ผลการวิจัยซึ่งนำโดย ดร.เทา เสวีย (Tao Xue) แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดาเกือบ 1 ล้านเคสต่อปี โดยระบุว่า เกือบครึ่งของเคสเด็กเสียชีวิตในครรภ์มีส่วนเชื่อมโยงกับการที่มารดาสูดหายใจเอาอนุภาคมลภาวะที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM2.5 เข้าไปในร่างกาย
การวิจัยนี้ได้ทำการสำรวจเคสทารกเสียชีวิตในครรภ์และเด็กที่มีชีวิตอยู่กว่า 45,000 เคส ใน 137 ประเทศ ครอบคลุมทวีปเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบเคสของทารกเสียชีวิตในครรภ์มากถึง 98% เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์พบว่า อากาศที่สกปรกจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์ แต่การวิจัยนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินตัวเลขของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์มารดาอย่างละเอียด
อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางระบาดวิทยาไม่ได้ตรวจสอบว่ามลพิษจากอนุภาคขนาดเล็กสามารถทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้อย่างไร แต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการวิจัยที่ตรวจพบอนุภาคมลพิษทางอากาศในปอดและสมองของทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ และก่อนหน้านี้เมื่อปี 2018 ก็เคยพบอนุภาคมลพิษในรกของครรภ์มารดา อีกทั้งยังพบด้วยว่าอากาศที่สกปรกมีความสัมพันธ์อย่างมากกับกรณีการแท้งบุตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และพัฒนาการทางสมองที่ไม่เติบโตสมบูรณ์เต็มที่
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากชาติต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ ก็จะสามารถป้องกันเหตุทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นภาคสาธารณสุขมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบริการทางการแพทย์ แต่ไม่ได้โฟกัสปัจจัยเสี่ยงที่มาจากสิ่งแวดล้อม พร้อมแนะนำให้สตรีมีครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงให้สวมหน้ากากอนามัยแบบที่สามารถป้องกัน PM2.5 ได้ รวมถึงใช้เครื่องฟอกอากาศและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองสูง
อนึ่ง เมื่อปี 2020 องค์กร Unicef เคยได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่าปัญหาเด็กทารกเสียชีวิตในครรภ์เป็น ‘โศกนาฏกรรมที่ถูกละเลย’ ฉะนั้นหากผลลัพธ์จากการวิจัยฉบับล่าสุดนี้นำไปสู่การหามาตรการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาวะของสตรีและยกระดับความเท่าเทียมได้มากขึ้นตามไปด้วย
แฟ้มภาพ: LightField Studios Via Shutterstock
อ้างอิง: