×

ปัญหามลพิษทางอากาศทำอายุขัยคนในเอเชียใต้หดสั้นลงมากกว่า 5 ปี

29.08.2023
  • LOADING...
มลพิษทางอากาศ

สถาบันนโยบายพลังงาน (EPIC) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เปิดเผยรายงาน Air Quality Life Index ฉบับล่าสุดวานนี้ (28 สิงหาคม) โดยระบุว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเอเชียหดสั้นลงได้มากกว่า 5 ปี 

 

เอเชียใต้ ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเทศ อันได้แก่ อัฟกานิสถาน, บังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, มัลดีฟส์, เนปาล, ปากีสถาน และศรีลังกา ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีสภาพอากาศแย่ติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยสาเหตุนั้นก็มาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงการขยายตัวของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คุณภาพอากาศในเอเชียใต้ย่ำแย่ลงต่อเนื่อง

 

ปัจจุบัน ระดับฝุ่นละอองในอากาศของเอเชียใต้สูงทะลุช่วงต้นศตวรรษไปแล้วกว่า 50% ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตรายว่าภูมิภาคแห่งนี้อาจเผชิญกับวิกฤตด้านสุขภาพที่รุนแรงได้ในอนาคต

 

การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาคำนวณผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่อชีวิตของผู้คน โดยผลการศึกษาออกมาว่า ผู้คนในบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีมลพิษสูงสุดในโลก มีอายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ลดลงมากถึง 6.8 ปีต่อคนเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะหากเทียบกับชาติที่มีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศต่ำกว่าอย่างสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่ามลพิษทางอากาศในสหรัฐฯ ทำให้อายุคาดเฉลี่ยของประชากรหดสั้นลงที่แค่ราว 3.6 เดือนเท่านั้น 

 

ด้านอินเดีย ซึ่งเป็นชาติที่มีอัตราการก่อมลภาวะเพิ่มขึ้นให้กับโลกถึง 59% นับตั้งแต่ปี 2013 ก็เผชิญกับสถานการณ์ที่หนักหน่วง โดยในกรุงนิวเดลีซึ่งมีประชากรหนาแน่น และเป็นมหานครที่ขึ้นชื่อว่ามีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนั้น ปัญหาดังกล่าวทำให้อายุคาดเฉลี่ยของประชาชนลดลงมากกว่า 10 ปี

 

รายงานระบุว่า หากทั่วโลกสามารถลดฝุ่น PM2.5 ที่สร้างความเสียหายให้ปอดของมนุษย์ได้จนอยู่ในระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ หรือมีค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะทำให้อายุคาดเฉลี่ยของคนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.3 ปีด้วยกัน ขณะที่ชาวปากีสถานจะมีอายุยืนขึ้น 3.9 ปี ส่วนชาวเนปาลจะมีอายุยืนขึ้น 4.6 ปี

 

ภาพ: Mayank Makhija / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X