×

“เราอยากให้ทุกคนเห็นว่านักมวยหญิงมีดีไม่แพ้นักมวยชายในวงการมวยไทย” คุยกับ อัยด้า ลูกทรายกองดิน นักมวยหญิงคนแรกที่จะได้ขึ้นชกบนเวทีราชดำเนิน

05.08.2022
  • LOADING...
อัยด้า ลูกทรายกองดิน

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • วันที่ 5 สิงหาคม นับเป็นวันแรกที่ทุกคนจะได้เห็นการแข่งขันมวยหญิงทำการแข่งขันบนเวทีมวยราชดำเนิน สนามมวยไทยสมัยใหม่ทางการแห่งแรกของโลก 
  • อัยด้า ลูกทรายกองดิน นักมวยไทยวัย 20 ปี และ ซาร่าห์ วีนั่มมวยไทย นักมวยชาวอิหร่าน จะเป็นนักมวยหญิงคู่แรกที่ขึ้นชกบนเวทีราชดำเนิน
  • อัยด้ายอมรับว่าที่ผ่านมานักมวยหญิงไม่ได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับนักมวยชาย แต่เมื่อโอกาสขึ้นชกเวทีราชดำเนินมาถึง เธอต้องการที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่านักมวยหญิงมีดีไม่แพ้นักมวยชาย 
  • สิ่งที่ แบงค์ เธียรชัย ผู้บริหารคนใหม่ต้องการจะเป็นคือ ราชดำเนินเป็นสนามที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งหนึ่งในความเป็นสากลคือการเปิดให้นักมวยหญิงได้แข่งขัน ทำหน้าที่ส่งเสริม และเป็นแอมบาสเดอร์ของกีฬามวยไทยที่ดีไม่แพ้นักมวยชาย 

“ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะปรับเปลี่ยนแล้วก็อนุญาต ไม่ใช่ผมนะ ทุกๆ คนในราชดำเนิน แล้วก็พาร์ตเนอร์ที่เกี่ยวข้องคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะปรับเปลี่ยน แล้วก็ส่งเสริมมวยหญิง

 

“เราเชื่อว่าวันนี้นักมวยหญิงสามารถเป็นแอมบาสเดอร์ของกีฬามวยไทยได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จะตอบมิชชันของเรา ณ เวลานี้ แล้วก็ตอบแก่นแท้และจิตวิญญาณของเวทีราชดำเนินได้ดีที่สุดครับ อันนี้ก็คือเหตุผล แล้วก็ที่มาของการตัดสินใจที่จะให้มีการจัดมวยหญิงเป็นครั้งแรกในเวทีราชดำเนิน”

 

เป็นคำตอบของ แบงค์-เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร GVS ผู้บริหารใหม่ของเวทีราชดำเนิน ที่ประกาศให้มีการแข่งขันมวยหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเวทีราชดำเนิน ที่ก่อตั้งมาเป็นอายุกว่า 77 ปี ให้กับ THE STANDARD ในบทสัมภาษณ์ที่เวทีราชดำเนินก่อนไฟต์แรกของ Rajadamnern World Series หรือ RWS

 

 

โดยวันที่ 5 สิงหาคมนี้ นักมวยญิงไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่จะได้ขึ้นชกบทเวทีราชดำเนินแห่งนี้คือ อัยด้า ลูกทรายกองดิน นักมวยไทยวัย 20 ปี และ ซาร่าห์ วีนั่มมวยไทย 

 


 

อ่านเกี่ยวกับเวทีราชดำเนินยุคใหม่เพิ่มเติมได้ที่: 

 


 

ซึ่ง THE STANDARD ได้ตัดสินใจเดินทางไปถึงค่ายมวยลูกทรายกองดิน ด้านในซอยประชาร่วมใจ 20 แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา เพื่อนั่งลงพูดคุยกับ อัยด้า ถึงโอกาสสำคัญในชีวิตสำหรับนักมวยหญิงที่เติบโตมากับกีฬามวยไทยมาตลอดชีวิต 

 

ค่ายลูกทรายกองดิน ค่ายมวยที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ คุณพ่อลูก 16 คน 

 

 

ภาพแรกที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าดึงดูดสายตามากที่สุดนับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสู่ค่ายมวยลูกทรายกองดิน ค่ายมวยที่ตั้งชื่อตามแขวงทรายกองดิน คือภาพถ่ายและหนังสือพิมพ์ที่ถูกบรรจงแปะบนกำแพงค่ายจนเกือบเต็มทุกพื้นที่ 

 

ภาพนั้นมีนักมวยชื่อดังทั้ง แมนนี ปาเกียว ที่ถ่ายคู่กับนักมวยที่เป็นลูกชายของ นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ คุณพ่อของอัยด้า และลูกๆ ทั้งหมด 16 คนที่เดินสายเป็นนักมวยไทย ทั้งผู้ชายและผู้หญิง 

 

 

ภาพของ นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ กับช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ และช่วงเวลาอื่นๆ ของลูกๆ บนเส้นทางการเป็นนักมวยไทยเหมือนกับที่เขาเคยเป็นในอดีต 

 

“พ่อสร้างที่นี่ขึ้นมาก็เพื่อให้ลูกๆ ไม่หลงผิดไปกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายล้อมพื้นที่แห่งนี้” อัยด้าเดินเข้ามาถึงพื้นที่ค่าย และตอบคำถามเราถึงที่มาของค่ายมวยแห่งนี้ 

 

“ชื่อค่ายก็ตามตำบลเลย ลูกทรายกองดิน” 

 

ระหว่างที่เรากำลังนั่งสัมภาษณ์กันอยู่ ก็มีเสียงคนตะโกนมาจากพื้นที่ด้านนอกเวที 

 

“ยู ยู ยู!” ชายคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยหนวดเคราเดินเข้ามาประชิดประตู และรั้วเหล็กที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันคนนอกไม่ให้เข้ามายังเวที 

 

 

ชายคนนั้นคือคนสติไม่ดีในพื้นที่ ซึ่งอัยด้าเล่าให้เราฟังว่า

 

“พื้นที่แห่งนี้เป็นแบบนี้มาตลอดเลยพี่ นี่แหละสาเหตุที่พ่อสร้างค่ายมวยขึ้นมา เพื่อให้พวกเราทุกคนมีเส้นทางอาชีพมวยที่ห่างไกลจากยาเสพติด และสิ่งต่างๆ ในพื้นที่นี้ ที่มีโอกาสทำให้เด็กหลงผิดได้ทุกเมื่อ” อัยด้ากล่าวต่อ 

 

“หนูเองก็เป็นนักมวยไทยเพราะเหตุผลนี้เอง” เป็นคำที่อัยด้าพูดขึ้น หลังจากที่คนสติไม่ดีเดินจากไป และเราได้โอกาสนั่งลงพูดคุยกันถึงโอกาสที่เธอกำลังจะได้รับที่เวทีราชดำเนิน 

 

จุดเริ่มต้นการเป็นนักมวยไทย 

 

 

สมัยเด็กๆ เลยคุณพ่อคุณแม่เริ่มเปิดค่ายมวย เราก็ตามกันมาเป็นนักมวย เห็นพี่เล่นก็อยากลองบ้าง เริ่มต้นชกมวยไทยตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จำได้ว่ามีพี่ชายและพี่สาวเป็นต้นแบบ เราอยากที่จะเดินตามเขาไปเป็นนักมวยไทย 

 

จำได้ว่าพอขึ้นชกครั้งแรก ก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บ รู้สึกสนุก ท้าทายตัวเองมาก และได้ค่าตอบแทนด้วย เท่ดีเป็นนักมวยหญิง ก็เลยชอบตั้งแต่แรกเลยที่ขึ้นชกมวยไทย 

 

ตอนแรกคิดว่าเราได้ค่าขนม มีสตางค์กินขนมโดยไม่ต้องขอแม่ ได้มา 200-300 บาทก็ดีใจแล้ว มีความสุขมากที่ได้ซื้อของเล่น ได้ซื้อของที่อยากได้ในตอนนั้น ตอนนี้เราก็เปลี่ยนแปลงความคิดว่าสร้างรายได้ 

 

ไฟต์แรกของเราต่อยตอนอยู่ ป.1 ที่สนามหลวง มีเวทีมาจัด ทั้งครอบครัวเราชกทุกคน ผลไฟต์แรกออกมาเราแพ้คะแนน แต่ต่อยสนุกมาก 

 

วันแรกที่ขึ้นชกมีความเหนื่อยและเจ็บ แต่ก็สนุกดีและเห็นว่าไปต่อได้

 

มาจนถึงวันนี้อายุ 20 ปี ก็ผ่านมาแล้วกว่า 100 ไฟต์ 

 

การเติบโตในครอบครัวนักมวย? 

 

 

เราได้หลายอย่างจากการเติบโตในครอบครัวที่เต็มไปด้วยนักมวยไทย เราได้ความอดทน ความกล้า หลายอย่างที่มีในครอบครัว 

 

เวลาเราไปชกทุกไฟต์ก็มีคนในครอบครัวไปรอบเวทีให้กำลังใจ 

 

คุณพ่อก็จะเป็นคนผลักดันคนสำคัญของเราทุกคน 

 

เขาเป็นคนที่ให้การสนับสนุนทุกเรื่อง ทั้งพ่อ แม่ และครอบครัว 

 

แพ้ก็มาให้กำลังใจเราสู้ต่อ

 

พ่อก็มักจะให้แง่คิดกับทั้งในสนามแข่งขัน และการออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เขาจะสอนว่าอันไหนผิดถูก ควรทำหรือไม่ควรทำ 

 

สิ่งที่เรายึดเป็นหลักในการชีวิตคือ พ่อจะสอนให้เรารู้ถึงศาสนา ต้องนับถือไว้เลย 

 

เราเดินตามศาสนา และก็จะได้ชีวิตที่ดีขึ้น 

 

ในศาสนาอิสลาม เราก็ได้ละหมาดตั้งจิตก่อนไฟต์ว่าเราจะตั้งใจทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้เรามีแรงสู้ต่อ ตั้งใจละหมาด 

 

ศาสนาก็มีส่วนผลักดันอย่างมากในชีวิตการเป็นนักมวยของเรา 

 

สิ่งที่ผลักดันเราในการต่อยมวย? 

 

 

เรามักจะนึกถึงอนาคต เพราะไฟต์นี้ถ้าเราทำออกมาได้ดีครั้งต่อไปก็จะมีเรียกเราไปชกรายการใหญ่บ้าง และทำให้เรามีชื่อเสียงขึ้นไปอีก 

 

ที่ผ่านมาก็เคยไปต่างประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง 

 

ครั้งแรกตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยไปเลย เราก็ได้โอกาสไปชกที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา 

 

 

ตอนแรกแฟนมวยต่างชาติเราก็รู้สึกดีมาก เพราะหนูไม่คิดว่าจะมีคนญี่ปุ่นรู้จักหนูด้วย 

 

เพราะด้วยความที่เราไม่เคยไปชก แต่พอเราไปเขาเข้ามาขอถ่ายรูป เรารู้สึกว่า โหเขา ให้ความสนใจเรามากๆ ทั้งที่เรายังไม่เคยออกนอกประเทศไทยเลย 

 

มันเป็นแรงผลักดันให้เราอยากสู้ต่อไป แม้ว่าไฟต์ต่างประเทศครั้งแรกของเราจะแพ้มาก็ตาม 

 

ทุกครั้งที่เราแพ้ก็เป็นแรงผลักดันเหมือนกันว่าเราต้องกลับมาดูจุดบกพร่อง จุดที่เราต้องทำให้ดีขึ้น ต้องแก้ไข และก็พัฒนาไป อย่าไปท้อ เราต้องไปต่อ 

 

เล่าถึงหนึ่งวันของเราในการเตรียมขึ้นชกครั้งแรกที่ราชดำเนิน? 

 

 

ตั้งแต่รับรายการมาวันที่รู้ก็เริ่มซ้อมเลย เริ่มซ้อม พักผ่อน เพราะเราต้องใช้ร่างกายสู้กับเขา เราต้องพร้อมมากกว่าเขา 

 

ตอนเช้าหนูจะตื่นมาตีห้าครึ่งลุกขึ้นมาเตรียมตัว หกโมงเช้าออกวิ่งประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วก็กลับมาค่าย มาตีกระสอบทรายต่อ 

 

ไฟต์ก่อนๆ ไม่เคยทำขนาดนี้ แต่ไฟต์นี้เป็นไฟต์พิเศษที่ทำให้เราตั้งใจมากขึ้น เราต้องทำได้ดีกว่าคนอื่น เราจึงฝึกซ้อมมากขึ้น เตะกระสอบ วิดฟื้น เล่นดัมเบล สร้างกล้ามเนื้อ

 

จบโปรแกรมก็กลับมาอาบน้ำ นอนพัก ก่อนที่จะเริ่มซ้อมอีกครั้งในช่วงเย็นตั้งแต่ 4 โมงเช้าเป็นต้นไปจนถึง 6 โมงเย็น 

 

การเป็นนักกีฬามวยหญิง? 

 

 

จริงๆ ก็มีสิ่งที่เราต้องเสียสละก็คือช่วงเวลาชีวิต คนอื่นจะได้เที่ยว เราก็ไม่ได้ไป เปลี่ยนจากเที่ยวเราก็ฝึกซ้อม เพื่อที่จะได้ไปสู้กับคนอื่น 

 

เราเองก็ต้องมีวินัยตลอด ซึ่งมาจากใจของเราเองที่ตั้งใจตลอด เพราะเราขี้เกียจไม่ได้ 

 

มวยหญิงเองก็ถูกมองว่าอ่อนแอกว่า จะต่อยได้เท่ามวยชายหรือเปล่า 

 

ซึ่งเรามองว่าไม่จริงและไม่เกี่ยวเลย เพราะมองว่าอยู่ที่ใจมากกว่า 

 

เพราะมวยหญิงเองเราก็ยอมรับว่าสภาพร่างกายจะอ่อนแอกว่าผู้ชาย อันนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับและเข้าใจได้ 

 

แต่หนูคิดว่าความอดทน และความแข็งแกร่งของผู้หญิงไม่แพ้ผู้ชายในโลก 

 

เวลาที่เราเปรียบเทียบกีฬามวยไทยระหว่างชายและหญิงมันไม่ใช่ว่าใครแข็งแกร่งกว่า หรือใครเร็วกว่า 

 

แต่เป็นแค่สไตล์ที่แตกต่าง เราต่างกันแค่เพศเฉยๆ แต่มวยก็มีความสนุกเหมือนกัน 

 

ส่วนช่วงเวลาอาชีพของนักมวยหญิง ก็จะเริ่มต้นตั้งแต่เด็กประมาณ 7-8 ขวบ ก้าวไปถึงช่วงพีคก็คือประมาณ 20 ปีถึง 20 ช่วงปลายเกือบ 30 ปี ก็คือช่วงท้ายอาชีพ 

 

เราก็ยอมรับว่าร่างกายผู้หญิงเองก็ต้องมีครอบครัว มีลูก และก็จะเปลี่ยนแปลงไป อาจจะจบเส้นทางเร็วกว่านักมวยชาย 

 

ความคาดหวังของตัวเราในการเป็นมวยหญิงคู่แรกในประวัติศาสตร์ของราชดำเนิน

 

 

เรามองว่าไม่กดดัน เพราะเรามองว่าเป็นความภาคภูมิใจของเรามากกว่า เหมือนทำให้นักมวยหญิงทุกคน ไม่จำเป็นต้องชกเวทีมาตรฐาน แต่ให้เรามองข้ามไปถึงระดับโลกได้ ในการที่เรามายืนอยู่ในจุดจุดนี้ 

 

การที่เราเป็นนักมวยหญิงที่ขึ้นชกเป็นคนแรก เราก็อยากให้ทุกคนเห็นฝีไม้ลายมือของเรา โชว์ความสามารถของเราอย่างเต็มที่ให้สุดพลัง 

 

ในโอกาสพิเศษนี้ หนูก็อยากแสดงตัวตนออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว การทำให้คนดูรู้สึกสนุก สร้างให้คนได้จดจำเราว่านี่คือมวยหญิงคนแรกที่ได้ขึ้นชก 

 

ส่วนคู่ชกของหนู ซาร่าห์ วีนั่มมวยไทย นักมวยชาวอิหร่าน เคยได้ดูเขาชก 2 ครั้ง เพราะเป็นการชกกับพี่สาวของหนูทั้ง 2 ครั้งเลย 

 

เราก็ศึกษามาพอสมควร และได้อินไซด์มาจากพี่ๆ ที่เคยชกกับเขาแล้ว 

 

 

“ความคาดหวังในตัวเองเราก็มีอยู่ทุกไฟต์ ใครๆ ก็อยากได้แชมป์ทั้งนั้น แต่กว่าที่เราจะได้แชมป์เราต้องเต็มที่กับโอกาสที่อยู่ข้างหน้าเราก่อน แต่ละไฟต์เราต้องทำให้เต็มที่ เพื่อชัยชนะที่จะทำให้เราได้ไปต่อ”

 

เป้าหมายของเราก็คือการเป็นแชมป์ และอยากให้ทุกคนยอมรับในมวยหญิง ยอมรับว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักมวยชายถึงจะมีชื่อเสียงและโด่งดังได้ มวยหญิงก็สามารถทำได้ เป็นผู้หญิงก็สามารถทำได้ 

 

เราอยากให้วันหนึ่งมวยหญิงเป็นคู่เอกของรายการที่ทุกๆ คนมารอดู นั่นคือปลายทางที่อยากจะเห็น 

 

ที่ผ่านมามวยหญิงมีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะได้เข้าถึงอะไรแบบนี้ เพราะส่วนมากวงการมวยก็คือมองข้ามวงการมวยหญิงไปหมดแล้ว และจะให้ความสำคัญกับนักมวยชายมากกว่า 

 

“ตัวเราเองในฐานะนักมวยหญิง เราก็ไม่ได้เรียกร้องที่อยากจะได้มากกว่านักมวยชาย แต่เราแค่อยากได้เท่ากันเท่านั้นเอง”

 

 

อีกสิ่งที่เราอยากจะให้ทุกคนในวันนั้นที่ราชดำเนินได้เห็นคือ เราอยากบอกกับทุกคนว่า มวยไทยไม่แย่อย่างที่คิด มันเป็นทั้งศิลปะการต่อสู้ และเป็นศิลปะการป้องกันตัวของตัวเอง โดยเฉพาะนักมวยหญิง เอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ มาต่อสู้ เอามาเก็บไว้ป้องกันตัวเอง 

 

อยากให้ได้เรียนรู้และได้ลองเรียนมวยไทยดู 

 

นักกีฬาที่เราชื่นชอบมากที่สุดในโลก? 

 

เนย์มาร์ ศูนย์หน้าทีมชาติบราซิล จากสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง 

 

มีค่ะ เป็นนักฟุตบอล เนย์มาร์ ชอบมาก 

 

เขาเตะบอล แต่เราเห็นว่าเขามีชื่อเสียงมาก คนรู้จักทั่วโลก 

 

ก็ตามเชียร์ทีมเขาเป็นหลัก ตั้งแต่เห็นเขาในศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ผ่านมา 

 

เนย์มาร์เป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ชอบเลย 

 

หนูชอบตัวตนของเขา ดูเป็นนักกีฬาที่เอ็นเตอร์เทนคนดู ไม่หยิ่ง และเล่นกับแฟนคลับ เป็นกันเอง เข้าถึงง่าย 

 

เป็นต้นแบบนักกีฬาที่เราอยากจะเป็น 

 

เป็นนักกีฬาที่เป็นตัวของตัวเองได้ แล้วก็มีความสามารถด้วย 

 

ส่วนนักกีฬามวยหญิงที่ชื่นชอบก็คือพี่สาว ส่วนนอกครอบครัวก็คือ พี่โลมา ลูกบุญมี หรือ สุภิสรา คนหลัก นักมวยไทยคนแรกที่ได้ไปขึ้นชกในศึกมวยกรง UFC 

 

โลมา ลูกบุญมี หรือ สุภิสรา คนหลัก นักมวยไทยคนแรกที่ได้ไปขึ้นชกในศึกมวยกรง UFC 

 

นี่ก็เป็นอีกคนที่สร้างแรงบันดาลใจในการเป็นนักมวยหญิงมาก แล้วเราก็อยากเป็นแบบพี่โลมา ที่ไปต่างประเทศ และให้เขาได้รับรู้ถึงมวยไทยที่แท้จริง 

 

ส่วนนักมวยชายที่ชื่นชอบที่สุดก็คือ ตะวันฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม เป็นนักมวยไทยเบอร์หนึ่งที่คงไม่มีใครสู้เขาได้แล้วตอนนี้ 

 

 

ตะวันฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม นักมวยไทยอันดับต้นๆ ของวงการที่ชกอยู่ในศึก ONE Championship 

 

หลังจบการสัมภาษณ์ อัยด้าได้พาเดินทัวร์ค่ายมวยอีกครั้งเพื่อเริ่มอธิบายภาพต่างๆ บนผนัง 

 

“ภาพนี้เป็นภาพของพี่สาวหนู คนนี้เลิกชกไปแล้ว แต่ตอนที่ไปชกต่างประเทศครั้งหนึ่ง เคยโดนวางยาระหว่างแข่งขัน เป็นขวดน้ำใครไม่รู้ที่เอามาวางขอบเวที ทีมเราก็คิดว่าของพวกเราเอง ก็ดื่มไปสรุปหมดแรงระหว่างชก หลังจากนั้นพ่อก็กำชับเราทุกคนให้ดูแลน้ำดื่มกันเองแบบใกล้ชิด” อัยด้าเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์อีกด้านของวงการมวยไทย 

 

 

ก่อนที่เราจะเดินทางกลับ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งเข้ามาพร้อมกับไม้สั้นๆ และทำท่าทางแปลกๆ และวิ่งเข้าไปจนถึงในบ้านของญาติของอัยด้าในซอย

 

“คนนี้มาทุกวันพี่ สมัยก่อนเป็นครูสอนศาสนา เป็นสาวสวย แต่หลังจากเลิกกับแฟน เขาก็กลายเป็นแบบนี้ ดูไม่ปกติอีกเลย 

 

“รอบข้างค่ายเป็นเแบบนี้ทุกวัน สมัยก่อนที่ค่ายเล็กกว่านี้ยังไม่มีประตู ก็จะมีเยอะมากทั้งคนติดยา คนบ้า เข้ามาในค่าย 

 

“เราก็ต้องคอยไล่ หนูคิดว่าถ้าพ่อไม่สร้างค่ายมวยขึ้นมาให้พวกเรา พวกหนูเองก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะหลงผิดไปได้กับสภาพแวดล้อมในบริเวณที่เป็นแบบนี้” 

 

อัยด้ากล่าวทิ้งท้ายก่อนจะตะโกนไล่ผู้หญิงคนดังกล่าวที่ทำท่าเหมือนจะกำลังเดินออกจากค่ายไป

 

แต่ก่อนออกเธอได้หันหน้าเข้าไปพยายามเปิดประตูบ้าน ซึ่งอัยด้าก็ตะโกนไล่อีกครั้งแต่ครั้งนี้หญิงดังกล่าวไม่ไป และยังพยายามจะเปิดประตูอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้าย อัยด้าจึงตัดสินใจหยิบเศษลังกระดาษและวิ่งไปไล่ผู้หญิงคนนั้นออกจากพื้นที่ค่าย 

 

 

วงการมวยไทย โดยเฉพาะในซีรีส์ที่ Hurts Like Hell บน Netflix ที่อิงโครงเรื่องมาจากวงการมวย วันนี้ยอมรับได้ว่า เราได้เห็นหลายอย่างที่ใกล้เคียงกับในซีรีส์ ทั้งการที่อัยด้าเล่าให้ฟังว่าเธอชกมวยตั้งแต่เด็ก พี่สาวโดนวางยา และมวยไทยคือทางออกของปัญหาที่พบเจอต่างๆ 

 

 

สิ่งที่มากกว่าการเป็นนักมวยหญิงที่เธอยอมรับว่าถูกวงการมวยไทยมองข้ามไป และยังคงได้รับโอกาสน้อยกว่านักมวยชาย 

 

แต่วันนี้การตัดสินใจของเวทีราชดำเนิน แม้ว่าจะเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการพยายามยกระดับมาตรฐานของเวทีให้มีความเป็นสากลมากขึ้น 

 

ด้วยคุณค่าที่เปิดกว้างให้โอกาสทางเพศอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ก็นับเป็นก้าวสำคัญก้าวแรก เพราะการที่เวทีหลักของประเทศไทยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด 

 

ตัดสินใจทำสิ่งใดก็ตาม ก็อาจจะได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างว่านี่คือมาตรฐานใหม่ของวงการมวย 

 

ซึ่งวันที่ 5 สิงหาคม ก็คือวันที่เวทีมาตรฐานของวงการมวยไทยที่เก่าแก่ที่สุด เปิดให้นักมวยหญิงได้ชกเป็นครั้งแรก และหวังว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐาน ทั้งการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของนักมวยหญิงให้ดีขึ้นได้ตามเป้าหมายของอัยด้า ที่ไม่ได้ต้องการมากกว่านักมวยชาย แต่ต้องการให้เท่าเทียมกัน เพียงเท่านั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising