วันนี้ (6 มิถุนายน) ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงกรณีกองทัพบกตั้งงบประมาณให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบ GT200 โดยกระทรวงกลาโหมระบุว่าทำตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด
โดยผู้ดำเนินรายการถามว่า กรณีกระทรวงกลาโหมระบุอัยการแนะให้ตรวจสอบเครื่อง GT200 ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น
ประยุทธกล่าวว่า เรื่องนี้มีที่มา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 กองทัพบกได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อขอให้จัดพนักงานอัยการสำนักงานคดีปกครอง ว่าต่าง ฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกรวม 4 คน เพื่อให้รับผิดตามสัญญาปกครอง กรณีซื้อขายเครื่อง GT200 รวม 12 สัญญา ทุนทรัพย์ขณะนั้นยังไม่รวมดอกเบี้ย ก็คือ 683,900,000 บาท เมื่อได้รับเรื่องมาเดือนมกราคม 2560 อัยการสูงสุดได้มอบให้สำนักงานคดีปกครอง และมอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีนี้
ในระหว่างตรวจสำนวน ทางอัยการเห็นว่าการที่จะบอกว่าเครื่องนี้ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญา หรือบอกว่าเป็นเครื่องที่ใช้การไม่ได้ เป็นสาระสำคัญในการที่จะบอกว่าคดีนี้แพ้หรือชนะ
จึงแจ้งหนังสือไปยังกองทัพบกให้ดำเนินการเรื่องนี้ ระหว่างแจ้งไปมีการตอบโต้หนังสือกันหลายครั้ง แต่หลักใหญ่ใจความคือ ณ วันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ออกหนังสือแจ้งให้ดำเนินการตรวจ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการตัดสินคดี
โดยวันที่ 23 เมษายน 2560 อัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ก็ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1, สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2, ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 ในฐานะเป็นแบงก์การันตี รับผิดในวงเงินไม่เกิน 56 ล้านบาทเศษ และธนาคารกรุงเทพฯ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 4 ในฐานะแบงก์การันตี รับผิดไม่เกิน 6 ล้านบาทเศษ ซึ่งทุนทรัพย์ที่ยื่นฟ้องไป ณ วันที่ 27 เมษายน 2560 คือ 687,691,975.49 บาท
แต่เมื่อฟ้องแล้ว วันที่ 28 ธันวาคม 2560 ศาลปกครองกลางสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ โดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ขณะที่อัยการฝ่ายคดีปกครอง 5 ยื่นอุทธรณ์ว่าคดีไม่ขาดอายุความ
ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงมาบอกว่า ให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้โดยคดีไม่ขาดอายุความ ให้ดำเนินการไปตามรูปเรื่อง และคดีก็ดำเนินการต่อไป
โดยกระบวนการที่ให้ตรวจ GT200 ยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการดำเนินคดี ซึ่งหลักการมีแค่นี้ ส่วนรายละเอียดจะไปตรวจอย่างไรก็เป็นเรื่องของกองทัพบกจัดการเอง
ตรงนี้มีความสำคัญและต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และเฉพาะกองทัพบกด้วย โดยวันที่ 1 กันยายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาตามคำฟ้องที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ฟ้องไปว่า เครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงพิพากษาดังนี้
- ให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินให้กับกองทัพบกเป็นเงิน 683,441,561.64 บาท
- ให้ธนาคารกสิกรไทยชำระในส่วนที่ตัวเองการันตี 56,856,438.87 บาท
- ให้ธนาคารกรุงเทพฯ ชำระ 6,195,452.5 บาท
- ยกฟ้อง สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เพราะเป็นผู้บริหารและไม่ได้ทำเกินขอบเขตของนิติบุคคล
ประยุทธกล่าวอีกว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ทำหนังสือถึงกองทัพบกเพื่อแจ้งผลคดีดังกล่าว ต่อมา วันที่ 23 กันยายน 2564 ผู้ถูกฟ้องทุกคนอุทธรณ์ จนวันที่ 8 มีนาคม 2565 อัยการได้อุทธรณ์ในส่วนที่ยกฟ้องคือ สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกฟ้องที่ 2
จากนั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ยื่นถอนอุทธรณ์ ที่เคยอุทธรณ์หลังศาลพิพากษาให้ชำระเงินให้กับกองทัพบกเป็นเงิน 683,441,561.64 บาท และวันที่ 7 มีนาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์และคดีถึงที่สุด
สรุปก็คือ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2565 ที่ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ หมายความว่าคำพิพากษาที่ศาลปกครองกลางให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินตามที่อัยการฟ้องให้กองทัพบก 683,441,561.64 บาท จึงเป็นที่สุด
ฉะนั้น กระบวนการตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2565 รายละเอียดว่าจะต้องตรวจเครื่องหรือไม่ จึงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเลยตรงนั้นมาแล้ว
ส่วนคดีที่ค้างอยู่ตอนนี้คืออัยการกำลังอุทธรณ์ว่า สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต้องมารับผิดชอบกับบริษัทด้วย ซึ่งกำลังอุทธรณ์ประเด็นนี้ค้างอยู่ประเด็นเดียว ส่วนธนาคารก็รับผิดชอบไม่เกินวงเงินที่แบงก์การันตีอยู่แล้ว
ดังนั้น ประเด็นที่อัยการมีข้อสั่งการให้ตรวจ GT200 เพราะ ณ เวลานั้น เป็นสาระสำคัญในการต้องชี้แพ้ชนะคดี แต่ ณ เวลานี้ คดีเดินมาถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2565 แล้ว ส่วนรายละเอียดการตรวจจึงตกไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงตรงนั้น
ประยุทธกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกองทัพบกด้วย เพราะกระบวนการงบประมาณของหน่วยงานรัฐ เมื่ออัยการสั่งการทางคดีให้ทำอย่างไรตามลำดับ เพื่อวินิจฉัยว่าจะแพ้ชนะคดีอย่างไร ตามดุลพินิจอัยการเจ้าของสำนวนจะเป็นคนดูองค์รวมคดีว่าควรจะทำอย่างไร ส่วนประเด็นจะดำเนินการอย่างไรนั้นเราไม่ก้าวล่วง
ทีนี้การตั้งงบประมาณ ต้องเข้าใจว่ามันมีกระบวนการงบประมาณเป็นไทม์ไลน์ เพื่อร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณประจำปี
“ผมเข้าใจว่าตรงนี้อาจจะค้างท่อมาเก่า อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ แต่โดยหลักการเชื่อว่าหลักใหญ่ใจความเป็นอย่างที่ชี้แจงโดยละเอียด อย่างที่ผมได้นำเรียนประมาณนี้ครับ” ประยุทธกล่าวในท้ายที่สุด