‘สายการบิน’ นับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่มากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเดินทางเข้า-ออกของนักท่องเที่ยวโดยตรง การที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางน้อยลง จึงทำให้ผู้ประกอบการสายการบินมีเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ลดตามไปด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเอาไว้ว่า ในปี 2563 นี้ มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินจะหดตัวลงเหลือประมาณ 290,000-300,000 ล้านบาท จากเดิมที่มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินในปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 314,000 ล้านบาท เทียบเท่าเป็นสัดส่วนการลดลงที่ราว 4.4% หรือ 7.6% เป็นผลจากการแข่งขันตัดราคาของสายการบินต่างๆ ความต้องการการเดินทางที่เริ่มชะลอตัว ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
ทั้งนี้ มีการประเมินว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้น จะทำให้ธุรกิจสายการบินสูญเสียมูลค่าตลาดประมาณ 8,000-11,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยลดลงรวมตลอดทั้งปีประมาณ 10% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดในปีที่แล้ว
เมื่อมองภาพรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดธุรกิจสายการบิน จะพบว่าการขาดหายไปของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน จะทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 4,300-5,800 ล้านบาท
ตามด้วยการสูญเสียนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ในไทย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 3,100-4,400 ล้านบาท ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปจีนลดลง คาดว่าจะสร้างความเสียหายกับตลาดธุรกิจสายการบินที่ 300-400 ล้านบาท
“โดยสรุป ในปี 2563 มูลค่าธุรกิจสายการบินจะยังหดตัวลงอีก 4.3-6.2% เหลือมูลค่าเพียง 290,000-300,000 ล้านบาท และค่าเฉลี่ยอัตราบรรทุกผู้โดยสารจะลดลงเหลือ 72.0-73.4% จากปกติที่สายการบินในไทยจะมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 80%” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ข้อมูล
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์