×

เปิดตัวแพลตฟอร์ม AI เพื่อการแพทย์ไทย แชร์-เชื่อม-ใช้ ข้อมูลภาพ 2.2 ล้านภาพ ยกระดับสาธารณสุขชาติ

โดย THE STANDARD TEAM
21.04.2025
  • LOADING...
ai-medical-platform-thailand

วันนี้ (21 เมษายน) ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัว ‘แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์’ (Medical AI Data Platform) อย่างเป็นทางการ ภายในงานสัมมนา Medical AI Consortium: ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้ ‘ข้อมูล’ ขับเคลื่อน AI เพื่อการแพทย์ไทย โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ผศ.(พิเศษ) นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช., ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ ลุมพินี กรุงเทพฯ

 

แพลตฟอร์มดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ไทย ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลภาพทางการแพทย์จากทั่วประเทศกว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุม 8 กลุ่มโรคสำคัญ อาทิ โรคทรวงอก มะเร็งเต้านม โรคตา โรคช่องท้อง โรคผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคกระดูกพรุน เพื่อใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิเคราะห์และช่วยวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

 

ศุภมาสกล่าวว่า กระทรวง อว. มุ่งส่งเสริมการพัฒนา AI ผ่านนโยบาย ‘อว. for AI’ โดยการแพทย์ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ เนื่องจาก AI สามารถช่วยเสริมศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และสร้างมาตรฐานใหม่ในการรักษาพยาบาล พร้อมเชิญชวนโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ ร่วมแบ่งปันข้อมูล และร่วมพัฒนาโมเดล AI ที่สามารถใช้งานจริง

 

ด้าน ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุว่า แพลตฟอร์มนี้พัฒนาโดยเนคเทค สวทช. ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

 

  • Data Management ระบบจัดเก็บและกำกับข้อมูลภาพทางการแพทย์อย่างปลอดภัย
  • AI Modeling การฝึกสอนโมเดล AI ด้วยแพลตฟอร์ม NomadML ที่ใช้งานง่ายโดยไม่ต้องเขียนโค้ด
  • AI Service Deployment การนำ AI ที่ผ่านการพัฒนาไปใช้งานจริงในระบบบริการสุขภาพ

 

ปัจจุบันได้พัฒนา โมเดล AI ต้นแบบ 2 บริการ ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรและเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย พร้อมเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับ Medical AI Consortium ซึ่งประกอบด้วย 6 สถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล, จุฬาฯ, ม.เชียงใหม่, ม.สงขลานครินทร์, และวชิรพยาบาล

 

แพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรวมข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยเปิดกว้างให้นักวิจัย นักศึกษา และภาคเอกชนร่วมพัฒนานวัตกรรม AI ที่ใช้ได้จริง เพื่อยกระดับระบบสุขภาพของไทยให้ก้าวทันโลก

 

“นี่คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา AI ทางการแพทย์อย่างยั่งยืน” ศุภมาส กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising