าด้วยกัน ร่วมพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสม สดใหม่ และทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้บุคลากรที่ระบบการศึกษาไทยผลิตออกมาในแต่ละปีนั้นตอบโจทย์ศักยภาพการแข่งขันของตลาดแรงงานและบุคลากรในระดับโลกให้ได้มากที่สุด
รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าวเสริมในประเด็นนี้ผ่านมุมมองตัวแทนหน่วยงานภาครัฐว่า การทำ Big Data เพื่อ ‘ความโปร่งใส’ ของฐานข้อมูล จะนับเป็นประโยชน์มหาศาลในเชิงการพัฒนาบุคลากร เพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานสามารถประสานกัน ทำงานเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ตลอดเวลา ทำให้ผลที่ตามมาคือการได้ทราบถึงปัญหาด้านทรัพยากรคนและสิ่งที่ขาดแคลน
นอกจากนี้ยังต้องมีการเปิดแพลตฟอร์มสำหรับ ‘การเทรนนิ่ง’ ความรู้และสกิลใหม่ๆ เพื่อที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะและการฝึกฝนบนโลกออนไลน์ได้อย่างเสรี
ในเวทีการเสวนายังมีการหยิบยกประเด็นของสถานการณ์โลก ณ ปัจจุบัน ที่หลายๆ ประเทศมหาอำนาจล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘นวัตกรรม’ เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกไปทำตลาดยังต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกาหรือจีน
ขณะที่หันกลับมามองภาพรวมประเทศไทย ณ วันนี้ ลำพังการที่สตาร์ทอัพสักรายจะถือกำเนิดขึ้นมาและสามารถสร้างสรรค์แพลตฟอร์ม บริการ หรือนวัตกรรมให้ติดตลาดจนเป็นที่นิยมได้ยังถือเป็นเรื่องที่ยาก นั่นจึงทำให้เราต้องเริ่มกลับมามองกันใหม่ว่าอะไรคือ ‘อุปสรรค’ ที่ฉุดรั้งเราให้ไม่สามารถส่งออกนวัตกรรมสัญชาติไทยไปสร้างชื่อในเวทีโลกได้เสียที
ต่อประเด็นนี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ให้มุมมองความเห็นที่น่าสนใจ โดยบอกว่าการที่องค์กรใดสักองค์กรจะสร้างสรรค์นวัตกรรมของตัวเองขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีวัฒนธรรมองค์ที่ยืดหยุ่นภายใต้การนำของ ‘ผู้นำ’ ที่เห็นถึงความสำคัญในด้านการพัฒนานวัตกรรมอย่างถ่องแท้
ในที่นี้คือผู้นำองค์กรคนนั้นๆ จะต้องไม่มองว่าการทุ่มเทเงินจำนวนมหาศาลไปกับการ R&D หรือการวิจัยและพัฒนาเป็นการทุ่มเงินเสียเปล่าที่ทำให้บริษัทต้องขาดทุน แต่มองว่าเป็นการปูทางต่อยอดสู่อนาคตด้วยการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้กับบริษัท ซึ่งในที่นี้อาจจะรวมถึงการมีบุคลากร C Level ในตำแหน่ง ‘CTIO’ (Chief Technology Innovation Officer) หรือหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมารับผิดชอบงานด้านนี้โดยเฉพาะ
ด้าน อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เสนอว่า หัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำให้ไทยสามารถผลิตนวัตกรรมหรือแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จในระดับเดียวกันกับจีนหรือสหรัฐอเมริกา จนมีผู้ใช้งานจำนวนมากแตะหลักพันล้านรายคือ ‘การยกระดับความรู้’
เพราะปัญหาเรื่อง ‘บุคลากร’ เป็นเรื่องที่ใหญ่มากๆ ดังนั้นการอัพสกิล รีสกิล จึงกลายเป็นไฟลต์บังคับที่ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญและร่วมกันทำงานใกล้ชิดเพื่อกรูมมิ่งบุคลากรให้ทันกับความต้องการตลาด (มุมมองการเชื่อมต่อการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาใกล้เคียงกับแนวคิดที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้นำเสนอ)
โดยเฉพาะในโลกยุคโลกาภิวัตน์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่สกิลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาทุกวัน นั่นจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับองค์กรที่จะทำให้พนักงานทุกคนสามารถวิ่งตาม ปรับตัว และพัฒนาตนเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
‘JUMP to Innovation’ นำนวัตกรรมและ 5G มาสร้างประโยชน์คืนสู่สังคม
ในภาคของการนำนวัตกรรมสร้างประโยชน์ให้กับสังคมด้วยเทคโนโลยีและ 5G นั้น อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนของ AIS ได้ออกมาบอกเล่าถึงโปรเจกต์ต่างๆ ที่คน AIS ได้มีส่วนร่วมกันริเริ่มเพื่อต่อยอดสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม
ทั้งหมดเริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ว่า AIS จะนำเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูงอย่าง 5G มาส่งเสริมกับเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่าง IoT, Cloud, AI, Machine Learning หรือ Big Data เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์ให้เกิดสูงสุดได้อย่างไรและด้วยวิธีไหน
โดยตัวอย่างโปรเจกต์ที่ทาง AIS ได้คิดขึ้นมา มีทั้งกรณีการแก้ปัญหา ‘ลืมเด็กในรถโรงเรียน’ โดยการนำ 5G และ IoT มาใช้งาน ติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าระวังภายในรถ ‘School Van Safety’ เพื่อแจ้งเตือนคนขับว่าลืมเด็กไว้ในรถขณะที่ดับเครื่องไว้แล้วหรือเปล่า ขณะที่ตัวผู้ปกครองก็สามารถตรวจเช็กข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ด้วย
การนำ AI มาใช้คัดกรองผู้ป่วยมะเร็งตับ ภายใต้การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อตรวจจับผู้ที่มีภาวะการป่วยเป็นมะเร็งตับจากการคัดกรองสีของตาขาว (หรือระดับความเข้มของบิลิรูบิน) โดยหากสามารพัฒนาจนประสบความสำเร็จและแม่นยำ ในอนาคตทาง AIS ก็จะนำเครื่องมือนี้ไปไว้ที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อตระเวนตรวจตามบ้านเรือนของประชาชน
หรือปัญหาไฟป่า ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียว Encode สัญญาณ GPS ยิงกลับไปยังดาวเทียมแล้วส่งกลับมายัง AIS เพื่อตรวจจับว่าเกิดเหตุไฟป่าในบริเวณใดหรือไม่ โดยตรวจจากภาพถ่ายทางอากาศ สภาพความชื้น อุณหภูมิและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งในอนาคต AIS หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะต่อยอดโครงการนี้สู่สถานีควบคุมภัยพิบัติ คอยเฝ้าระวังเหตุไฟป่า, อุทกภัย, ดินโคลนถล่ม ฯลฯ
ส่วนในปี 2021 ที่จะถึงนี้ AIS ยังเตรียมรันโครงการ Hackathorn บ่มเพาะนวัตกรรมในเชื่อโปรเจกต์ ‘JUMP THAILAND 2021’ เพื่อชวนคนไทยที่มีไอเดียเจ๋งๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมส่งแนวคิดสร้างประโยชน์ ช่วยแก้ปัญด้านต่างๆ ให้กับประเทศ เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่าหลักล้านบาทอีกด้วย (ผู้สนใจโครงการ JUMP THAILAND สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและร่วมส่งหัวข้อปัญหาที่คุณคิดว่าควรเร่งแก้ไขที่สุดได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผ่าน www.jumpthailand.earth)
JUMP Over the Challenge ‘อุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ’ ถึงเวลา AIS นำทีมช่วยปั้นธุรกิจ พลิกมุมคิดหนีความท้าทาย
ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกงานไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป บ้างก็ต้องเริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการรองรับ ‘ความเสี่ยง’ ที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของสายงานและอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ AIS ภายใต้โครงการ ‘อุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ’ จึงได้ฟอร์มทีมพนักงานในบริษัทที่มีทักษะความสามารถ ความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้านมาร่วมเป็นโค้ชคอยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการปรับตัวต่อยอดทักษะทางวิชาชีพต่างๆ และการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
เป้าหมายของอุ่นใจอาสาพัฒนาอาชีพ คือการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะอาชีพที่จำเป็นในยุคหลังโควิด-19 ไปจนถึงการร่วมสร้างโอกาสให้คนไทยได้มีอาชีพเสริม สร้างรายได้ผ่านการถ่ายทอดทักษะความรู้จากอุ่นใจอาสาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น การสอนทำอาหาร, การทำการตลาดออนไลน์, การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การสร้างคอนเทนต์
ให้น่าสนใจบนโลกออนไลน์ และการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ (YouTuber) เป็นต้น
โดยในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคมนี้ AIS จะเริ่มออนแอร์รายการ ‘ภารกิจคิดเผื่อ’ รายการสอนทำธุรกิจบนโลกออนไลน์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ได้จริงบนแชนแนล AIS Academy ผ่านแพลตฟอร์ม YouTube (https://www.youtube.com/channel/UCaGkaQ4Jzp6QaRuVGeD06jA) ภายใต้การดำเนินรายการโดย ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา สองผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คิดคิด จำกัด
นอกจากนี้ทาง AIS ยังจัดช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ (Virtual Marketplace) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจมีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าในช่วงที่ต้องประสบกับปัญหาจากโควิด-19 และไม่สามารถดำเนินธุรกิจด้วยวิธีการเดิมได้อีกต่อไป
JUMP with EdTech เปิดแพลตฟอร์มการศึกษา แบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์
หนึ่งในสิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องไหนๆ คือการยกระดับการศึกษาในประเทศ เพื่อก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำและสนับสนุนการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่าน ‘เทคโนโลยี’
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ AIS เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ LearnDi for Thais เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Life Long
Learning) โดยผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งจากภายในและต่างประเทศ มาช่วยยกระดับศักยภาพของผู้คน องค์กร สังคม และประเทศชาติ
จนปัจจุบันภายใต้โครงการ AIS Academy พวกเขายังได้ต่อยอด LearnDi for Thais ไปสู่โปรเจกต์ ‘The Tutor Thailand by AIS Academy’ ที่จะชวนผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในหลากหลายสาขาวิชาชีพ มาร่วมกันยกระดับการเรียนรู้ของน้องๆ นักเรียน นักศึกษา เยาวชนไทย
ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการติดอาวุธจากกูรูระดับประเทศเพื่อช่วยเพิ่มทักษะและขีดความสามารถให้มากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรม The Tutor Boot Camp ที่จะพัฒนาทักษะให้เหล่าติวเตอร์สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยผู้สนใจโครงการ The Tutor Thailand สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม
และสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ผ่าน www.aisacademy.com
และทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของ AIS ในการช่วยติดอาวุธและเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรไทยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล เทคโนโลยี และ 5G ให้พร้อมรับมือกับความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า