วันนี้ (25 ตุลาคม) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ ‘แนวรบประเทศไทยยุค AI ‘New Business to New Economy’ วิสัยทัศน์จากผู้นำองค์กรชั้นนำ’ ในงานสัมมนาเชิงกลยุทธ์ Battle Strategy ‘เศรษฐกิจยุค AI โอกาสของไทยและความเสี่ยง The AI Economy: Opportunity and Threat for Thailand’ ซึ่งจัดโดยบริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีบี เอกซ์ (SCBX) และพันธมิตรชั้นนำ
ประเสริฐกล่าวว่า งานสัมมนานี้เป็นเวทีสำคัญยิ่งในการระดมสมองจากผู้นำหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและวางรากฐานอันมั่นคงให้กับประเทศไทย ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เทคโนโลยี AI เข้ามาดิสรัปต์ทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจ และวิถีชีวิตของผู้คน การปรับตัวให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
“AI กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ภาคส่วนหลัก”
ประเสริฐระบุว่า ภาคส่วนแรกคือ ภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
ประเสริฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคการดูแลสุขภาพ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นำมาซึ่งความท้าทายด้านการดูแลสุขภาพ AI จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคด้วย AI การแพทย์ทางไกล และการรักษาแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ แม่นยำ และรวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
สำหรับภาคการเกษตร ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรจำนวนมากประกอบอาชีพเกษตรกร AI จะเข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ การตรวจสอบพืชผลด้วย AI และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ขณะที่ ชาญชัย สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ระบุว่า การจัดเวทีสัมมนานี้ถือเป็นการจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมุมมองด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของโลกอย่างรวดเร็ว และกำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การเงินการลงทุน การแพทย์สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวัน AI เริ่มเข้ามามีบทบาท และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกระดับความสะดวกสบาย และสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำสมัยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สำหรับประเทศไทย การมาถึงของยุค AI นับเป็นทั้งโอกาสอันมหาศาลและความท้าทายที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ โอกาสในการนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เท่าทันต่อวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ต่อมา อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) นำเสนอวิสัยทัศน์ขององค์กรในประเด็น AI-first Organization โดยมองว่า ในยุคปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ ‘สถาบันการเงิน’ ที่ใช้ AI ในหลายด้าน ทั้งการทำความเข้าใจ การวิเคราะห์ความสามารถในการขอสินเชื่อของลูกค้า และเมื่อเทคโนโลยีมาถึงจุดที่พัฒนาขีดความสามารถ SCBx ก็นำมาใช้ในหลากหลายด้าน เช่น การให้ AI เข้าไปตรวจบัญชีตามความสามารถ ก็ทำให้ลดต้นทุนขององค์กร ทั้งเรื่องของบุคลากรและเวลาในการทำงาน อีกทั้งมีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับการพัฒนาบุคลากรที่ถูก AI เข้ามาดิสรัปต์ในระบบการทำงาน SCBx ให้พนักงานกว่า 20,000 คนเรียนรู้การใช้ AI ในการทำงานภายในองค์กร ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘ทุกคนมีโอกาสที่จะอยู่กับ AI แทนที่จะกลัวและซ่อนงานไว้ ไม่เช่นนั้นงานขององค์กรก็ขยับไม่ได้’
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีสัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารระดับสูงจาก Google Cloud Thailand และ Microsoft Thailand ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘AI Cloud: The Key to Unlocking Future Achievements’ และ ‘ความพร้อมของธุรกิจไทยกับ AI Opportunity’ เพื่อเปิดมุมมองบริษัทไอทีชั้นนำของโลกถึงศักยภาพของเทคโนโลยีคลาวด์ AI และโอกาสของธุรกิจไทย
ตลอดจน พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Intelligent Economics: Leveraging AI Amid Climate Challenges’ ซึ่งนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘คาร์บอนเครดิต’