×

สนช. เห็นชอบ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 3 วาระรวด พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม

05.07.2018
  • LOADING...

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มติ 217 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ โดยการตั้งกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณา 3 วาระรวด ภายในเวลา 2 ชั่วโมง

 

ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรีชี้แจงหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายคือ ปัจจุบันมีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์, กรรมการในมหาเถรสมาคมมีวัสสายุกาล หรืออายุมาก และบางรูปอาพาธ ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ตลอด อีกทั้งบางรูปยังมีคดีความทำให้ประชาชนไม่มีความเลื่อมใส, และเนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ตามมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

 

ดังนั้นเพื่อให้มีการสนับสนุนดูแลพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนต่อพระพุทธศาสนา ทางคณะรัฐมนตรีจึงต้องการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี คือให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา ถอดถอน สมณศักดิ์ของกรรมการมหาเถรสมาคม, ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, เจ้าคณะใหญ่, เจ้าคณะภาค รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์อื่นๆ

 

และยกเลิกการดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม โดยตำแหน่งพระราชาคณะ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 5, 7, 10, 12, 14, 15, 20

 

คณะรัฐมนตรีได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 วัน ขณะที่สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เช่น พล.ร.อ. ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง ที่เห็นว่า ปัจจุบันเกิดคณะสงฆ์มีความเสื่อมเสียมาก ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติตนของพระสงฆ์ การบิดเบือนหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา และพระภิกษุสงฆ์บางรูปหาผลประโยชน์จากพระพุทธศาสนา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปการปกครองของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน  

 

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์จะเป็นการเพิ่มพระราชภาระของพระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) นั้น เป็นพระราชอำนาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

 

กรณีดังกล่าวจึงเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กำหนดขึ้นเพิ่มแต่ประการใด ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้แก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขั้น เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

 

สำหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้ง มส. เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กำหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน

 

ทางด้านกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน นำโดย ดร. จรูญ วรรณกสิณานนท์ ยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อ สนช. เนื่องจากจะมีผลให้เซตซีโร่คณะสงฆ์ไทย ตัดตอนความสัมพันธ์ในหมู่สงฆ์, เปิดโอกาสให้ผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคัดเลือกพระสงฆ์ที่ตนควบคุมได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง, และการออกกฎหมายจะยิ่งทำให้เกิดการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งการบริหาร การเงิน การบัญชี จนเป็นที่มาของวิกฤตพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. จะถูกนำขึ้นทูลเกล้าและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising