หลังจากกองทัพบกได้สั่งปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์ทางอากาศ ที่ใช้มาเป็นเวลา 8 ปี กระแสความสงสัยถึง ‘เรือเหาะ’ ซึ่งสั่งซื้อเข้ามาเป็นยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ก็ผุดขึ้นมาบนหน้าสื่ออีกครั้ง
ล่าสุดวันนี้ พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผบ.ทบ. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์ โดยระบุว่า เป็นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกตามปกติ เพราะตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2551-2552 ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทางกองทัพบกจึงต้องการเพิ่มขีดความสามารถการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยการจัดซื้อเรือเหาะเพื่อนำมาใช้สนับสนุนปฏิบัติการทางยุทธวิธี ในการปิดล้อมตรวจค้น
สำหรับการเริ่มต้นซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ในปี 2552 เป็นไปตามขั้นตอนปกติ มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุด เพื่อพิจารณาในการจัดซื้อ หลังจากการใช้งานระยะหนึ่งก็ได้รับการร้องเรียนตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ก็ได้เข้ามาตรวจสอบแล้วแต่ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
การใช้งานเริ่มในปี 2553 เรือเหาะตรวจการณ์ ถือเป็นยุทโธปกรณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้งานมาก่อน ช่วงแรกจึงเกิดความติดขัด จากนั้นก็ได้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง จนปี 2556 ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวย ทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉิน จึงได้ทำการซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้งานต่อ
ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ทำการตรวจสอบ ความคุ้มค่าและสถิติในการใช้งานพบว่า การใช้งานน้อยลงไปมาก จึงให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาความคุ้มค่าในการใช้งานและการส่งซ่อม ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า การชำรุดของผืนผ้าใบเกิดจากอายุการใช้งานซึ่งไม่คุ้มค่าในการส่งซ่อม จึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการจำหน่ายตัวเรือเหาะ ซึ่งได้อนุมัติจำหน่ายตัวเรือเหาะตรวจการณ์เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
“ตอนนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถิติการใช้งานของเรือเหาะตรวจการณ์ว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปหรือไม่ แต่ส่วนตัวยืนยันว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากภายหลังนำเรือเหาะมาใช้ สถิติการก่อเหตุในพื้นที่ลดลง ส่วนความคุ้มค่าในการขึ้นบินในบางปีมีการขึ้นบินถึง 30 ครั้งโดยเฉพาะในช่วงแรกมีอัตราการขึ้นบินบ่อยครั้ง”
ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. จะเข้ามาตรวจสอบนั้นก็ยินดีเพราะที่ผ่านมา สตง. ก็ได้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพบ่อยครั้ง ซึ่งในกรณีนี้ตนพร้อมที่จะชี้แจงและให้ข้อมูล
ขณะเดียวกันมีข้อสังเกตว่า การใช้งานเรือเหาะตรวจการณ์เป็นการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าเช่นเดียวกับการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 ต้องยอมรับว่าก็เป็นบทเรียนของกองทัพบกในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ยืนยันว่าในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในสมัยที่ตนเองดำรงตำแหน่ง กองทัพบกต้องมีความโปร่งใส ซึ่งทุกครั้งที่ได้มีการจัดหายุทโธปกรณ์ ทางกองทัพได้มีการชี้แจงมาตลอด แต่ในเมื่อสังคมเชื่อไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ยากจะอธิบาย แต่ขอว่าอย่ามองมุมเดียว ให้คำนึงถึงเรื่องการรักษาชีวิตและความปลอดภัยของกำลังพลและประชาชนด้วย