เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (24 พฤษภาคม) บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) เผยแนวโน้มยอดขาย 2Q64 อาจชะลอตัวลงจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการดำเนินงานงานในยุโรป โดยเฉพาะ Aapico Maia ซึ่งเป็นธุรกิจในโปรตุเกสของ AH (คิดเป็น 21% ของยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ใน 1Q64) ได้หยุดการผลิตชั่วคราวในบางสัปดาห์เนื่องจากปัญหาดังกล่าว
ขณะที่แนวโน้มธุรกิจ 2Q64 ในประเทศไทย (คิดเป็น 75% ของยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ใน 1Q64) ดำเนินงานได้ตามปกติ ทั้งนี้แม้ยอดขาย 2Q64 จะชะลอตัวลง แต่ AH คาดว่าธุรกิจในโปรตุเกสจะสามารถสร้างกำไรได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากประสิทธิภาพกรผลิตที่ดีขึ้นตั้งแต่ 2H63 และ AH คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นใน 3Q64
กระทบอย่างไร:
เมื่อวานนี้ราคาหุ้น AH ปรับตัวลง 7.3%DoD สู่ระดับ 23.00 บาท ขณะที่วันนี้ (25 พฤษภาคม) ราคาหุ้น AH เคลื่อนไหวไม่มากนักและปิดที่ระดับ 23.00 บาทเท่ากับราคาปิดวานนี้
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดกำไรสุทธิ 2Q64 ของ AH จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด YoY จากขาดทุนราว 200 ล้านบาทใน 2Q63 แต่ลดลง QoQ เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซันในประเทศไทย และการดำเนินงานในยุโรปที่หยุดชะงักชั่วคราวจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์
ขณะที่ราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น AH สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกค้าได้ด้วย Lag Time ราว 1-2 เดือนสำหรับการดำเนินงานในประเทศไทย (คิดเป็น 75% ของยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ใน 1Q64) และประมาณ 3 เดือนสำหรับการดำเนินงานในโปรตุเกส ซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นของ AH ไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น
โดย SCBS มองบวกต่อประเด็นนี้เนื่องจาก Lag Time ในการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกค้าในประเทศไทยของ AH สั้นกว่าคู่แข่ง ซึ่งสะท้อนถึงอำนาจการต่อรองที่สูงกว่า
มุมมองระยะยาว:
AH ตั้งเป้ายอดขายปี 2564 เติบโต 20% และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 11-12%n(เทียบกับ 6.5% ในปี 2563) ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของ SCBS ที่คาดว่ายอดขายปี 2564 จะเติบโต 15% และอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 9.7% โดยหลักๆ มาจากการดำเนินงานในต่างประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น
รวมถึงยังได้ประโยชน์จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในยุโรป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้กำไรปกติปี 2564 เติบโตสู่ 976 ล้านบาท จาก 142 ล้านบาทในปี 2563 ขณะที่การฟื้นตัวของคู่แข่งยังคงขึ้นอยู่กับการดำเนินงานในประเทศไทย
ด้านฐานะการเงินของ AH SCBS คาดว่าจะแข็งแกร่งมากขึ้นตามทิศทางผลประกอบการที่ดีขึ้น ส่งผลทำให้แนวโน้ม D/E Ratio จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.55 เท่าในปี 2564 ต่ำกว่า Debt Covenant ที่ระดับ 1.75 เท่า
ทั้งนี้บริษัทได้รับการยกเว้นการทดสอบการดำรงอัตราส่วนทางการเงินในปีนี้ สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามคือปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะส่งผลทำให้ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งแต่การประกอบรถยนต์ไปจนถึงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หยุดชะงักลงชั่วคราว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า