×

ตม. สนามบินติดสติกเกอร์หัวใจสีรุ้ง สร้างความเชื่อมั่น ลดความกังวลนักเดินทาง LGBTQIA+ บินเข้า-ออกไทย

โดย THE STANDARD TEAM
01.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (1 สิงหาคม) พล.ต.ต. เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (ผบก.ตม.2) กล่าวถึงกรณีที่ ตม. สนามบินสุวรรณภูมิติดสติกเกอร์มีสัญลักษณ์เป็นรูปหัวใจสีรุ้ง มีอักษร LGBTQIA2S+ และข้อความ Immigration 2 บริเวณช่องตรวจหนังสือเดินทางขาเข้าและขาออกประเทศว่า เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันเปิดกว้างด้านเพศทางเลือกต่างๆ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ โดยเฉพาะชาว LGBTQIA+ ซึ่งประเทศไทยประกาศจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2030 ขึ้น 

 

ผบก.ตม.2 กล่าวว่า ในฐานะที่ด่าน ตม. สนามบินทั้ง 5 แห่งของ บก.ตม.2 ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เป็นประตูหลักของประเทศ และมีคนเดินทางเข้า-ออกจากทั่วโลกกว่าวันละ 1.2 แสนคน มีคนไทยและคนต่างชาติที่มีความหลากหลายทางเพศเดินทางผ่านแดนจำนวนมาก พบว่าที่ผ่านมา กลุ่ม LGBTQIA+ หลายท่านวิตกกังวลต่อการตรวจผ่านแดน เนื่องจากอาจมีเพศสรีระ เช่น การแต่งตัว ที่ไม่ตรงกับเพศสภาพในเอกสารการเดินทาง อาจด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศเจ้าของสัญชาติในการเปลี่ยนสถานะทางเพศ หรือบางกรณีอาจทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงเค้าโครงใบหน้าผิดไปจากเดิม ทำให้การตรวจผ่านแดนที่ช่องตรวจ ตม. ติดขัดไม่ราบรื่น และอาจเป็นข้อสงสัยว่า เจ้าหน้าที่กีดกั้นเจาะจงเฉพาะกลุ่ม

 

เพื่อสร้างความมั่นใจแก่คนเดินทางที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งไทยและต่างชาติในการเข้า-ออกประเทศไทย โดยจะขยายการปฏิบัติไปยังช่องทางตรวจคนเข้าเมืองสนามบินหลักให้ครบทั้ง 5 แห่งในสังกัด บก.ตม.2 และเริ่มคิกออฟตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อบอกให้สังคมโลกได้รับทราบว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนที่เปิดกว้างสำหรับนักเดินทางจากทั่วโลก โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเพศแต่อย่างใด และนับเป็นการจัดกิจกรรมที่ด่าน ตม. ของประเทศไทย เป็นแห่งแรกของโลกที่สร้างความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวให้ปรากฏต่อสังคมชาวโลก 

 

แนะนักเดินทางชาว LGBTQIA+ เข้าไทยครั้งแรก 

 

  1. กรณีผู้เดินทางซึ่งเดินทางเข้าไทยครั้งแรก และเพศสภาพซึ่งระบุในหนังสือเดินทางมีความแตกต่างจากเพศสรีระจริงที่ปรากฏตัว ไม่ว่าจะเป็นกรณีทำศัลยกรรมหรือกรณีเพศสรีระไม่ตรงกับหนังสือเดินทาง เช่น แต่งกายเป็นหญิง แต่หนังสือเดินทางระบุเป็นชาย ฯลฯ ผู้เดินทางควรมีเอกสารยืนยันตัวตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (Citizen Card) หรือใบอนุญาตขับขี่ (Driving License) หรือเอกสารเดินทางซึ่งเคยใช้ก่อนหน้า หรือเอกสารหรือประวัติทางการแพทย์ที่แสดงถึงการรับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศ ฯลฯ เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ตม. หากมีข้อซักถาม เพื่อยืนยันตัวตนด้วย

 

  1. กรณีผู้เดินทางที่มีใบหน้าหรือสรีระทางกายขณะปัจจุบันแตกต่างกันกับภาพข้อมูลบุคคลในหนังสือเดินทาง แต่เคยมีการบันทึกข้อมูลใบหน้าและลายนิ้วมือตามข้อแรกดังกล่าวมาแล้ว ทางระบบ ตม. จะเก็บข้อมูลไว้ในระบบ Biometric เพื่อตรวจเปรียบเทียบใบหน้าผู้เดินทางปัจจุบันกับข้อมูลชิปภายในหนังสือเดินทางเพื่อยืนยันตัวตน โดยไม่ต้องเรียกซักถามอีก

 

  1. ผู้เดินทางคนไทย และคนต่างชาติที่เป็นชาว LGBTQIA+ ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย โดยเฉพาะคนต่างชาติที่ได้รับสิทธิยกเว้นวีซ่าหรือได้รับวีซ่าเข้าประเทศไทย จะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับนักเดินทางอื่นๆ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการตรวจหนังสือเดินทางตามนโยบายรัฐบาล

 

  1. กรณีที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม World Pride ในปี 2030 ตม. สนามบินพร้อมให้ความร่วมมือ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เพื่อจัดช่องทางพิเศษ และอำนวยความสะดวกด้านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองตามที่ประสานงานอย่างเต็มที่ 

 

ทั้งนี้ เครื่องหมายสติกเกอร์หัวใจสีรุ้งของ ตม. ที่จัดทำขึ้น มาจากแนวคิดธงสีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้การออกแบบของ กิลเบิร์ต เบเกอร์ ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising