วันนี้ (15 มกราคม) เป็นวันแรกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เริ่มมอบโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นการปรับปรุงเอกสารสิทธิของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ประเภท ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรจากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในพิธีที่มีชื่อว่า ‘Kick Off พิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567’ โดยระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 เห็นชอบในการพิจารณาปรับปรุงเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาล
จำนวนเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์
- เกษตรกรที่เข้าคุณสมบัติจำนวน 2.27 ล้านแปลง
- ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 22 ล้านไร่
- ครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 1.6 ล้านคน
โดยสามารถนำเอกสารนี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบกิจการภาคการเกษตร ซึ่ง ส.ป.ก. จะดำเนินการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แล้วเสร็จทั่วประเทศโดยเร็ว
สำหรับการยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เปิดรับแจ้งความประสงค์พร้อมกันทั่วประเทศ 3 ช่องทาง ได้แก่ ส.ป.ก. ทุกจังหวัด, ศูนย์บริการประชาชน (Mobile Unit) และระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ ส.ป.ก. (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2567) มีผู้ยื่นความประสงค์ 227,152 แปลง ออกโฉนดไปแล้ว 33,663 แปลง คิดเป็น 275,100 ไร่ เกษตรกร 29,006 ราย
โฉนดเพื่อการเกษตร ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล
ในพิธีดังกล่าว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ส่งสารถึงเกษตรกร จากนโยบายรัฐบาลนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า “ในนามของรัฐบาล ผมขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต
“โฉนดเพื่อการเกษตรที่สำเร็จนี้เป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล ซึ่งมีโฉนดเพื่อการเกษตรแล้วจำนวน 2.1 ล้านไร่ และรัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรที่ได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรวันนี้จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ นำมาซึ่งอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป
“ผมให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุขต่อไปครับ”
เปลี่ยนจาก ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ได้สิทธิอะไร
1. เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ)
สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก. ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรมสามารถสละสิทธิ์ให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด
2. เพิ่มวงเงินสินเชื่อ
การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธ.ก.ส. หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดินค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
3. สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล
สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4. สร้างรายได้ให้เกษตรกร
เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้) และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับกรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ อบก.
5. ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ