×

Airbnb มองเทรนด์ท่องเที่ยวไทยปี ‘64 เน้นเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติกับครอบครัว พักระยะสั้น งบไม่เกิน 15,000 บาท

17.03.2021
  • LOADING...
Airbnb

พอเกิดโควิด-19 และระดับของการระบาด จำนวนยอดผู้ติดเชื้อยังคงเสมอต้นเสมอปลาย ผลที่เกิดตามมาจึงไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น เพราะ ‘ภาคการท่องเท่ียว’ ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็ทรุดตัวลงตามไปด้วย

 

ไม่ต่างจากกลุ่มธุรกิจที่มีโมเดลแบบ ‘Sharing Economy’ ซึ่งผู้บริโภคหลายๆ คนอาจจะรู้สึกเกิดความกังวล ไม่สบายใจเมื่อต้องไปใช้บริการผ่านพาหนะกลาง หรือที่พักร่วมจากโฮสต์ผู้ให้เช่า

 

เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ทาง ‘Airbnb’ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการเช่าที่พักก็ต้องเผชิญเช่นกันจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา พวกเขามีรายรับรวมที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 104,700 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ที่ 30% และขาดทุนทั้งสิ้น 4.6 พันล้านบาท โดยสาเหตุหลักๆ มาจากผลของค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหุ้น IPO รวมถึงค่าตอบแทนตามหุ้นมูลค่ารวมกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์

 

โดยที่ข้อมูลทั้งหมดในส่วนข้างต้นนี้ ทาง Airbnb ได้ประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ขณะที่วันนี้ (17 มีนาคม) Airbnb นำโดย อมันพรีท บาจาจ ผู้จัดการทั่วไปของ Airbnb ประจำอินเดีย อาเซียน ฮ่องกง และไต้หวัน ได้จัดเซกชันให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนในเชิงภาพรวมทางธุรกิจช่วงที่ผ่านมาของ Airbnb พร้อมเปิดเผยผลสำรวจเทรนด์หรือแนวโน้มพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้บริโภคชาวไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 นี้

 

สำหรับในปี 2019 ทาง Airbnb เปิดเผยว่า พวกเขามีจำนวนโฮสต์ที่ปล่อยที่พักให้เช่าผ่านแพลตฟอร์มมากกว่า 4 ล้านรายในกว่า 220 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ในจำนวนนี้มีเกสต์เข้าพักตามสถานที่ต่างๆ รวมกว่า 800 ล้านราย 

 

หากนับเฉพาะประเทศไทย มีจำนวนการลิสต์ที่พักตลอดทั้งปีดังกล่าวหรือก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 99,000 แห่ง ซึ่งทาง Airbnb เคลมว่าสิ่งเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมเป็นมูลค่าสูงกว่า 43,700 ล้านบาท นำไปสู่การจ้างงานทั้งทางตรงและอ้อมรวม 113,300 ตำแหน่ง

 

ส่วนในปี 2020 ที่ผ่านมา Airbnb ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใดว่าสถิติตัวเลขการลิสต์ที่พักโดยโฮสต์ ผู้ใช้บริการต่างๆ ลดลงไปมากน้อยแค่ไหน บอกเพียงแค่ว่า สิ่งที่พวกเขาได้ทำประกอบไปด้วย 3 มาตรการหลักๆ ได้แก่ 

 

(1.) การเปิดแคมเปญให้โฮสต์จัดให้เช่าที่พักสำหรับบุคลากรด้านหน้าที่รับมือกับโควิด-19 มากกว่า 800 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นที่พักที่เปิดให้พักได้ฟรี 200 แห่ง

 

(2.) ออกมาตรการและไกด์ไลน์ด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดสำหรับโฮสต์ ผู้เข้าพัก ให้ปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัย พร้อมเพิ่มโปรแกรม Enhance Clean ในเชิงโครงการทำความสะอาดฆ่าเชื้อแบบพิเศษผ่านความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในด้านสุขอนามัย และ 

 

(3.) มาตรการผ่อนปรนความยืดหยุ่นสำหรับโฮสต์ โดยที่ Super Host กว่า 8,700 รายจะได้รับความช่วยเหลือผ่านกองทุนมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมอบเงินสนับสนุนรายละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 154,000 บาท ซึ่งโฮสต์ไทยบางรายก็ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

 

“บทเรียนที่ผมและ Airbnb ได้รับคือ การที่ธุรกิจจะต้องไม่รู้สึกหวาดกลัวในการปรับตัว และโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นต้องพร้อมสนับสนุน Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยที่การรับฟังและเชื่อมต่อกับพวกเขาถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ” หัวเรือใหญ่ Airbnb อาเซียนให้ข้อมูลกับเรา

 

ขณะที่ภาพรวม ‘เทรนด์การท่องเที่ยวปี 2021’ ของผู้บริโภคในประเทศไทย ที่ดำเนินการสำรวจโดย Airbnb และ YouGov บริษัทวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลระดับโลกพบว่า ในปีนี้คนไทยจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์-เข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น โดยชื่นชอบที่จะเดินทางกับครอบครัวในทริประยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-3 วัน ภายใต้งบประมาณที่ราว 5,000-15,000 บาทต่อคน โดยปัจจัยด้าน ‘โปรโมชันและส่วนลด’ กลายเป็นปัจจัยแรกๆ ที่คนไทยจะพิจารณาเดินทางไปเที่ยว

 

เมื่อจำแนกแบบละเอียดจะพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

  1. 47% – เลือกที่จะพักผ่อน เดินทางท่องเที่ยวกับ ‘ครอบครัว’ รองลงมาคือการเดินทางกับคนรักและเดินทางคนเดียว  

 

  1. 38% – ให้ความสำคัญกับ ‘โปรโมชันส่วนลด’ ตามมาด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และค่าเดินทาง นั่นหมายความว่าคนคำนึงถึงค่าใช้จ่าย และความปลอดภัยเป็นหลัก

 

  1. 73% – พิจารณาการท่องเที่ยวจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เมื่อต้องตัดสินใจเลือกรูปแบบที่พัก โดยมีปัจจัยหลักคือการได้ใกล้ชิดธรรมชาติ สถานที่ที่มีอากาศดี เป็นบ้านพักของครอบครัวหรือเพื่อนที่ต่างจังหวัด

 

  1. 1-3 วัน คือระยะเวลาที่คนส่วนใหญ่มักเลือกจะเข้าพัก ไม่เกินไปมากกว่านี้ หมายความว่าผู้คนจะเน้นการเดินทางในทริประยะสั้นเป็นหลัก

 

  1. 5,000-15,000 บาท – คืองบประมาณที่คนส่วนใหญ่ยินดีจะใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยวหนึ่งคน หนึ่งทริป

 

  1. 66% – ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจการท่องเที่ยวจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ KOL รองลงมาคือ ครอบครัวและเพื่อน บล็อกนำเที่ยว

 

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงเทรนด์การท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังการระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง อมันพรีทเชื่อว่า กรอบระยะเวลาที่โควิด-19 จะคลี่คลาย และประชาชนคนไทยสามารถกลับมาเดินทางท่องเที่ยวได้อีกครั้งก็น่าจะต้องรอถึงช่วงสิ้นปี 2021 นี้เลย ซึ่งก็แน่นอนว่า ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับการบังคับใช้มาตรการของภาครัฐ​และการจัดแจกวัคซีนให้ครอบคลุมทั้งประเทศอีกด้วย

 

ส่วนธีมหลักการท่องเที่ยวที่น่าจะดำเนินต่อไปคือ ‘การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน’ ซึ่งเราน่าจะได้เห็นเทรนด์นี้ต่อไปจนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้ให้บริการที่พักจะต้องเน้นการพัฒนาบริการและสถานที่พักที่มีความ ‘ยูนีก’ มีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X