หลังผ่านการประกาศข่าวทดสอบเทคโนโลยี 5G ในฐานะผู้ให้บริการรายแรกของประเทศ พร้อมนำยูสเคสการใช้งานจริงในเชิงอุตสาหกรรมมาจัดแสดงที่ AIS D.C. ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) AIS ก็ได้จัดแสดงโชว์เคสในเฟสที่ 2 ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเน้นสาธิตการใช้งานในฝั่งผู้ใช้รายย่อยเป็นหลัก
โชว์เคสทั้ง 5 ส่วนประกอบไปด้วย การแสดงศักยภาพความเร็วแรงในการรับ-ส่งสัญญาณ ซึ่งทำความเร็วได้มากกว่า 18 Gbps มากกว่า 4G ที่เราใช้กันในปัจจุบันถึง 20 เท่า, การประยุกต์ 5G มาใช้เป็นสัญญาณ WiFi ภายในบ้านที่ให้ความเร็วได้น่าประทับใจ, การเชื่อมต่อ 5G กับ IoT, เทคโนโลยี VR และ AR บน Cloud และการควบคุมโดรนผ่าน 5G ซึ่งให้ความแรงของสัญญาณได้กว้างไกลกว่าเดิม
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS เล่าให้เราฟังว่า การจัดแสดงโชว์เคสในเฟสที่ 2 นี้ (19 ธ.ค. 2561 ถึง 15 ม.ค. 2562) เป็นไปเพื่อให้ประชาชน คนใช้งานทั่วๆ ไปอย่างเราได้เห็นถึงไอเดียคอนเซปต์การนำ 5G ไปใช้งานจริงและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หลังจากที่ก่อนหน้าเคยจัดยูสเคสการใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าได้ชิมลางกันไปก่อนแล้ว
“งานในครั้งนี้จะเป็นการจัดแสดงในมุมที่แตกต่างจากเดิม บิดเรื่องให้เห็นว่า 5G จะมีผลกับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง จากที่ครั้งก่อนเป็นการนำยูสเคสให้ประกอบการอุตสาหกรรมให้เห็นถึงผลกระทบที่พวกเขาจะได้รับ”
วสิษฐ์เล่าต่อว่า ความตั้งใจของ AIS ในการจัดโชว์เคสทั้ง 2 ครั้งขึ้นมาก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ในตัวนวัตกรรม 5G เนื่องจากคุณสมบัติของมันมีมากกว่าแค่การใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ประสิทธิภาพของมันไปไกลกว่านั้นมากแล้ว
“เราไม่สามารถคาดเดาให้ได้หมดว่าแต่ละอุตสาหกรรม หรือผู้ใช้งานแต่ละรายจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจาก 5G โชว์เคสที่ AIS จัดขึ้นจึงหวังว่าจะช่วยจุดประกายไอเดียให้ผู้ที่ได้เข้ามาชมงานหยิบแนวคิดต่างๆ หรือยูสเคสการใช้งานจริงเก็บกลับไปประยุกต์ต่อกับธุรกิจของตัวเอง เพื่อสร้างประโยชน์ต่างๆ ปรับและเตรียมตัวก่อนที่ 5G จะมาจริงๆ”
โซน 5G Cloud Virtual and Augmented Reality ที่นำเทคโนโลยี AR และ VR ขึ้นไปอยู่บน Cloud พร้อมสาธิตการเล่นเกมรูปแบบต่างๆ ที่ทำได้รวดเร็ว ลื่นไหล ไม่กระตุก แถมยังเป็น Wireless อีกด้วย
โดรนในยุค 5G ที่จะครอบคลุมสัญญาณในวงกว้างมากขึ้น มีความหน่วงต่ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับการนำไปใช้ต่อในแวดวงธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แถมยังควบคุมโดรนระยะใกล้ได้สบายๆ
การเชื่อมต่อ 5G กับ IoT จะรองรับอุปกรณ์ได้มากกว่า 4G ถึง 10 เท่า จากเดิมที่เคยเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้เพียง 100,000 ชิ้น จะเพิ่มเป็น 1 ล้านชิ้นในยุค 5G ทำให้การใช้ประโยชน์ของมันจากเดิมที่อาจจะอยู่ในบ้านในรูปแบบเทคโนโลยี Smart Home เป็นหลัก จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในวงกว้างมากขึ้น ทั้ง Smart City หรือ Smart Transportation ซึ่งจะช่วยพัฒนาวิทยาการและความก้าวหน้าให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า