แอร์เอเชียยัน ไม่จำเป็นต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ส่งสัญญาณเพิ่มทุน-หาพันธมิตร-กู้แบงก์เพื่อเสริมสภาพคล่องหากพลาดซอฟต์โลน 4.5 พันล้านบาทจากรัฐ ด้านหุ้นนกแอร์ (NOK) ราคาติดฟลอร์ทันทีหลังยื่นฟื้นฟูฯ ตลท. สั่งขึ้นเครื่องหมาย ‘C’ โบรกเกอร์เตือน ระวังวิกฤตการบินลามเข้ากลุ่มแบงก์
วิกฤตธุรกิจการบินยังไม่จบ หลังจากล่าสุด บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นรายที่ 2 ต่อจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเพราะผลกระทบของโควิด-19 สร้างความกังวลว่าจะมีสายการบินอื่นๆ จะเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มอีกหรือไม่ โดยเฉพาะบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV
AAV ยัน สภาพคล่องยังดี ไม่ต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เปิดเผยกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่าบริษัทยังมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทยังคาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะช่วยหนุนภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นผลต่อธุรกิจการบินในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศได้เป็นปกติจะช่วยหนุน แต่ปัจจุบันประเทศในเอเชียเริ่มมีการระบาดรอบสองอีกครั้ง เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อบริษัท
โดยราคาหุ้น AAV ปิดการซื้อขายวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่ระดับ 1.81 บาท เพิ่มขึ้น 0.01 บาท หรือ 0.56% มูลค่าการซื้อขาย 54.48 ล้านบาท
เตรียมแผนเพิ่มทุน-กู้แบงก์ หากพลาดซอฟต์โลนรัฐ 4.5 พันล้านบาท
ธรรศพลฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทได้ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากภาครัฐผ่านธนาคารออมสิน วงเงินประมาณ 4.5 พันล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินการธุรกิจประกอบกัน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งหากซอฟต์โลนจำนวนดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีนี้ บริษัทอาจพิจารณาเงินจากแหล่งอื่นแทน เช่น การขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มทุน หรือการหาพันธมิตรรายใหม่ โดยจะพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์อีกครั้ง
ส่วนความกังวลเรื่องที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) สิ้นสุดไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 3.14 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงและอาจจะทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้นั้น ทางบริษัทยืนยันว่า D/E ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นไปตามผลกระทบมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ซึ่งคิดรวมค่าเช่าต่างๆ แต่หากคิดเพียงหนี้อย่างเดียว บริษัทจะมี D/E อยู่ที่ระดับประมาณกว่า 1 เท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มสถาบันการเงินเข้าใจและมีโอกาสปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทได้ได้
“เราไม่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูฯ แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตอนนี้เรารอการอนุมัติซอฟต์โลนจากภาครัฐที่ขอไปนานแล้ว ถ้าไม่ได้เราก็คงต้องพึ่งพาตัวเองโดยการไปกู้แบงก์ เพิ่มทุน หรือหาพันธมิตร ซึ่งปัจจุบัน D/E หนี้เราจริงๆ มีประมาณ 1 เท่ากว่าเท่านั้น ตรงนี้แบงก์เข้าใจ แต่ที่เราไม่เลือกช่องทางกู้แบงก์ก่อนเพราะซอฟต์โลนมีดอกเบี้ยที่ถูกกว่า แต่ยืนยันว่าเราไม่มีปัญหากับแบงก์” ธรรศพลฐ์กล่าว
โบรกเกอร์มองช่วงที่เหลือของปี ขาดทุนทุกไตรมาส
บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS ประเมินหุ้น AAV คาดว่าไตรมาส 2/63 จะขาดทุน 1,614 ล้านบาท แย่กว่าปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าที่ขาดทุน 482 ล้านบาทและ 671 ล้านบาทตามลำดับ เนื่องจากรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก หดตัว 96% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และหดตัว 95% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ในขณะที่ต้นทุนราว 50% เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ จึงลดลงไม่มากเท่ารายได้ที่ลดลง
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3/63 ถึงไตรมาส 4/63 คาดว่ายังขาดทุนต่อเนื่อง คาดว่าการฟื้นตัวของผู้โดยสารจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และตลาดเส้นทางการบินในประเทศมีแนวโน้มกลับมาแข่งขันรุนแรง คงคำแนะนำ ‘Reduce’
NOK ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ตลท. จับแขวน C หุ้นดิ่งฟลอร์
วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และให้เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ผู้ทำแผนฯ) ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 27 ตุลาคม 2563
ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวของบริษัท โดยบริษัทไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการที่จะเลิกหรือชำระบัญชีบริษัท หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด เนื่องจากปัญหาในปัจจุบันของบริษัทไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหากมีการปรับโครงสร้างบริษัทก็จะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้ตามปกติ
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศขึ้นเครื่องหมาย C หุ้น NOK ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ทันที ส่วนราคาหุ้น NOK ปิดการซื้อขายวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ปิดที่ระดับ 0.72 บาท ลดลง 0.12 บาท หรือ 14.29% (ฟลอร์) มูลค่าการซื้อขาย 2.6 ล้านบาท
โบรกเกอร์เตือน แรงกระเพื่อม NOK อาจลามเข้ากลุ่มแบงก์
บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมกลุ่มท่องเที่ยวที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาโควิด-19 ทั้งแนวโน้มที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เตรียมแผนกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และกรณีที่ NOK เข้าแผนฟื้นฟูฯ กับศาลล้มละลาย เพราะนอกจากจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวแล้วยังส่งผลต่อธนาคารเจ้าหนี้ของกลุ่มสายการบินด้วย
เรียบเรียง: ประน้อม บุญร่วม
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์