×

‘Air Jordan’ เรื่องเล่าเล็กๆ ของรองเท้ามหัศจรรย์พลิกโลก

08.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ไมเคิล จอร์แดน ไม่เคยอยากใส่รองเท้าของ Nike มาก่อน เพราะ Adidas คือแบรนด์เดียวที่เขาต้องการจะเซ็นสัญญาด้วย
  • Converse มีโอกาสที่จะคว้าตัวจอร์แดนได้ แต่ข้อเสนอของพวกเขาที่จะ ‘ปฏิบัติกับจอร์แดนเท่าซูเปอร์สตาร์คนอื่น’ นั้นถือว่าไม่ดีพอ
  • เดวิด ฟอล์ก เอเจนต์ของจอร์แดนในเวลานั้นคือคนที่มองเห็นศักยภาพของ Nike แต่ไม่สามารถจะกล่อมให้เขาไปทำการฟังข้อเสนอได้
  • บุคคลสำคัญลับๆ ที่เป็นหนึ่งในการทำให้จอร์แดนและ Nike ได้ร่วมมือกันคือ เดโลริส จอร์แดน คุณแม่ที่ใช้อำนาจพิเศษในการขอ (แกมบังคับ) ให้จอร์แดนไปฟังข้อเสนอก่อน

ถึงแม้ว่าภาพของ ไมเคิล จอร์แดน และ Nike จะเป็นเหมือนดังเงาของกันและกันชนิดที่แยกจากกันแทบไม่ออก แต่ในความเป็นจริงแล้วอดีตราชา NBA ไม่เคยมีความคิดแม้สักนิดที่จะสวมใส่รองเท้ายี่ห้อนี้มาก่อน

 

เพราะมีรองเท้ายี่ห้อเดียวที่เขาอยากจะใส่คือรองเท้าของ Adidas บริษัทยักษ์จากเยอรมนีเท่านั้น

 

แล้วจอร์แดนมาลงเอยกับ Nike ได้อย่างไร และด้วยเหตุผลกลใด

 

เรื่องนี้หากใครเคยได้ยินมาแล้วก็ถือเสียว่ามาทบทวนความทรงจำไปด้วยกันอีกสักครั้ง แต่หากไม่เคยได้ยินเรื่องราวนี้ที่ไหนมาก่อน ก็อยากชวนมาย้อนวันเวลาไปด้วยกันนะครับ 🙂

 

บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 1984 มีสงครามขนาดย่อมๆ ในวงการรองเท้ากีฬาที่สหรัฐอเมริกาครับ

 

นักกีฬาที่เป็นที่ต้องการตัวในเวลานั้นคือ ไมเคิล จอร์แดน ไอ้หนูมหัศจรรย์ที่สร้างผลงานชวนตะลึงในระดับมหาวิทยาลัยกับทีมนอร์ทแคโรไลนา ก่อนจะถูกดราฟต์เข้าสู่ทีมชิคาโก บูลล์ส และสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจในการแข่งขันโอลิมปิก​ฤดูร้อนที่แคลิฟอร์เนีย

 

ยักษ์ใหญ่ในวงการกีฬารู้ว่าเด็กคนนี้จะก้าวมาเป็น ‘สตาร์’ อย่างแน่นอน 

 

สิ่งที่น่าทึ่งคือจอร์แดน – แม้จะเป็นแค่เด็กเพิ่งจบมหาวิทยาลัยหมาดๆ – กลับไม่ต้องการจะเป็นตัวเลือกให้กับใคร เขาต้องการจะเป็นคนเลือกด้วยตัวเอง และบริษัทเดียวที่เขาปรารถนาจะร่วมงานด้วยคือ Adidas

 

เพียงแต่ด้วยสถานการณ์ภายในของ Adidas ที่มีปัญหาอย่างมากหลังจากที่สูญเสียผู้นำอย่าง อาดิ ดาสส์เลอร์ ไปในปี 1978 ทำให้พวกเขายังอยู่ในระหว่างการปรับจูนทิศทาง และไม่พร้อมสำหรับการพิจารณาข้อเสนอให้แก่นักกีฬาที่ยังไม่ได้โอกาสแจ้งเกิด

 

ยักษ์ใหญ่อีกเจ้าที่จับตาอยู่และยื่นข้อเสนอให้อย่างจริงจัง Converse รองเท้าที่จอร์แดนใส่ตลอดการเล่นระดับมหาวิทยาลัย (โดยหนึ่งในเหตุผลคือ ดีน สมิธ โค้ชที่ดูแลจอร์แดนจะได้รับค่าตอบแทน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากมีนักกีฬาใส่รองเท้าตราดาวลงสนาม)

 

ถึงจะไม่สนใจ ไม่แม้แต่จะอยากไปรับฟังข้อเสนอ แต่ด้วยความเกรงใจโค้ชเก่าจอร์แดนจึงยอมที่จะเดินทางไปเพื่อรับฟังข้อเสนอพร้อมกับเดวิด ฟอล์ก เอเจนต์จากบริษัท Proserv ที่ดูแลนักกีฬาระดับชั้นนำมากมายที่เพิ่งจะมีโอกาสได้พบกับรุกกี้ที่ The New York Times ยกย่องว่าจะเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ของวงการได้ไม่กี่ครั้ง

 

ในห้องประชุมที่สำนักงานใหญ่ของ Converse ฝ่ายการตลาดของ Converse ในเวลานั้นคือโจ ดีน พยายามกล่อมจอร์แดนด้วยคำพูดที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง

 

We are basketball – เราคือบาสเกตบอล

 

ที่ดีนกล้าพูดแบบนั้นเพราะในช่วงเวลานั้น Converse คือเจ้าแห่งวงการนี้อย่างแท้จริง พวกเขามีซูเปอร์สตาร์อย่าง เมจิก จอห์นสัน, แลร์รี เบิร์ด, จูเลียส เออร์วิง (Dr.J) และ มาร์ก แม็กไกวร์ แม้กระทั่งตัวของจอร์แดนเองก็ใส่ Converse Chuck Taylor ลงแข่งพิชิตชัยมากมาย

 

ถ้าเป็นเด็กหนุ่มทั่วไปการได้ร่วมเป็นหนึ่งในพรีเซนเตอร์กับนักกีฬาในระดับชั้นนำเหล่านี้ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสุด และคงจะยอมรับข้อเสนออย่างงามที่วางอยู่บนโต๊ะแน่นอน โดยในเวลานั้น Converse เสนอให้กับจอร์แดนถึงปีละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบเท่ากับเหล่าสตาร์ระดับชั้นนำคนอื่นๆ

 

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอสำหรับคนที่เกิดมาเพื่ออยู่สูงกว่านั้นอย่างจอร์แดน

 

คำถามที่เด็กหนุ่มถามกลับและทำให้นักการตลาดของแบรนด์ระดับชั้นนำของประเทศถึงกับไปไม่เป็นคือ “มีดาวเด่นมากขนาดนี้ คุณจะให้ผมไปอยู่ตรงไหน”

 

คำตอบจากดีนคือ “เราจะปฏิบัติกับคุณเหมือนกับซูเปอร์สตาร์คนอื่น”

 

และเมื่อ เจมส์ จอร์แดน พ่อผู้เลี้ยงดูไมเคิลมาอย่างดีและรู้จักลูกชายดีที่สุดถามขยี้ว่า “พวกคุณไม่มีไอเดียอะไรที่มันแปลกใหม่หน่อยหรือ”

 

ไม่มีคำตอบใดๆ มีเพียงความเงียบงัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเสนอเงินให้แก่เด็กใหม่มากกว่าซูเปอร์สตาร์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นพวกเขาจะสู้หน้ากับนักบาสฯ ระดับ เมจิก จอห์นสัน หรือ แลร์รี เบิร์ด ได้อย่างไร

 

ในเวลานั้นไม่มีใครรู้ว่า Converse ได้พลาดโอกาสดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขาไปเรียบร้อย

 

 

อีกหนึ่งบริษัทที่สนใจในตัวของจอร์แดนคือ Sport-Bilt แบรนด์รองเท้าภายใต้บริษัท Hyde Athletic ซึ่งมีพรีเซนเตอร์อย่าง โอ.เจ. ซิมป์สัน นักอเมริกันฟุตบอลระดับตำนาน (ก่อนที่จะกลายเป็นฆาตกรในคดีอื้อฉาวในเวลาต่อมา) ซึ่งเป็นเขาที่แนะนำให้ผู้บริหารของ Sport-Bilt รีบทำการติดต่อเป็นการด่วนก่อนจะโดนใครคว้าตัวไป

 

จอห์น เอช. ฟิชเชอร์ รองประธานฝ่ายการตลาดของ Sport-Bilt จึงรีบทำการติดต่อกับพ่อของจอร์แดนเพื่อสอบถามว่าควรจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้ตัวไมเคิลมาเป็นพรีเซนเตอร์ และได้รับคำแนะนำว่า “Don’t leave a dime at the door”

 

การติดต่อเจรจาจึงเกิดขึ้นทันทีโดย Sport-Bilt นำโดยฟิชเชอร์ และบริษัทเอเจนซี John Brown & Partners ซึ่งเป็นเอเจนซีเก่าของ Nike ที่จัดเตรียมสตอรีบอร์ดและไอเดียนำเสนอว่าถ้าเซ็นสัญญากับพวกเขาแล้วจอร์แดนจะเป็นอย่างไร ซึ่งหลักๆ แล้วก็คือเขาจะเป็น โอ.เจ. ซิมป์สัน คนต่อไป และจะเป็นนักกีฬาคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร

 

แต่ดูเหมือนข้อเสนอก็ยังไม่น่าพอใจ

 

ในหัวของจอร์แดนเวลานั้นยังคิดถึงและเฝ้ารอ Adidas อยู่เสมอ 

 

ทว่าในหัวของฟอล์กแล้ว บริษัทที่เขาคิดว่าน่าสนใจกว่าคือ Nike

 

ในเวลานั้น Nike ไม่ได้มีสภาพเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการกีฬาเหมือนในปัจจุบัน แต่ก็ถือเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬาที่น่าจับตามอง โดยรายได้ของบริษัทเพิ่มจาก 28.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 867 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อจบปี 1983

 

เพียงแต่พวกเขายังเป็นแค่เบอร์ 3-4 หรืออาจจะต่ำกว่านั้นในวงการ ที่สำคัญคือพวกเขาไม่ได้เป็นรองเท้าในดวงใจของนักบาสเกตบอลในยุคสมัยนั้นด้วย

 

ที่แย่กว่านั้นคือในสายตาของไมเคิล จอร์แดน นักบาสเก็ตบอลรุกกี้ที่น่าจับตามองมากที่สุด รองเท้าของ Nike เป็นรองเท้าสำหรับ ‘นักวิ่ง’ ไม่ใช่รองเท้าที่จะเอามาใส่ทะยานฟ้าขึ้นไปยัดห่วงเล่น

 

“ผมไม่สนใจจะไปที่นั่นหรอก” เอ็มเจซึ่งเพิ่งกลับจากโอลิมปิกและเหนื่อยเกินกว่าจะคิดอยากไปคุยกับใครบอกกับเอเจนต์ของเขาในตอนนั้นแบบนี้ครับ “ทำในสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อให้ผมไปอยู่กับ Adidas”

 

แต่ฟอล์กต้องการจะให้จอร์แดนเซ็นสัญญากับ Nike ให้ได้

 

เหตุผลลึกๆ ส่วนตัวคือเรื่อง ‘เงิน’ เพราะเขามีความสนิทสนมกับร็อบ สตราสเซอร์ รองประธานบริษัทซึ่งเป็นคนที่มีหน้าที่ในการปิดดีลนักกีฬา ซึ่งเขาได้แจ้งจำนวนเงินที่ต้องการไปแล้วว่าหากเขาพาจอร์แดนมาเซ็นสัญญาด้วยเขาจะได้ส่วนแบ่งเท่าไร ซึ่งสตราสเซอร์ตกลงรับข้อเสนอเพราะนี่ไม่ใช่นักกีฬาคนแรกที่ฟอล์กพามา ยังมี เบอร์นาร์ด คิง, ฟิล ฟอร์ด และ โมเซส มาโลน

 

แต่เรื่องค่าตอบแทนนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงาน เพราะหน้าที่หลักของฟอล์กในฐานะเอเจนต์คือการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ซึ่งในความรู้สึกของเขา Nike แม้จะเป็นบริษัทที่กำลังคลำทางอยู่ แต่พวกเขาเติบโตอย่างน่าจับตามอง มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแบรนด์จากรองเท้าวิ่งเป็นสินค้าของนักกีฬาระดับชั้นนำ

 

และที่สำคัญพวกเขายังไม่มีนักกีฬาตัวท็อปสักคน นั่นทำให้สิ่งที่จอร์แดนฝัน – ซึ่งดูเป็นความฝันที่ใหญ่เกินตัวไม่น้อยสำหรับเด็กรุกกี้ แต่มันอาจจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับคนที่เกิดมาเก่งที่สุดอย่างเขา – ในการจะมีรุ่น ‘รองเท้ากีฬาเป็นของตัวเอง’ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้กับ Nike

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามจะเกลี้ยกล่อมจอร์แดนของฟอล์กไม่ประสบความสำเร็จ เอ็มเจไม่ยอมฟังอะไรทั้งนั้น

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้ฟอล์กต้องใช้กึ๋นและความเจ้าเล่ห์เล็กน้อยในการขอความช่วยเหลือจากพ่อและแม่ของจอร์แดน

 

(และนี่คือจุดที่สำคัญที่สุดของเรื่อง!)

 

เด็กดื้ออย่างเขาก็ต้องเจอกับคุณแม่ เดโลริส จอร์แดน ที่ขอแกมบังคับ

 

“ลูกต้องไปฟังข้อเสนอของเขา ลูกอาจจะไม่ชอบใจ แต่ลูกต้องไปฟัง” จอร์แดนเล่าให้ทุกคนฟังเองในสารคดี The Last Dance “แม่ทำให้ผมต้องนั่งเครื่องบินเพื่อไปฟังข้อเสนอ”

 

อ้างอิง:  https://twitter.com/darrenrovell/status/1257116447400230917?s=21

บรรยาย: ภาพโฆษณา Air Jordan 1 ตัวแรก (Jumpman)

 

จอร์แดนที่ไม่เต็มใจเดินทางไปกับฟอล์กถึงแคมปัสของ Nike ก่อนที่จะได้พบกับ สตราสเซอร์, กูรูบาสเกตบอลของบริษัทอย่าง ฮาวเวิร์ด ไวท์ และ ซอนนี วัคคาโร และคนสำคัญที่สุดอีกคนอย่างปีเตอร์ มัวร์ ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบรองเท้ารุ่นนี้

 

ในการประชุมจอร์แดนได้นั่งดูสไลด์ที่มีเพลง Jump ที่เพิ่งจะเปิดตัวในช่วงนั้นคลอไปด้วย โดยที่มัวร์ได้นำเสนอแบบรองเท้ารุ่นใหม่ในคู่สีแดง-ดำ (Black and Red หรือ ‘Bred’ ที่เป็นตำนานในเวลาต่อมา) แต่สิ่งที่จอร์แดนได้เห็นไม่ทำให้เขาประทับใจนัก

 

เหตุผล (หรือข้ออ้างก็ไม่แน่ใจ) คือเขารู้สึกว่ารองเท้าของ Nike มีพื้นที่หนาเกินไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาชอบรองเท้าของ Adidas ที่พื้นเตี้ยกว่า เพราะมันทำให้เขา ‘สัมผัส’ กับพื้นได้มากกว่า

 

แต่มัวร์รับฟังและยืนยันว่าเขาพร้อมจะปรับให้ทันที ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะไม่มีบริษัทกีฬาที่ไหนทำมาก่อน ในการจะปรับรองเท้าตามความต้องการของนักกีฬา

 

ด้านสตราสเซอร์ ใช้ความเป็นสุดยอดนักเจรจา โดยหลังจากที่มีการย้ายการประชุมไปอีกห้องหนึ่ง เขาเห็น ฟิล ไนต์ ประธานและผู้ก่อตั้งร่วมของ Nike เดินเข้ามาในห้องพอดี จึงพูดว่า “ถ้าคุณจะร่วมงานกับ Nike…”

 

สตราสเซอร์เหยียดแขนก่อนจะชี้ไปที่ด้านนอกของห้องซึ่งมีรถ Mercedes ระดับตำนานของนักสะสม 2 คันจอดอยู่ ซึ่งเขารู้ดีว่าจอร์แดนมีความคลั่งไคล้ในรถยนต์อย่างมาก – ในขณะที่ฟิล ไนต์ เห็นภาพนั้นก็แทบจะลมจับเพราะนั่นมันไม่ใช่รถของสตราสเซอร์ แต่เป็นรถสุดรักสุดหวงของเขา 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับจอร์แดนเขาไม่ได้รู้สึกอะไร และแม้จะไปทานดินเนอร์กันต่อทั้งกลุ่ม แต่ในหัวของเขาคิดแค่ว่าเขาไม่อยากจะเจรจาอะไรแล้ว

 

โชคดีสำหรับ Nike ที่พวกเขากล้าจะรับฟังคำแนะนำของวัคคาโร ที่บอกให้เสนอเงินให้จอร์แดน เป็นเงินสด 500,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขที่ฉีกคนอื่นกระจุย โดยในเวลานั้นนักกีฬาที่ทำรายได้เยอะที่สุดคือ เจมส์ เวิร์ทธี ที่รับจาก New Balance 150,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น

 

นั่นหมายถึงจอร์แดนสามารถทำเงินได้มากถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยกัน (เมื่อรวมเงื่อนไขโบนัสอื่นๆ ด้วย) 

 

เพียงแต่ในสัญญานั้นมีข้อแม้ 3 ข้อด้วยกัน

 

1) เขาต้องคว้ารางวัล Rookie of the Year 

2) ต้องติดทีม All-Star 

3) ต้องทำแต้มได้เฉลี่ยเกมละ 20 แต้มใน 3 ปีแรก

 

ถ้าทำไม่ได้ตามนี้ Nike มีสิทธิ์จะยกเลิกสัญญาใน 2 ปีสุดท้าย!

 

ด้านฟอล์กบอกว่า แล้วถ้าจอร์แดนทำตามเงื่อนไข 3 ข้อไม่ได้ แต่ว่ายังทำให้บริษัทขายรองเท้าได้ดีจะทำอย่างไร? คำตอบของ Nike คือถ้ารองเท้าของจอร์แดนมียอดขายอย่างต่ำ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ 3 เขาก็จะยังได้เงินตามเงื่อนไขเดิมในสัญญา 2 ปีที่เหลือ

 

มาถึงตรงนี้จอร์แดนรู้ว่าข้อเสนอมันดีมากพอแล้ว เพียงแต่เขามีสิ่งสุดท้ายที่อยากทำเพื่อให้มั่นใจ

 

จอร์แดนกลับไปที่ Adidas เพื่อเอาสัญญาของ Nike ให้ดูแล้วบอกว่านี่คือสิ่งที่เขาได้รับข้อเสนอมา ถ้าหาก Adidas ยื่นข้อเสนอที่ดีเท่าเทียมกันได้เขาจะเซ็นสัญญาด้วยทันที

 

ไม่มีข้อเสนอกลับมาจาก Adidas

 

และนั่นนำไปสู่การร่วมมือกันจากความไม่ค่อยเต็มใจระหว่างไมเคิล จอร์แดน กับ Nike ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของวงการกีฬา

 

ส่วนคนที่ตั้งชื่อ Air Jordan ให้ก็ไม่ใช่ตัวของจอร์แดน หรือคนของ Nike

 

แต่เป็น เดวิด ฟอล์ก คนที่นำด้ายแดงแห่งโชคชะตาของจอร์แดนไปผูกให้กับ Nike นั่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • เดิมฟอล์กอยากให้ใช้ชื่อรองเท้าว่า Michael Jordan แต่ Nike ไม่เห็นด้วยเพราะไม่คิดว่าเด็กอายุ 21 ปีจะเจ๋งพอ ฟอล์กเลยขอเวลาคิด และรู้สึกว่าใช้ชื่อว่า Air Jordan น่าจะเหมาะ เพราะสอดคล้องกับเทคโนโลยี Air ที่ Nike เพิ่งคิดค้น และยังเข้ากับสไตล์การเล่นของจอร์แดนที่เหินหาวกลางอากาศด้วย
  • บริษัท Proserv ที่ฟอล์กทำงานให้นั้นดูแลนักกีฬาดังๆ มากมาย โดยเฉพาะในวงการเทนนิสอย่าง จิมมี คอนเนอร์ส, สแตน สมิธ และ อาร์เธอร์ แอช ดังนั้นพวกเขาจึงอยากให้ Nike ดูแลจอร์แดนในฐานะซูเปอร์สตาร์เหมือนกีฬาประเภทเดี่ยว (กอล์ฟ, นักมวย, นักเทนนิส) มากกว่าประเภททีม
  • จอร์แดนมีส่วนสำคัญในการออกแบบรองเท้าด้วย โดยเขาให้โจทย์กับปีเตอร์ มัวร์ว่าต้อง ‘แตกต่าง’ และ ‘น่าตื่นเต้น’ แต่ในการออกแบบแรกๆ เขาเกลียดรองเท้านี้มาก โดยบอกว่ามันทำให้เขาดูเป็นตัวตลก
  • กว่าที่รองเท้า Jordan 1 จะพร้อมเปิดตัวก็คือช่วงปลายๆ ปีรุกกี้ของจอร์แดนแล้ว โดยระหว่างนั้นเขาใส่รองเท้าหลายคู่ลงเล่น หนึ่งในนั้นคือ Nike’s Air Ship มีการออกแบบหลักๆ คล้ายกับ Jordan 1 ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะหลอกสายตาทุกคนเกี่ยวกับรองเท้าที่จะเขย่าวงการในเวลาต่อมา
  • หนึ่งในตำนานที่แฟนสนีกเกอร์จดจำเกี่ยวกับ Air Jordan 1 คือเรื่องสีของรองเท้าที่ถูกแบน (Banned) คือรองเท้าสีดำและแดงที่มีเรื่องเล่าว่า Nike ให้จอร์แดนใส่รองเท้าคู่นี้แม้ว่า NBA จะห้าม ทำให้ต้องเสียค่าปรับ 5,000 ดอลลาร์ทุกเกม (เพราะสีไม่ตรงกับชุดยูนิฟอร์มของทีม) 
  • แต่ความจริงแล้วเรื่องเกิดจากการที่รุสส์ กรานิก ประธาน NBA ในเวลานั้นส่งจดหมายแจ้งเตือน Nike เกี่ยวกับรองเท้า ซึ่งที่จอร์แดนสวมใส่ก็ไม่ใช่ Jordan 1 แต่เป็นรองเท้า Air Ship ที่เขาใส่แค่ครั้งเดียวในเกมอุ่นเครื่องก่อนที่ฤดูกาล 1984 จะเริ่มต้นขึ้น และก็ไม่ได้มีการปรับใดๆ ด้วย
  • เมื่อข่าวเล่าข่าวลือที่สะพัดไปไกลไม่ได้เป็นผลเสียอะไร กลับทำให้รองเท้าเป็นที่สนใจด้วย ทำให้ Nike ไม่ต้องทำอะไรและประหยัดงบในการโฆษณาได้มากมายมหาศาล
  • ทีเด็ดคือเอเจนซีของ Nike ในเวลานั้น Chiat/Day โหนกระแสทันทีด้วยการออกโฆษณาทีวีทั่วประเทศ โฆษณานั้นดังระเบิด ใครๆ ก็อยากใส่รองเท้า Air Jordan สีสุดเท่ที่ NBA สั่งแบนไม่ให้จอร์แดนใส่ แต่ห้ามแฟนๆ ทุกคนไม่ให้ใส่ไม่ได้ ซึ่งความคลั่งไคล้ในตัวรุกกี้ที่มหัศจรรย์ที่สุดยิ่งทำให้ไม่มีอะไรมาฉุด Air Jordan 1 อยู่
  • Air Jordan 1 สีแรกขายหมดอย่างรวดเร็ว โดยราคาเวลานั้นคือ 64 ดอลลาร์ (ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยแล้วสำหรับยุคนั้น แต่เพราะรองเท้าผลิตด้วยวัสดุที่ดีกว่ารุ่นอื่น) และมีคนหัวใสไปซื้อมาขายต่อในราคา 100 ดอลลาร์ กลายเป็นเริ่มมีพ่อค้าแม่ค้ารีเซลตั้งแต่ยุคนั้น
  • ในฤดูกาลแรกมีการผลิต Air Jordan 1 ออกมามากถึง 13 สี โดยสีเด่นๆ ที่ถูกจดจำคือ Banned (Bred), Chicago, Royal, Black Toe, Shadow และ Carolina Blue 
  • หลังรองเท้าล็อตแรกขายหมดก็มีการผลิตใหม่และเติมสต๊อกเยอะมาก แต่ยอดขายกลับตกลง แต่ดันกลายเป็นเรื่องที่ดีเพราะรองเท้า Air Jordan ที่เหลือตกค้างตามร้านรองเท้า และถูกขายแบบลดราคาถล่มทลายเหลือคู่ละ 20 ดอลลาร์ กลายเป็นรองเท้าที่เหล่าเด็กสเกตบอร์ดสนใจ เพราะพวกเขาก็อยากได้รองเท้าที่เท่และราคาย่อมเยาและทนกว่าที่มีอยู่ นำไปสู่จุดเปลี่ยนของวัฒนธรรมสนีกเกอร์ด้วย (Nike ออกรองเท้า SB Dunk ในปี 1986 โดยที่ใช้พื้นฐานของ Air Jordan 1) 
  • ตามคำพูดของฟอล์ก Nike คาดหวังว่าจะขายรองเท้าได้ยอด 3 ล้านดอลลาร์ในปีที่ 4 แต่ปรากฏว่ายอดขายนั้นไปไกลถึง 126 ล้านดอลลาร์
  • โลโก้ Jumpman ที่มาที่ไปแล้วมาจากภาพที่จอร์แดนถ่ายให้กับนิตยสาร Life ซึ่งในภาพเขาใส่รองเท้า New Balance ด้วย! แต่เพื่อโปรโมต Air Jordan 1 จึงมีการถ่ายทำซ้ำและเปลี่ยนไปใส่รองเท้า Air Jordan 1 แทน
  • ขณะที่กระแสความนิมของรองเท้านั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่จอร์แดน ประกาศอำลาวงการเมื่อปี 2003
  • ปัจจุบัน Air Jordan มีอายุ 35 ปี และมีออกมาแล้วถึง 34 เวอร์ชัน โดยที่มีแค่ Air Jordan 1 รุ่นเดียวเท่านั้นที่มีโลโก้ Swoosh ของ Nike บนรองเท้า
  • ในวันที่ 8 มีนาคม 1997 ชิคาโก บูลล์สไปเล่นที่สนามเมดิสัน สแควร์ การ์เดน ของนิวยอร์ก นิกส์ เป็นครั้งสุดท้าย วันนั้นจอร์แดนตัดสินใจหยิบเอา Air Jordan 1 คู่แรกที่เคยใส่ครั้งแรกในสนามแห่งนี้กลับมาลงเล่นที่ The Garden อีกครั้ง และแม้ว่ารู้ตั้งแต่ช่วงพักครึ่งว่ามีแผลที่เท้าแต่ก็ไม่ยอมเปลี่ยนรองเท้าแต่อย่างใด เพราะรู้สึกกำลังเล่นได้ดี สุดท้ายเมื่อจบเกมถอดรองเท้าออกมาจึงรู้ว่าถุงเท้านั้นชุ่มไปด้วยเลือด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X