เกิดอะไรขึ้น:
ภาพรวมจากการประชุมนักวิเคราะห์ (เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566) เป็นกลาง โดย บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) คาดว่ายอดขาย 3Q66 จะปรับตัวดีขึ้น YoY โดยได้รับการสนับสนุนจาก:
- ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ OEM ในประเทศไทย (51% ของยอดขาย) จากการผลิตตามคำสั่งซื้อใหม่ (เริ่มผลิตในช่วงปลาย 2Q66) ที่เพิ่มขึ้น (เพลารถกระบะ)
- การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ OEM ในจีน (6% ของยอดขาย) ที่ดีขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศ
- การรวมผลการดำเนินงานของ AAPICO Avee (ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สัญชาติมาเลเซีย, AH ถือ 60% และบริษัทย่อยของ Proton Holdings Berhad ถือหุ้นส่วนที่เหลืออีก 40%) หลังจากเข้าซื้อหุ้นในเดือนกรกฎาคม และจะเติบโต QoQ จากปัจจัยฤดูกาล
สำหรับการลงทุนใหม่ๆ จะให้ผลตอบแทนในปี 2567 AH ได้เข้าลงทุนในบริษัท 2 แห่งเมื่อไม่นานนี้: AAPICO Avee และ Purem AAPICO (บริษัทร่วมทุนที่ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายระบบควบคุมการปล่อยไอเสีย และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องสำหรับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์ส่วนบุคคล, AH ถือ 49%) สำหรับ AAPICO Avee นั้น AH คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านริงกิต ในปี 2566 สู่ 200 ล้านริงกิต ในปี 2567 (หรือ ~530 ล้านบาท ในปี 2566 สู่ ~1.5 พันล้านบาท ในปี 2567) โดยอิงกับคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มจะได้รับ
สำหรับ Purem AAPICO นั้น AH ตั้งเป้ายอดขายที่ 3.0 พันล้านบาทต่อปี โดยอิงกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ อย่างไรก็ดี บริษัทร่วมทุนแห่งนี้ต้องเผชิญกับภาระต้นทุนเริ่มแรกโดยสร้างส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 15 ล้านบาท ให้กับ AH ใน 2Q66 และคาดว่าจะมีผลขาดทุนต่อเนื่องใน 3Q66-4Q66 ก่อนเริ่มการผลิตในโรงงานที่ประเทศมาเลเซียในเดือนกันยายน และประเทศไทยในเดือนธันวาคม
อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้นำการลงทุนเหล่านี้มารวมในการประมาณการกำไรปี 2567 โดยการศึกษาบ่งชี้ว่าประมาณการกำไรปี 2567 (2.0 พันล้านบาท) มี Upside 4-8% หากใช้สมมติฐานอัตราการใช้กำลังการผลิต 50% ที่ Purem AAPICO และอัตรากำไรสุทธิ 5-10% สำหรับทั้งสองบริษัท
นอกจากนี้ การรุกตลาด EV AH ยังคงเป้ายอดขายชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในฐานการผลิตทุกแห่ง (ประเทศไทย โปรตุเกส และจีน) เพิ่มขึ้นเท่าตัวสู่ 1.4 พันล้านบาท ในปี 2566 (หรือ ~5% ของยอดขาย) โดยมองว่า AH เดินหน้ารุกตลาด EV ชัดเจนกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่าง SAT และ STANLY ซึ่งยังไม่มีรายได้จากการผลิตชิ้นส่วน EV อย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน AH ให้บริการผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปโลหะ การฉีดพลาสติก และชิ้นส่วนหล่อสำหรับ EV และบริษัทกำลังพูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์หลายราย รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีอยู่ ซึ่งวางแผนขยายธุรกิจไปสู่ EV และผู้ผลิต EV จากประเทศจีน สำหรับโอกาสที่อาจเกิดขึ้น
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AH ปรับเพิ่มขึ้น 5.34%MoM สู่ระดับ 34.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 1.65%MoM สู่ระดับ 1,568.81 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
InnovestX Research ชอบที่ AH มีกิจการอยู่ในฐานการผลิตที่สำคัญของโลก: ประเทศไทย โปรตุเกส และจีน ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ในกลุ่มยานยนต์มีกิจการอยู่ในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ AH (ผ่านทางธุรกิจในโปรตุเกส) น่าจะได้รับประโยชน์จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในยุโรป โดยในปี 2566 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต 8% สู่ 1.8 พันล้านบาท โดยอิงกับยอดขายที่เติบโต 3% (เนื่องจากยอดขายจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในมาเลเซียจะกลับสู่ระดับปกติ) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 12.2%
ส่วนการดำเนินงานและผลประกอบการ 3Q66 คาดน่าจะปรับตัวดีขึ้น YoY (จากการผลิตตามคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น) และ QoQ (จากปัจจัยฤดูกาล) ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะสร้างแรงกดดันต่อกลุ่มยานยนต์ แต่มองว่า AH จะมีการลงทุนใหม่ๆ และการรุกตลาด EV อย่างชัดเจนจะเพิ่มการเติบโตในอนาคตได้
อีกทั้ง Valuation ที่ไม่แพงที่ P/E ปี 2566 ระดับ 6.7 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 8.6 เท่า) จะช่วยป้องกัน Downside ของราคาหุ้น โดยกลยุทธ์การลงทุนยังคงคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือนที่ Outperform ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 44 บาทต่อหุ้น อิงกับ P/E 8.6 เท่า (ค่าเฉลี่ยปี 2560-2561 ซึ่งเป็นช่วงที่กำไรของ AH เติบโตตามปกติ)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ 1. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ 2. การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งส่งผลทำให้ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์หยุดชะงัก และ 3. ข้อพิพาททางกฎหมาย