วันนี้ (21 ตุลาคม) นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกลุ่มผู้ต้องหาในคดีเปลี่ยนแปลงความเร็วรถของ วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในข้อหาขับรถยนต์ชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ นายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555
จนมีการกลับคำสั่งไม่ฟ้องคดีว่า คดีนี้ ป.ป.ช. ส่งสำนวนมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยสำนวนดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ และเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับพวกรวม 8 คน ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง
โดยทาง ป.ป.ช. ส่งสำนวนที่มีการชี้มูลความผิดเพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณายื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเหตุที่ส่งให้อัยการฟ้องต่อศาลนี้เนื่องจากตามกฎหมายเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดด้วย ไม่ใช่นักการเมืองอย่างเดียว เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 คดีของผู้ต้องหากลุ่มนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ตำแหน่งทางการเมือง
โดยขั้นตอนหลังจากรับสำนวน ปปช. อัยการสูงสุดได้ส่งสำนวนให้อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตดำเนินการพิจารณา ซึ่งอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา ซึ่งผลการพิจารณาจะเป็นไปได้ 2 กรณี
- ถ้าสำนวนนี้ไม่มีปัญหาพยานหลักฐานสมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ทางอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตจะพิจารณาความเห็นและนำเสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งรับดำเนินคดีอาญา โดยจะมีกรอบระยะเวลาภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่รับสำนวน
- ถ้าคณะทำงานของอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนยังไม่สมบูรณ์ ก็จะดำเนินการตั้งข้อไม่สมบูรณ์ได้ กรณีการตั้งข้อสมบูรณ์ไม่ใช่เป็นอำนาจของอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต แต่จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดหรือทำการเสนอต่ออัยการสูงสุดว่าคดีนี้ตรวจสอบแล้วว่ามีกรณีที่จะต้องตั้งข้อไม่สมบูรณ์ ซึ่งตามกฎหมายต้องภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่รับสำนวน
หากอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีนี้จำเป็นต้องตั้งข้อไม่สมบูรณ์ก็จะมีการแจ้ง ป.ป.ช. เพื่อให้ส่งตัวแทนมาร่วมกันพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์เพื่อหาข้อยุติ ไม่เกินฝ่ายละ 5 คน และเมื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์นั้นแล้วได้ข้อยุติอย่างไรก็ต้องนำเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา
หากคณะที่ประชุมร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ประชุมร่วมกันและมีการแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์แล้ว ก็นำเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีคำสั่งรับดำเนินคดี แต่ถ้ามีการตั้งข้อไม่สมบูรณ์และมีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนอัยการและ ป.ป.ช. หากอัยการยังมองว่าฟ้องไม่ได้ เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ก็จะนำเสนออัยการสูงสุดเพื่อที่จะไม่รับดำเนินคดีอาญาและส่งคืน ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช. พิจารณาฟ้องเองอย่างที่เคยปรากฏในหลายคดีที่ผ่านมา
หากผู้ต้องหาจะร้องขอความเป็นธรรมในขั้นตอนสำนวนถึงอัยการนี้ก็สามารถยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดได้ โดยจะมีกรอบระยะเวลาในการยื่น และจะต้องยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมก่อนที่ทางอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญา และหากต้องการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจะต้องยื่นพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำมาสู่การตั้งข้อไม่สมบูรณ์ โดยจะต้องดำเนินการยื่นภายในกรอบระยะเวลา 90 วัน เพราะว่าถ้ากรอบระยะเวลา 90 วัน หากทางอัยการไม่ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ภายใน 90 วัน หรือตั้งข้อไม่สมบูรณ์ไม่ทัน กฎหมายจะขยายได้อีก 45 วัน เท่ากับเป็น 135 วัน ถ้าภายในระยะเวลานี้ไม่ยื่นขอความเป็นธรรมก็ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ไม่ได้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องก่อนอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งรับดำเนินคดี
เพราะหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้รับดำเนินคดีแล้วปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดร้องความเป็นธรรมถึงแม้จะยื่นภายในกรอบระยะเวลาตั้งข้อไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งรับไปแล้วก็ไม่สามารถยื่นได้ เพราะเมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งรับแล้วผู้ถูกกล่าวหามายื่นขอความเป็นธรรมก็จะสั่งได้อย่างเดียวก็คือยุติการร้องขอความเป็นธรรม
“คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเกณฑ์ตามกฎหมายไม่ระบุว่าจำต้องเป็นนักการเมืองเท่านั้น เป็นข้าราชการชั้นระดับสูง คดีอยู่ในอำนาจของศาลนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76” นาเคนทร์กล่าว
ในส่วนของวรยุทธ คดีนี้อัยการได้มีการสั่งฟ้องวรยุทธความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นผู้ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาที่ยังไม่หมดอายุความ ข้อหานี้มีกำหนดอายุความในการดำเนินคดีอาญาอายุความทั้งหมด 15 ปี ซึ่งจะขาดอายุความวันที่ 3 กันยายน 2570 ซึ่งคดีนี้ทางอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ล่าสุดทางอัยการก็ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องภายในอายุความ เป็นหนังสือแจ้งฉบับล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนขั้นตอนในการติดตามตัวผู้ต้องหามาฟ้องก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องติดตามตัวว่าผู้ต้องหาอยู่ที่ไหน ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศก็จะต้องดำเนินการติดต่อ สืบหาที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือหลักแหล่งของผู้ต้องหาให้ได้ และถ้าจะมีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนจะต้องส่งข้อมูลมายังสำนักงานอัยการต่างประเทศ เพื่อให้อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป ถ้าได้ตัวมาภายในอายุความอัยการก็พร้อมฟ้องทันทีเพราะมีการร่างฟ้องรอเรียบร้อยแล้ว
มีรายงานว่าสำหรับ 8 ผู้ต้องหาที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดส่งอัยการสูงสุดประกอบด้วย พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร., เนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด และกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดี ส่วนผู้สนับสนุน ได้แก่ ชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส, ทนายความ, นักวิชาการด้านความเร็ว และนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง