เกิดอะไรขึ้น:
หลังการดำเนินงานที่แข็งแกร่งใน 1Q66 บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) คาดว่ายอดขายจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น YoY อย่างต่อเนื่องใน 2Q66 โดยได้แรงหนุนส่วนใหญ่จากธุรกิจ OEM ในประเทศไทยจากการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นและการผลิตตามคำสั่งซื้อใหม่: เพลารถกระบะ (มูลค่ารวม ~1,200 ล้านบาทต่อปีในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 700 ล้านบาทในปี 2565, เริ่มผลิตในช่วงปลาย 2Q65)
และคำสั่งผลิต Battery Shield และชิ้นส่วนประกอบตัวถัง EV ให้กับ VinFast ซึ่งเป็นผู้ผลิต EV ของเวียดนาม (~900-1,000 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มจาก ~300 ล้านบาทในปี 2565) คำสั่งซื้อของ VinFast มีการส่งมอบตามปกติใน 1Q66 ราว 300 ล้านบาท AH ยังคงตั้งเป้าว่ายอดขายชิ้นส่วน EV (ผลิตในฐานการผลิตทุกแห่ง: ประเทศไทย โปรตุเกส และจีน) จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2566 (จาก ~700 ล้านบาทในปี 2565)
ในเดือนเมษายน บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ AH (สัดส่วนการถือหุ้น 20%) ได้หยุดการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของแบรนด์ฮุนไดในประเทศไทย หลังจากบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ผู้ผลิตรถยนต์เกาหลีใต้) เข้ามาทำตลาดเอง บริษัทร่วมแห่งนี้สร้างส่วนแบ่งกำไรให้กับ AH จำนวน 111 ล้านบาท หรือ ~6% ของกำไรปกติในปี 2565 แม้ว่าส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจะลดลง แต่เชื่อว่าธุรกิจ OEM ที่แข็งแกร่งของ AH จะช่วยลดทอนผลกระทบดังกล่าวได้
ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ AH ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย แต่บริษัทคาดว่าผลกระทบจะมีจำกัด เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะที่ได้รับค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้บริษัทยังได้นำระบบ Automation มาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย ต้นทุนพนักงานทั้งหมดของ AH คิดเป็น 10% ของยอดขาย และเมื่อใช้สมมติฐานว่าต้นทุนพนักงาน 20% ได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น การวิเคราะห์ความอ่อนไหวบ่งชี้ว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 10% จะส่งผลกระทบต่อกำไรราว 2-3%
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AH ปรับเพิ่มขึ้น 8.59%MoM สู่ระดับ 34.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 0.77%MoM สู่ระดับ 1,540.97 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
InnovestX Research คาดว่ากำไรปกติของ AH จะเติบโต 8% สู่ 1,800 ล้านบาทในปี 2566 โดยอิงกับยอดขายที่เติบโต 3% (เนื่องจากยอดขายจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในมาเลเซียจะกลับสู่ระดับปกติ) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 12.2% สำหรับธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ OEM ยอดขายจะได้แรงหนุนจากปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
การผลิตเพลารถกระบะตามคำสั่งซื้อใหม่ซึ่งเริ่มผลิตในช่วงปลาย 2Q65 ได้เต็มปี และคำสั่งซื้อใหม่จาก VinFast ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของเวียดนาม ยอดขายชิ้นส่วน EV อยู่ที่ ~700 ล้านบาทในปี 2565 (3% ของยอดขาย) AH คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2566 โดยอิงกับคำสั่งซื้อที่บริษัทมีอยู่ในมือ
ส่วน 2Q66 คาดว่ากำไรปกติจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น YoY ต่อเนื่อง แต่จะลดลง QoQ โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยฤดูกาล (วันหยุดยาว) และส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากการไม่มีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์)
อย่างไรก็ดี มอง AH มี Valuation น่าสนใจ โดยเทรดที่ P/E ปี 2566 ระดับ 6.7 เท่า ต่ำกว่า SAT ที่ 8.1 เท่า และ STANLY ที่ 9.1 เท่า และจะได้รับประโยชน์จากยอดขาย EV ที่เติบโตเพิ่มขึ้น สำหรับกลยุทธ์การลงทุนให้คำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือนสำหรับ AH ที่ Outperform ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 44 บาทต่อหุ้น อ้างอิง P/E 8.6 เท่า (ค่าเฉลี่ยปี 2560-2561 ซึ่งเป็นช่วงที่กำไรของ AH กลับมาเติบโตตามปกติ)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์หยุดชะงัก