ท่ามกลางกระแส Disruption ที่ถาโถมอย่างรุนแรง กฎเหล็กหนึ่งข้อที่ทุกองค์กรในยุคนี้ต้องยึดถือคือ ‘ต้องปรับตัว’
แม้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ถือเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลของประเทศไทย แต่เอไอเอสก็ไม่ต่างกับองค์กรอื่นๆ ที่ต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
จากวิสัยทัศน์ของ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรจากบทบาท Operator สู่การเป็น Digital Life Service Provider ความท้าทายขององค์กรใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 12,000 คน จึงมีมากขึ้นตามไปด้วย
เมื่อโลกแคบลง ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้จึงไม่อาจหยุดนิ่งอยู่แค่ในห้องเรียน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ AIS Academy และ ACADEMY for THAIs ที่จะนำพา ‘คน’ ไปสู่โลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
AIS Academy ห้องเรียนดิจิทัล อัปสกิลพนักงานทุกที่ ทุกเวลา
จากโจทย์ท้าทายที่ทำอย่างไรให้คนจำนวน 12,000 คน มีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ หน่วยงานแรกของ AIS ที่ลุกขึ้นมา Disrupt ตัวเองแบบพลิกฝ่ามือคือ แผนก HR ที่ก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่เบื้องหลังรอฟังคำสั่ง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนบทบาทเป็น Business Partner ที่นำความเชี่ยวชาญเรื่องคนมาพัฒนาบุคลากรในรูปแบบ AIS Academy ห้องเรียนดิจิทัลที่เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทุกอุปกรณ์
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส ฉายภาพบทบาทของ AIS Academy ว่า
“หนึ่งในแกนหลักที่จะทำให้เกิดการ Transform องค์กรคือ การเพิ่มความรู้และทักษะของพนักงาน การฝึกอบรมรูปแบบเดิมอาจเป็นคำตอบสำหรับโจทย์ในอดีต แต่ภายใต้โลกที่แคบลง ทุกอย่างรวดเร็วมากขึ้น และมนุษย์ฉลาดขึ้น การรอเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมจึงใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ทุกวันนี้ถ้าเราอยากรู้อะไรก็สามารถค้นหาในกูเกิลได้ การนั่งรอความรู้จึงไม่ใช่พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ นี่จึงเป็นโจทย์สำหรับการจัดตั้ง AIS Academy เพื่อมาทดแทนการพัฒนาบุคลากรรูปแบบเดิม”
ด้วยสัดส่วนพนักงานของ AIS กว่า 70% ที่เป็นคน Gen Y และอีก 30% ที่ถึงแม้ไม่ใช่ Gen Y แต่มีแพสชันด้านเทคโนโลยี AIS Academy จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการอบรมแบบเดิมๆ ที่เรียนรู้ส่วนใหญ่จากในห้องอบรมมาเรียนในห้องเรียนดิจิทัลที่เปิดกว้างให้คนเอไอเอสสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีหลักสูตรการเรียนรู้ที่หลากหลายตามความต้องการของลักษณะงาน รวมถึงโปรแกรมหลักสูตรพิเศษที่ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก เช่น MIT, Havard Business School, มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ผ่านระบบ Digital Learning Platform อย่าง AIS Learn Di ที่เข้าถึงได้จากหลากหลายอุปกรณ์
นอกจากนี้เอไอเอสยังพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลในชื่อ AIS Readi และแพลตฟอร์ม AIS Fundi ซึ่งเป็นโปรแกรมสะสมแต้มจากกิจกรรมพัฒนาตนเองของพนักงาน และสามารถสะสมคะแนนเพื่อแลกสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดแรงกระเพื่อม เพื่อนำพาองค์กรไปสู่โลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรออยู่ได้
“สิ่งที่อันตรายที่สุดคือ ความสำเร็จในอดีต ที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการก้าวข้ามความคุ้นเคย ดังนั้น คนที่เอไอเอสต้องการคือ คนที่ทันโลก ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นคนที่มีแพสชันอย่างเหลือล้น เพราะจะทำให้เขาอยากได้ความรู้ และต้องการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา”
จาก AIS Academy สู่ ACADEMY for THAIs แพลตฟอร์มเรียนรู้สำหรับคนไทยที่เกิดจากการ ‘คิดเผื่อ’
นอกจากจะสร้างการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่งให้กับพนักงานเอไอเอสแล้ว อีกพันธกิจสำคัญที่เอไอเอสยึดถือคือ การเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับคนไทยทุกคน ภายใต้จิตสำนึกของความเป็นไทยที่เกิดจากการ ‘คิดเผื่อ’
“สิ่งสำคัญที่เราเชื่อคือ การมีสำนึกในแผ่นดินของตนเอง เราจึงเริ่ม ‘คิดเผื่อ’ ว่าหากเราให้ความรู้กับพนักงาน แล้วลูกค้าจะอยากรู้ด้วยไหม หรือมองไกลกว่านั้นคือ คนไทยจะอยากรู้ด้วยไหม ดังนั้น เราจึงเปิดแพลตฟอร์ม ACADEMY for THAIs ที่ต่อยอดจากสิ่งที่เราทำอยู่แล้วให้กับสังคม เพราะเราคิดว่าการเติบโตแต่เพียงผู้เดียวไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ประเทศไปข้างหน้า”
ACADEMY for THAIs คือการผนึกกำลังครั้งสำคัญขององค์กรภาคเอกชนไทย เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, Minor International, ธนาคารกสิกรไทย, เมืองไทยประกันชีวิต ฯลฯ โดยเปิดตัวด้วยงานสัมมนาเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ที่เชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Disruption จากหลากหลายองค์กรชั้นนำมาแบ่งปันความรู้ให้กับคนไทย ได้แก่ Mr.Hau L. Lee / Mr.Rudy De Waele / Dr.Johan Ugander ที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กำลังอยู่ในความสนใจและจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งวิทยากรอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจที่ได้เรียนรู้และปรับตัวเท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อาทิ ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด, ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ฯลฯ ซึ่งการจัดงานเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมจากคนไทย
“จากการจัดงานครั้งแรกที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 4,000 คน สะท้อนให้เห็นเลยว่า คนไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง Disruption อย่างมาก ถือเป็นความสำเร็จของเอไอเอสที่เราจะต้องพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้น เราเชื่อว่า เรามีศักยภาพมากพอที่จะทำอะไรมากกว่านี้ให้กับคนไทย
“ในอนาคต โจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นของ ACADEMY for THAIs คือการเร่งสร้างความแข็งแรงของ Ecosystem ให้กับประเทศไทย เพราะจุดแข็งของเอไอเอสตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ การเติบโตร่วมกับพาร์ตเนอร์ ซึ่งเชื่อว่า ต่อไปจะมีผู้สนใจเข้ามาร่วมสร้างองค์ความรู้ให้กับคนไทยมากยิ่งขึ้น”
ทั้งหมดนี้ คือก้าวต่อไปของเอไอเอส ซึ่งเป็นตัวอย่างขององค์กรในโลกยุคใหม่ที่ไม่หยุดนิ่ง และพร้อมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการสร้าง ‘คน’