หากลองดูการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของโลกอย่างข้อมูลที่คาดการณ์โดย Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านธุรกิจไอที การเงิน และด้านอื่นๆ ซึ่งในแต่ละปี Gartner จะจัดทำสิ่งที่เรียกว่า Hype Cycle for Emerging Technologies ออกมา โดยเจ้า Hype Cycle เหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจของเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นๆ
5 Trends Drive the Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies, 2020
จาก Hype Cycle for Emerging Technologies, 2020 จะเห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ AI เป็นเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้น และมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีถัดจากนี้
จากเทรนด์ดังกล่าวทำให้ Artificial Intelligence หรือ AI กลายมาเป็นหนึ่งในธีมการลงทุนที่หลายคนมองว่าเป็น ‘โอกาส’ สำหรับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่ามีกองทุนในลักษณะ Thematic ที่เน้นลงทุนในด้าน AI เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
โดยในปีที่ผ่านมากองทุนเหล่านี้ต่างให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างน่าสนใจ โดยเว็บไซต์ ETF.com ระบุว่า กองทุน ETF ที่เน้นลงทุน AI ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาคือ ARK Autonomous Technology & Robotics ETF (ARKQ) ให้ผลตอบแทนสูงถึง +124.51%
แม้ AI จะเป็นเทรนด์อนาคต แต่ก็ต้องยอมรับว่าราคาหุ้นของธุรกิจเหล่านี้ก็ปรับตัวขึ้นมาไม่น้อย หากต้องการจะเข้าลงทุนในกองทุน AI เราควรจะพิจารณาปัจจัยสำคัญอะไรบ้าง
วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย Investment Management บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ช่วยให้มุมมองเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุน AI สำหรับประกอบการพิจารณาการลงทุน
ดีมานด์เติบโตในระยะยาว แต่ระยะสั้นอาจวิ่งไม่ทันราคาหุ้น
วิริยะชัยกล่าวว่า หนึ่งในกองทุน AI ที่ทำผลงานได้ค่อนข้างดีสำหรับปี 2562-2563 ที่ผ่านมาคือ กองทุนเคแทม เวิลด์ เทคโนโลยี อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-WTAI) ของ บลจ. กรุงไทย ซึ่งในปี 2562 ให้ผลตอบแทนราว 26% ส่วนปี 2563 ให้ผลตอบแทนอีกกว่า 70% คิดง่ายๆ คือลงทุน 2 ปีในกองทุนนี้ ได้ผลตอบแทน 100%
หากใช้กองทุน KT-WTAI เป็นตัวแทนในการพิจารณาจะสะท้อนให้เห็นว่าหุ้นกลุ่ม AI ปรับขึ้นมาถึง 100% ในขณะที่ความต้องการใช้ (Demand) ต่อ AI เติบโตราว 30-40%
“ปัจจุบันราคาหุ้นในกลุ่มนี้นำหน้าความต้องการใช้ไปแล้ว แต่ถ้าวิเคราะห์พื้นฐานของ AI ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ดีมานด์ยังมีอยู่แน่นอน และโควิด-19 ที่เข้ามากระทบก็เป็นหนึ่งในตัวเร่งดีมานด์ต่อ AI ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อย่าง กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโลจิสติกส์”
เราจะเห็นตัวอย่างของบริษัทยักษ์ใหญ่ อาทิ Walmart ก็นำ AI เข้ามาใช้ และเมื่อผู้เล่นรายใหญ่ขยายธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น ก็จะต้องใช้ AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการมากขึ้น
หรืออย่างกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) ที่เราอาจจะพอเห็นข่าวเรื่องการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด หรือการนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ผู้ป่วย ซึ่งในอดีตอาจจะเป็นแค่เพียงการติดตาม แต่การพัฒนา AI ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ละเอียดมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์อาหารที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปว่าส่งผลให้ค่าต่างๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมถึงการศึกษาแนวทางป้องกันและรักษาโรคในอนาคต
นอกจากนี้ประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราเริ่มเห็นสหรัฐฯ ลงทุนพัฒนาและย้ายฐานการผลิตกลับไปยังฝั่งตะวันตกมากขึ้น รวมถึงในสหรัฐฯ แต่ด้วยต้นทุนค่าแรงที่ยังคงสูงกว่า ทำให้หลายบริษัทพยายามนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้มากขึ้น
การทยอยเข้าลงทุนน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม
วิริยะชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นหรือกองทุนธีม AI การวิเคราะห์ ‘Timing’ อาจทำได้ยาก เพราะฉะนั้นการทยอยเข้าลงทุน โดยอาจจะเป็นลักษณะของการใช้กลยุทธ์ Dollar-Cost Averaging (DCA) หรืออาจจะเป็นการเข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นย่อตัวในระดับที่กำหนดไว้ เช่น 10% จากจุดสูงสุด
“การทยอยเข้าซื้อโดยไม่พยายามที่จะคาดเดาตลาดจะช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่ราคาหุ้นผันผวนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ติดตามข้อมูลได้ค่อนข้างละเอียด อาจจะพิจารณาจาก Fund Flow ของกองทุน ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ประกอบการตัดสินใจลงทุน”
เปรียบเทียบกองทุนไทยที่เน้นลงทุนธีม AI
สำหรับกองทุนไทยเด่นๆ ที่เน้นลงทุนในธีม AI หนึ่งในนั้นคือ เคแทม เวิลด์ เทคโนโลยี อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-WTAI) ซึ่งให้ผลตอบแทนราว 100% นับแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อกลางปี 2561 ขณะที่อีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจคือกองทุนเปิด แอสเซทพลัส โรโบติกส์ (ASP-ROBOT)
เทียบผลงาน 2 กองทุนที่เน้นลงทุนธีม Artificial Intelligence (AI) ซึ่งผลงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างโดดเด่น และยังทำได้ดีต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2564
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล