×

กลุ่มสายการบินแบกขาดทุนอ่วม โควิด-19 ทำปิดประเทศ ฉุดยอดขนส่งผู้โดยสาร-สินค้า โบรกฯ มองปีนี้ยังขาดทุนต่อ แนะจับตาการเพิ่มทุนเติมสภาพคล่อง

02.03.2021
  • LOADING...
กลุ่มสายการบินแบกขาดทุนอ่วม โควิด-19 ทำปิดประเทศ ฉุดยอดขนส่งผู้โดยสาร-สินค้า โบรกฯ มองปีนี้ยังขาดทุนต่อ แนะจับตาการเพิ่มทุนเติมสภาพคล่อง

ปี 2563 เรียกได้ว่าเป็น ‘ฝันร้าย’ ของธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน ซึ่งผลการดำเนินงานที่รายงานออกมาก็ล้วนเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าจะขาดทุนอย่างหนัก สาเหตุหลักมาจากการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้กิจกรรมด้านการเดินทางระหว่างประเทศหดหายไปหลายเดือน โดย 4 สายการบินหลักที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็หนีไม่พ้นฝันร้ายนี้เช่นกัน 

 

บมจ.การบินไทย หรือ THAI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลการดำเนินงานปี 2563 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 135,735 ล้านบาท หรือ 73.8% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 125,772 ล้านบาท หรือ 75.4% ส่วนรายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 7,554 ล้านบาท หรือ 53.1% เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ

 

โดยปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 73.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 78.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 64.7% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 79.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.87 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 76.1%

 

ด้านการขนส่งสินค้า มีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 74.3% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 72.0% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 58.6% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยเท่ากับ 53.8%  

 

ทั้งนี้ การบินไทยและบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในปี 2563 จำนวน 141,180 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 129,163 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 141,171 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 64.68 บาท

 

ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 5.51 บาท โดยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตาม TFRS 9

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 การบินไทยและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 208,791 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 46,017 ล้านบาท หรือ 18.1% 

 

หนี้สินรวมจำนวน 337,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 94,414 ล้านบาท หรือ 38.8%

 

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยมีจำนวน -128,665 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 140,431 ส้านบาท

 

และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่บริษัทเสนอ ต่อมาพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563

 

ขณะนี้คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ผู้ทำแผนยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2564 และเมื่อได้ยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท และศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

 

บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV เปิดเผยว่า ปี 2563 บริษัทขาดทุน 4,764.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 905.10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 473.99 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทรายได้รวมทั้งสิ้น 16,237.3 ล้านบาท ลดลง 61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

ปี 2564 AAV ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางและท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นเป็นผู้นำและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารที่ 9.4 ล้านคน ด้วยอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ร้อยละ 75 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทย และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ของปี 2564 เช่นเดียวกับทิศทางอุตสาหกรรม 

 

รวมถึงขยายโอกาสธุรกิจด้านโลจิสติกส์เพิ่มเติมในส่วนของการขนส่งสินค้าทาง อากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนการขนส่งวัคซีนทางอากาศในประเทศและภูมิภาค อีกทั้ง บจ.ไทยแอร์เอเชีย ได้มีการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดต้นทุนและเลื่อนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

 

ขณะที่ บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2563 มีรายได้รวม 10,216.3 ล้านบาท ลดลง 64.2% เทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากรายได้ของธุรกิจสายการบินปรับตัวลดลง 70.4% ธุรกิจสนามบิน ลดลง 67.6​% และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ลดลง 57.5% 

 

ส่งผลให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 5,327.8 ล้านบาท และมีผลขาดทุนต่อหุ้น เท่ากับ 2.56 บาท

 

ด้าน วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK แจ้งตลาดหลักทรัพย์เรื่องการนำส่งงบการเงินประจำปี 2563 ของบริษัทและบริษัทย่อย สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ล่าช้า เนื่องจากคณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำส่งได้ภายในไตรมาส 2/64 และจะได้มีการเปิดเผยให้แก่ผู้ลงทุนได้พิจารณารับทราบต่อไป

 

พชระ เลิศวิราม นักวิเคราะห์กลุ่มท่องเที่ยวและการบิน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการกลุ่มสายการบินปี 2564 น่าจะขาดทุนต่อเนื่องจากปี 2563 แต่จะเป็นการขาดทุนที่ลดลง เนื่องจากธุรกิจหลักยังไม่กลับมาดำเนินการได้ 100% แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วก็ตาม โดยประเมินนักท่องเที่ยวปีนี้จะกลับมาราว 4 ล้านคนเท่านั้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง และถูกขับเคลื่อนโดยนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก 

 

ดังนั้น กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ก่อนคือกลุ่มโรงแรม เนื่องจากมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยต่อวัน (ADR) ระหว่างนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศไม่ต่างกันมากนัก รองมาคือกลุ่มสายการบิน ซึ่งคิดค่าบริการแบบเฉลี่ย และกลุ่มสนามบินจะได้รับอานิสงส์เป็นลำดับสุดท้ายในปีนี้ 

 

ขณะที่ปี 2565 กลุ่มสนามบินน่าจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนที่สุด เมื่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มมาที่ประเทศไทย เบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ที่จำนวน 25 ล้านคน กลุ่มที่ได้อานิสงส์รองมาคือกลุ่มสายการบิน และกลุ่มโรงแรมตามลำดับ 

 

พชระกล่าวเพิ่มว่า กลุ่มสายการบินมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือการเพิ่มทุน เนื่องจากปี 2563 ที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักจากการล็อกดาวน์ประเทศ และกิจกรรมการบินต่างประเทศก็แทบไม่มี จนประสบผลขาดทุนสุทธิทุกสายการบิน ทำให้ขาดเงินสดสภาพคล่องอย่างมาก โดยหุ้นที่มีความเสี่ยงที่ต้องเพิ่มทุนคือ AAV จากการที่เป็นโฮลดิ้ง และเข้าลงทุนในสายการบินไทย แอร์ เอเชีย ราว 55% ซึ่งข้อมูลล่าสุด ไทย แอร์ เอเชีย มีกระแสเงินสดอยู่ราว 1,000 ล้นาบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินสด 350-400 ล้านบาทต่อเดือน จึงมีความจำเป็นต้องเร่งหากระแสเงินสดเพิ่ม 

 

“AAV ได้ยื่นขอซอฟต์โลนไป มูลค่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งต้องรอติดตามว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร มองว่า AAV น่าจะต้องการเงินสดราว 4,000 ล้านบาท หากมีออปชันในการขอสินเชื่อธนาคาร ก็น่าจะขอกู้ราว 1,500 ล้านบาท และหากทั้ง 2 ออปชันไม่เป็นตามแผน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มทุน” 

 

ขณะที่ BA ซึ่งก็เริ่มขาดสภาพคล่องแล้วเช่นกัน แต่ BA มีออปชันในการเพิ่มกระแสเงินสดอื่นอีก คือการขายเงินลงทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มทุนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม บล.กสิกรไทย ยังชื่นชอบ AAV มากกว่าในด้านการฟื้นตัวของธุรกิจหลัก 

 

ขณะที่ ปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานกลุ่มสายการบินปี 2564 น่าจะขาดทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แม้ประเทศไทยมีเริ่มแจกจ่ายวัคซีนแล้วก็ตาม โดยประเมินว่ากลุ่มสายการบินน่าจะฟื้นตัวในครึ่งหลังปีนี้เป็นต้นไป และในปี 2565 จึงจะได้เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน 

 

“แม้วัคซีนจะมาและเริ่มเรียกรับวัคซีนแล้ว แต่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งน่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง อีกทั้งยังต้องรอให้ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเปิดประเทศด้วยเช่นกัน ฝ่ายวิจัยจึงยังมีมุมมองเป็นลบต่อกลุ่มสายการบินในปีนี้” 

 

ฝ่ายวิจัย บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 ของ AAV จะยังมีผลขาดทุนต่อเนื่องอีกปี เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 876 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะการที่ยังไม่สามารถบินเส้นทางระหว่างประเทศได้ แต่ปัจจัยบวกที่รออยู่คือการฉีดวัคซีน ที่ปัจจุบันมีการเดินหน้าไปในหลายๆ ประเทศแล้ว ทำให้มีโอกาสที่เส้นทางระหว่างประเทศจะกลับมาบินได้ในช่วงปลายปี

 

รายได้ของสายการบิน ช่วงโควิด infographic

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

 


 

โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve

 

สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X