×

สภาพัฒน์ชี้ สังคมสูงวัยคือความท้าทายใหญ่สุดของประกันสังคม จับตาแผนปฏิรูปกองทุนหลังระดมข้อเสนอแนะ

26.10.2024
  • LOADING...

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์​ สภาพัฒน์คาด ปี 2583 สัดส่วนผู้สูงวัยคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากร เพิ่มปัญหาระบบสวัสดิการและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

 

จากปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ระบบประกันสังคมกับสังคมสูงวัย’ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัจจุบันคนสูงวัยมีสัดส่วน 20% ของประชากร และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในปี 2583 

 

เมื่อปีก่อนจำนวนผู้เสียชีวิตในไทยมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ ขณะที่ความต้องการแต่งงานและมีลูกกำลังลดลง ทำให้อัตราการเกิดลดลง ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก 

 

“สังคมสูงวัยจะเป็นปัญหาในระบบสวัสดิการและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จำนวนแรงงานจะลดลงเรื่อยๆ หากเราไม่เพิ่มผลิตภาพ ระบบเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวต่อเนื่อง” 

 

คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ชีวิตของผู้ประกันตนในช่วงที่เกษียณไปแล้วสามารถดำรงอยู่ได้ และถ้าเศรษฐกิจโตต่ำ ภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณจากส่วนไหนเพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชน  

 

ปัจจุบันงบประมาณสวัสดิการอยู่ที่ราว 7-8 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นค่ารักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียวประมาณ 4 แสนล้านบาท 

 

“หากเราไม่ปรับระบบ ปรับการทำงาน อาจทำให้รายจ่ายงบประมาณด้านสังคมสูงถึง 50% ของงบประมาณด้านสังคมในปี 2583” 

 

อีกประเด็นที่น่ากังวลสำหรับกองทุนประกันสังคมคือส่วนต่างระหว่างรายรับรวมและรายจ่ายรวมของกองทุนที่แคบลงในช่วงปี 2560-2566 โดยเมื่อปี 2560 รายรับรวมอยู่ที่ 253,965 ล้านบาท รายจ่ายรวมอยู่ที่ 83,612 ล้านบาท ส่วนปี 2566 รายรับรวมอยู่ที่ 293,215 ล้านบาท รายจ่ายรวมอยู่ที่ 156,779 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2561-2566 ของรายรับและรายจ่ายอยู่ที่ 3.4% และ 11.8% ตามลำดับ 

 

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2575 จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอาจมีมากถึง 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเพียง 7.6 แสนคน 

 

“หากไม่ปรับระบบใดๆ กองทุนจะต้องมีปัญหา ต้องปรับทั้งรูปแบบการลงทุน เกณฑ์การส่งเงิน เพื่อให้กองทุนยั่งยืน”  

 

ข้อเสนอแนะจากสภาพัฒน์

 

สภาพัฒน์เสนอแนวนโยบายในระยะถัดไปที่มีผลต่อความยืดหยุ่นของกองทุนประกันสังคม ได้แก่ 

 

  1. เพิ่มรายได้ 
  • กำหนดผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น จาก 3% เป็น 5% 
  • ปรับแผนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง จาก 25% ทยอยเพิ่มสัดส่วนจนใกล้เคียงเพดานที่ 40% 

 

  1. ปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างผู้ประกันตน ม.33 ทุก 3 ปี จากปัจจุบันที่ 15,000 บาท เริ่มปรับเป็น 17,500 บาท 

 

  1. เพิ่มอัตราสมทบของภาครัฐ จาก 2.75% เป็น 5% 

 

  1. ขยายฐานอายุแรกเข้า ม.33 จาก 15-60 ปี เป็น 15-65 ปี 

 

  1. แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ ม.39/1 
  • ผู้ทุพพลภาพได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่ม จาก 50% เป็น 70%
  • ผู้ประกันตนหญิงที่คลอดบุตรได้รับเงินสงเคราะห์กรณีคลอดบุตรเพิ่ม จาก 90 วัน เป็น 98 วัน 
  • ผู้ประกันตนที่ต้องออกจากงานจะได้รับความคุ้มครองเพิ่ม กรณีสงเคราะห์บุตรในช่วง 6 เดือน 

 

  1. ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของ ม.33 หรือ ม.39 (มาตรการ 3 ขอ) 
  • ขอเลือก: กรณีให้ผู้ประกันตนเลือกได้ระหว่างรับเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จ
  • ขอคืน: กรณีให้ผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ขอกู้: กรณีให้ผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินได้

 

  1. แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ ม.40
  • ปรับเพิ่มสูงสุด 3,000 บาท คุ้มครองตลอดชีวิต (กรณีทุพพลภาพ)
  • ปรับเพิ่มเป็น 300 บาทต่อบุตร 1 คน สูงสุดไม่เกินคราวละ 2 คน อายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ (กรณีสงเคราะห์บุตร)

 

คนไทยเป็นหนี้จนแก่

 

ดนุชากล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงของสังคมสูงวัยในไทยว่า จำนวนผู้สูงวัยปัจจุบัน 14 ล้านคน มีเพียง 8% ที่มีคนดูแล ขณะที่ประมาณ 1 ใน 4 ของคนจนอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยในไทย คิดเป็นจำนวนกว่า 6 แสนคน 

 

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือผู้สูงวัย 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 5 หมื่นบาท และ 45.7% ไม่มีเงินออมเลย ทำให้คนสูงวัยเหล่านี้อยู่ได้ด้วยการเป็นหนี้ โดยมีหนี้เฉลี่ย 404,483 บาทต่อคน 

 

จากสถิติหนี้ครัวเรือนพบว่าสัดส่วนของลูกหนี้ผู้สูงวัยในระบบคิดเป็น 16.6% และสัดส่วนหนี้เสียที่เป็นผู้สูงวัยคิดเป็น 9.1% ของหนี้เสียทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัยอยู่ที่เดือนละประมาณ 13,000 บาท โดยไม่มีภาระค่าเช่าบ้านหรือการผ่อนบ้าน เป็นเพียงแค่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันขั้นต่ำ เท่ากับว่าผู้สูงวัย 1 คน ต้องใช้เงินกว่า 3.2 ล้านบาท เพื่อดำรงชีวิตระหว่างอายุ 60-80 ปี 

 

จับตาแผนปฏิรูปประกันสังคมก่อนล่มสลาย

 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของกองทุนประกันสังคมคือการเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยมีอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างมีนัย ทำให้จำนวนผู้ประกันตนลดลง 

 

ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคมสูงขึ้น และอาจส่งผลให้กองทุนประกันสังคมไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในอนาคตได้อย่างเพียงพอในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2597 หากไม่ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงแผนการดำเนินงาน 

 

“การที่พวกเราทุกคนทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาในช่วงเวลานี้ ทำให้เรามีเวลาเพียงพอในการหาแนวทางเพื่อป้องกันการล่มสลายของกองทุนประกันสังคม” 

 

การประชุมในครั้งนี้มีข้อเสนอแนะที่ดีมากมาย ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะนำข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนไปใช้เพื่อศึกษาและจัดทำแผนปฏิรูปเพื่อพัฒนางานด้านประกันสังคมของไทย โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตนและความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X