×

AI ไม่ใช่แค่เรื่องของเทค แต่คือ ‘ทางรอด’ ของเศรษฐกิจ แรงงานไทยพร้อมไหม? กมธ. AI ไทยนำประเทศเดินหน้าต่ออย่างไร?

13.06.2024
  • LOADING...

“ยุคหลัง Generative AI จะเป็นยุคที่การมีวุฒิการศึกษาสูงไม่ได้เป็นตัวการันตีว่างานของคุณจะปลอดภัย”

 

ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. เคยกล่าวคำนี้ไว้เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานที่กำลังจะมาถึงเมื่อ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยงานวิจัยจาก McKinsey เคยประเมินเอาไว้ว่า ผลกระทบของ AI จะแผ่ขยายไปยังแรงงานทุกคนในทุกระดับการศึกษา ซึ่งเป็นภาพที่ต่างจากสมัยก่อนที่ความเสี่ยงในการถูกดิสรัปต์ของกลุ่มคนที่เรียนสูงก็ย่อมต่ำกว่าคนที่เรียนน้อยกว่า แต่ภาพในวันนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะความเสี่ยงดังกล่าวแทบจะไม่ต่างกันเลย

 

ในปัจจุบัน หลายคนคงได้เห็นแล้วว่าพัฒนาการ AI เดินหน้าไปอย่างก้าวกระโดด กระโดดถึงขั้นที่ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ViaLink ระบุไว้ในโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ศักยภาพของ AI ล่าสุดเรียกได้ว่าเก่งกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ไปแล้ว ทั้งลึก เก่งงานเฉพาะทาง ทั้งกว้าง ทำงานรูทีนดีหรือเก่งกว่า ทั้งสร้างสรรค์กว่า เริ่มมีการทำงานเป็นทีม ทำงานแบบ Multimodel ได้ คือ AI หลายรูปแบบรวมกัน”

 

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ได้จัดประชุมหารือประเด็นตลาดแรงงาน การศึกษา และแนวทางของประเทศไทยต่อ AI ไว้หลากหลายแง่มุม ซึ่ง THE STANDARD WEALTH ขอสรุปทั้งหมดมาดังต่อไปนี้

 

ภัยรอบด้านไทย: ภาระหนี้ ค่าครองชีพสูง แถม AI เข้ามาแทนงานรูทีน

 

ตลาดแรงงานไทยกำลังเผชิญกับภาวะที่ท้าทาย เพราะนอกจาก AI ที่กำลังเริ่มเข้ามาแทนที่งานในหลายประเภทมากขึ้น แรงงานไทยเองก็กำลังเจอกับความอ่อนล้าจากค่าแรงเฉลี่ยของไทยและทั่วโลกแทบไม่เพิ่มขึ้นเมื่อหักเงินเฟ้อ

 

หากเราไปดูที่ข้อมูลเงินสำรองของสังคมไทยจะพบว่า 88% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด 93 ล้านบัญชีมีเงินน้อยกว่า 50,000 บาท และ 80% ในจำนวนนั้นมีไม่ถึง 5,000 บาท อีกทั้งหนี้ครัวเรือนก็กำลังมุ่งหน้าไปแตะที่ 100% ของ GDP 

 

ดร.ณภัทร ยังให้ข้อมูลว่า งานที่คนไทยส่วนใหญ่ทำในปัจจุบันราว 70-85% คืองานซ้ำๆ เดิมๆ (Routine) ที่แทบจะไม่ช่วยเสริมทักษะเลย

 

พอภาพเป็นแบบนี้และมีเทคโนโลยี AI เข้ามาอยู่ในสมการ นัยต่อตลาดแรงงานไทยจึงมีความเป็นไปได้ 4 แบบ

 

  1. แรงงานไทยบางประเภทจะเป็นที่ต้องการของตลาดน้อยลง และแม้ว่าจะยังมีงานทำ แต่รายได้ก็อาจไม่เพียงพอต่อการรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิต
  2. แรงงานไทยบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในบริบทของบทความนี้ก็คือ AI และอาจส่งผลให้การถูกกลับมาจ้างงานเป็นไปได้ยากมากขึ้น เหมือนดั่งที่ม้าถูกแทนที่ด้วยรถยนต์
  3. ในกรณีที่แรงงานปรับตัวได้ ทักษะใหม่บางส่วนจะเกิดขึ้นและเปิดโอกาสให้มนุษย์เข้าถึงงานรูปแบบใหม่
  4. สำหรับกรณีที่ดีที่สุดคือแรงงานโอบรับความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทักษะใหม่กับทักษะเสริม ส่งผลให้แรงงานประเภทนี้เป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งก็ตามมาด้วยรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

 

สำหรับประเทศไทย เราจะลงเอยกับฉากทัศน์ตลาดแรงงานแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ว่าจ้างและพนักงานในวันนี้

 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการหาทิศทางที่จะเดินหน้าต่อก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และนั่นเป็นเหตุผลที่ตอนนี้ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งเราขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘กมธ. AI’ 

 

กมธ. AI คืออะไร มีไว้เพื่ออะไร?

 

สยาม หัตถสงเคราะห์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวกับสื่อมวลชนถึงจุดประสงค์การก่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้ว่า “วันนี้ AI มาถึงแล้ว ซึ่งโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือการหาทางรับมือกับเทคโนโลยีและกำกับดูแล พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน”

 

กมธ. AI ถือเป็นหน่วยงานอิสระที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งภาคเอกชนและรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ดร.สันติธาร เสถียรไทย, ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์, ธีระชาติ ก่อตระกูล, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปจนถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และอื่นๆ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่รวมบุคลากรแนวหน้าเข้ามากำกับดูแลผลกระทบที่ AI จะมีต่อประชาชนไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกรรมการเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนานโยบายเรื่องนี้ต่อไป

 

ภาพรวมการศึกษาของ กมธ. มี 3 ด้านคือ 1. ส่งเสริม 2. กำกับดูแล และ 3. เตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง

 

อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นที่ต้องหาทางแก้ไขจากข้อมูลในที่ประชุม คือการขาดฐานข้อมูลที่บ่งชี้ได้ว่าแรงงานไทยแต่ละคนถนัดอะไร และการจัดสรรงบประมาณสำหรับส่งเสริมและดูแลด้าน AI ที่ยังขาดความชัดเจนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการมองว่าจำเป็นต้องหารือกันกับสำนักงานงบประมาณ

 

สำหรับแนวทางแก้ไขการขาดฐานข้อมูลแรงงานไทย การเข้าใจบริบทปัจจุบันกับการใช้งาน AI ในประเทศไทยเป็นประเด็นที่สำคัญมาก โดยทุกคนสามารถเข้าไปแชร์ข้อมูลการใช้งานของตัวเองได้ที่ thaith.ai ซึ่งอินไซต์จากประชาชนที่ทำงานหรือใช้งาน AI จะช่วยเป็นสารตั้งต้นให้แผนพัฒนาแรงงานสำหรับอนาคตทำได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

 

คว้าโอกาส AI พร้อมกับเข้าใจความเสี่ยง

 

หนึ่งในประเทศอาเซียนที่ขยับเร็วเรื่อง AI คือสิงคโปร์ พวกเขายอมรับว่าเทคโนโลยีนี้มีความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับโอกาส โดยใจความสำคัญของการเดินหน้าในสิงคโปร์คือต้องสร้าง ‘ระบบนิเวศ Generative AI ที่มีความน่าเชื่อถือ’ 

 

สิงคโปร์ไม่เน้นสร้างกฎหมายที่เป็นการห้ามหรือลดแรงจูงใจการใช้ AI มากเกินไป แต่เลือกใช้วิธีสร้างสมดุลระหว่างโอกาสและความเสี่ยง เน้นสร้างความโปร่งใสและมาตรฐาน แล้วปล่อยให้คนเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้งานด้วยตัวเอง เพื่อให้ผู้คนกล้าลอง กล้าเปิดรับ AI อย่างมั่นใจ และเน้นเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับการต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ 

 

ในส่วนของประเทศไทย ที่ประชุมมีการเสนอว่า เราจำเป็นต้องมี ‘AI Readiness’ หรือความพร้อมด้าน AI ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือสร้าง ‘ปัญญา’ ให้กับทุกคน โดยกรอบคิดที่เราควรจะเข้าใจให้ตรงกันคือ การไม่มอง AI เป็นนโยบายเทคโนโลยีมิติเดียว แต่ AI คือส่วนหนึ่งของนโยบายและ ‘ทางรอด’ เชิงเศรษฐกิจ แปลว่าการสร้างทักษะให้คนมีความรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ คือโจทย์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยยังอยู่ในบริบทการค้าโลกได้ท่ามกลางความกดดันต่างๆ 

 

ดร.ณภัทร เสนอว่าแนวทางต่อไปคือการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์และความเสี่ยงจาก AI ผ่านการให้แรงงานและนายจ้างได้ทดลองใช้เทคโนโลยีจาก AI ที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพื่อลดภาระงานรูทีนและให้โอกาสกับแรงงานได้มีเวลาปรับตัว

 

นอกจากนี้ ไทยอาจจำเป็นต้องพัฒนาฐานข้อมูลตลาดแรงงานเชิงลึกให้สามารถระบุได้ถึงทักษะกับตำแหน่ง และต้องคิดทบทวนใหม่เรื่องการจ้างงานที่ควรให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่าการรับประกันการว่างงาน และต้องไม่กดดันนายจ้างที่อยากใช้ AI สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

 

อีกประเด็นเร่งด่วนที่ต้องปรับโครงสร้างคือระบบการศึกษาสำหรับแรงงานยุคต่อไป ซึ่งอาจพิจารณาให้นักเรียนใช้ AI เป็นสื่อการเรียนรู้ ลดโอกาสที่เยาวชนจะต้องเสียเวลาเรียนทักษะที่หมดอายุและไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไปแล้ว ระบบการศึกษาจะได้ผลิตคนออกมาได้ตรงกับความต้องการของโลกปัจจุบัน แต่แน่นอนว่าส่วนนี้ก็อาจจำเป็นที่จะต้องมีกรอบการใช้งานที่ชัดเจน ไม่ให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้อย่างผิดวิธี

 

“อย่าเผลอตีกรอบการศึกษาให้แคบลง อย่าเลี้ยงเด็กๆ ให้ไฟแห่งการเรียนรู้มอดลง เราต้องปรับตัวให้ทันในระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว” ดร.ณภัทร ระบุทิ้งท้าย

 

ภาพ: Feodora Chiosea / Getty Images Plus

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X