วันนี้ (30 พฤศจิกายน) ธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าว อัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดสั่งฟ้อง ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา มีคำสั่งฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พรรณิการ์ วานิช เป็นผู้ต้องหาที่ 1-3 กระทำความผิดข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
โดยมีรายละเอียดระบุว่า ตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 1702/2563 ของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พญาไท ซึ่งมี สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ เป็นผู้กล่าวหา
โกศลวัฒน์กล่าวว่า เดิมคดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดีดังนี้สั่งไม่ฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ต้องหาที่ 1, ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ต้องหาที่ 2, พรรณิการ์ วานิช ผู้ต้องหาที่ 3 ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 116 (3) แล้วจึงส่งสำนวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145/1 ซึ่งภายหลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นแย้งว่ายังไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-3 ในความผิดตามข้อกล่าวหา แล้วส่งสำนวนมายังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาชี้ขาด ความเห็นแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 วรรคสอง
คดีนี้ อัยการสูงสุด ได้พิจารณาคดีดังกล่าวแล้วได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ต้องหาที่ 1, ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ต้องหาที่ 2 และ พรรณิการ์ วานิช ผู้ต้องหาที่ 3 ฐานร่วมกันล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2, 6, 34, 49 และ 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 116 (2), (3)
ธรัมพ์กล่าวต่อว่า อัยการสูงสุดได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้ง โดยชี้ขาดให้ฟ้องคดี เพราะมองพฤติกรรมการกระทำต่างๆ ของผู้ถูกกล่าวหาแล้วเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 คือแสดงความเห็นด้วยวาจา หนังสือให้ปรากฏในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในราชอาณาจักรแล้วทำให้มีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ทั้งจากคำปราศรัย และการแสดงความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ต่างๆ แต่ไม่มีข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากไม่มีการเเจ้งข้อหามาเเต่เเรก
อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีพิจารณามาตั้งแต่สมัยอัยการสูงสุดคนก่อนๆ แต่เพิ่งมีคำสั่งชี้ขาดในสมัยอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ขั้นตอนหลังจากนี้จะแจ้งคำสั่งชี้ขาดของอัยการสูงสุดไปยังพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อตามตัวและนัดหมายธนาธร และคนอื่นๆ มารับทราบข้อกล่าวหาและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาต่อไป
สำหรับมูลเหตุคดีนี้ สุวิทย์ได้เเจ้งความช่วงเดือนตุลาคม ปี 2563 ต่อพนักงานสอบสวน โดยอ้างถึงกรณีธนาธร เคยอภิปรายเรื่องอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 พูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนก่อตั้งวารสารฟ้าเดียวกัน อภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่างๆ รวมทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ และไปปรากฏตัวในที่ชุมนุม
ในกรณีของปิยบุตร เป็นเรื่องการนำงานวิชาการสมัยเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน และหนังสือราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป และเอาความเห็นกรณีเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อไม่ให้เอาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปอยู่บนท้องถนน การชุมนุมจะได้คลี่คลายเบาบางลง โดยอ้างว่ากรณีนี้ทำให้เยาวชน นิสิต นักศึกษาออกมาชุมนุม
ส่วนกรณีของพรรณิการ์ เป็นการไปปรากฏตัวในการชุมนุมและไลฟ์