×

Aftersun เมื่อตะวันลาลับ เราจะเข้าใจถึงความเว้าแหว่งในชีวิต

26.01.2023
  • LOADING...

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Aftersun**

 

ณ วินาทีนี้คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนที่ใช้คำว่า ‘ม้ามืด’ ได้เหมาะสมเท่ากับภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษอย่าง Aftersun อีกแล้ว ภาพยนตร์ที่สุดแสนจะเรียบง่ายเรื่องนี้ไม่เพียงแค่เป็นที่กล่าวถึงจากนักวิจารณ์และคนดูเมื่อครั้งออกฉายตามเทศกาลต่างๆ 

 

แต่สิ่งที่ทำให้ใครหลายคนสนใจในตัวของภาพยนตร์ก็อาจเป็นการที่ภาพยนตร์สามารถเบียดขึ้นแท่นภาพยนตร์ประจำปี 2022 ของ Sight & Sound และ IndieWire ด้วยการคว้าอันดับหนึ่งเหนือภาพยนตร์ที่ทุกคนต่างคุ้นชื่ออย่าง Decision to Leave, Nope หรือ Everything Everywhere All at Once ที่เป็นตัวเต็งประจำปี

 

 

ถึงกระนั้น เนื้อหาของ Aftersun กลับเป็นเรื่องราวที่สุดแสนจะนิ่งเรียบไม่ได้มีความหวือหวา หรือน่าฉงนแต่อย่างใด เรื่องราวของมันว่าด้วย Calum (Paul Mescal) คุณพ่อหน้าเยาว์วัยสามสิบกับ Sophie (Frankie Corio) ลูกสาววัย 11 ขวบที่ไปพักผ่อนในรีสอร์ตประเทศตุรกี ด้วยความที่ Calum เป็นคนที่ดูอ่อนกว่าวัย ทำให้เขามักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพี่ชายของ Sophie อยู่เสมอ 

 

แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้บอกกล่าวอย่างชัดเจนว่าความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกเป็นแบบไหน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้ชมน่าจะสัมผัสได้ว่าการใช้เวลาร่วมกันในครั้งนี้ของคนทั้งสองแท้จริงแล้วอาจเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเขาทั้งคู่ เมื่อสิ่งที่แสดงออกมาไม่ได้มีแค่ฉากหน้าของความสุข แต่ยังมีความเว้าแหว่งอยู่ด้วย

 

 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่บอกเล่าความรู้สึกดังกล่าวได้ดีที่สุดคือ ฉากที่ Sophie ขึ้นไปร้องคาราโอเกะบนเวที โดยคาดหวังว่าพ่อของเธอจะมาร่วมร้องเหมือนกับเมื่อก่อน แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม สุดท้าย Calum ก็ทำเพียงแค่มองดูโซฟี่ร้องเพลงอยู่บนอัฒจันทร์อย่างเงียบๆ หลังจากร้องเพลงเสร็จผู้เป็นพ่อก็เปิดบทสนทนาสั้นๆ กับลูกสาวถึงการส่งไปเรียนร้องเพลงเพื่อให้เธอรู้วิธีการร้องที่ถูกต้อง แต่ Sophie กลับตอบ Calum ว่า “พ่อเองก็ไม่ได้มีเงินเสียหน่อย” 

 

บทสนทนาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลแค่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่ส่งผลลึกลงไปถึงหัวใจของพวกเขาทั้งสองคน เมื่อเหตุการณ์ต่อไปกลับฉายให้เห็นว่า Sophie พยายามที่จะหาเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับเธอเพื่อพูดคุย หรืออย่างน้อยก็เข้าใจในตัวเธอ ส่วน Calum ก็เลือกที่จะเดินหายเข้าไปในทะเลกลางดึกคนเดียว 

 

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างก็แสดงให้เห็นว่า การใช้ชีวิตร่วมกันของสองพ่อลูกในครั้งนี้ต่างก็เต็มไปด้วย ‘ความไม่เข้าใจ’ ซึ่งกันและกัน เกิดเป็นความเว้าแหว่ง และช่องว่างที่พวกเขา ‘เลือก’ จะเก็บซ่อนเอาไว้เพื่อใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุขแทน

 

แม้ฉากหน้าจะเป็นแบบนั้น แต่ Calum ก็เป็นตัวละครที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้อย่างไม่ยากเย็นว่าเขากำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่างภายในตัวเองอยู่ และจากประโยคที่ Calum พูดว่า “ผมนึกภาพตัวเองตอนอายุ 40 ปีไม่ออกด้วยซ้ำ รอดมาถึง 30 ปีได้ก็แปลกใจแล้ว” ก็อาจเป็นเหมือนหมุดหมายที่ทำให้ผู้ชมสามารถคาดเดาได้ว่าปลายทางของเขาจะเป็นเช่นไร

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งในความโดดเด่นของ Aftersun คือกลวิธีการนำเสนอเฉพาะตัวของผู้กำกับ Charlotte Wells โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้มีที่มาจากการเปิดดูอัลบั้มรูปในวัยเด็ก แล้วพบว่าพ่อของเธอช่างดูอ่อนเยาว์กว่าความเป็นจริงเสียเหลือเกิน และยิ่งพัฒนาบทไปไกลมากเท่าไร เธอก็ยิ่งรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ Aftersun จึงกลายเป็นเหมือนอัลบั้มรูปขนาดยาวที่พาทั้งตัวเธอ และ Sophie มองย้อนกลับมายังอดีตอีกครั้งในมุมมองของผู้ใหญ่

 

จึงไม่น่าแปลก หากการนำเสนอของ Wells จะเต็มไปด้วยความไม่ปะติดปะต่อของเหตุการณ์ หรือเนื้อหาต่างๆ อีกทั้งยังแทรกด้วยการฉายภาพ Sophie ในช่วงเวลาปัจจุบัน ไปจนถึงฉากเสมือนฝันของทั้งตัวเธอและผู้เป็นพ่อ ซึ่งวิธีการนั้นก็เหมือนกับการเปิดดูอัลบั้มรูปเก่าๆ ที่บางครั้งเราอาจต้องใช้เวลาในการขุดคุ้ยความทรงจำอันเลือนรางในช่วงเวลาดังกล่าวให้ออกมาเป็นภาพในหัว แต่บางครั้งความทรงจำที่ว่าก็อาจเด่นชัดยิ่งกว่าเดิมเมื่อเวลาผ่านไปด้วยเช่นกัน

 

เหมือนคำกล่าวที่ว่า “เมื่อโตขึ้นเราจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น” บางทีสำหรับ Sophie ในวัย 30 ใกล้เคียงกับพ่อของเธอในตอนนั้น สิ่งที่หญิงสาวทำอาจไม่ได้มองย้อนกลับมาดูความทรงจำในอดีตด้วยความรู้สึกคิดถึงเพียงอย่างเดียว แต่มันอาจเป็นความรู้สึกที่เข้าใจในตัวของ Calum ผู้เป็นพ่อมากขึ้น พร้อมกับความจริงที่ว่าชีวิตของเธอเองก็อาจไม่ต่างอะไรกับชายหนุ่มที่อยู่ในภาพเลย

 

 

นอกเหนือจากวิธีการนำเสนอแล้ว สิ่งที่เป็นจุดแข็งสำคัญอีกอย่างของ Aftersun คือ ความเข้ากันของสองนักแสดงหลักอย่าง Paul Mescal และ Frankie Corio ผู้รับบทพ่อและลูกสาว โดยเฉพาะเมื่อตัวละครอย่าง Calum มีความเป็นพ่อที่ร่าเริง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นตัวละครที่คอยกล้ำกลืนความรู้สึกของตัวเองเพื่อความสุขของลูก 

 

ส่วนทางด้านลูกสาวอย่าง Sophie ก็เป็นตัวละครที่ไม่อาจเข้าถึงพ่อของเธอ เกิดเป็นช่องว่างระหว่างตัวของเด็กน้อยและผู้เป็นพ่อ เพียงแต่ Sophie ไม่ได้เป็นเด็กสาววัยใสไร้เดียงสา หากแต่เป็นเด็กที่ต้องพยายามทำตัวร่าเริงท่ามกลางความผิดปกติบางอย่างที่เธอเองก็รู้สึกได้

 

การแคสต์หานักแสดงหลักจึงกลายเป็นส่วนสำคัญมากถึงมากที่สุด ซึ่ง Mescal เองก็สามารถตีโจทย์เรื่องการถ่ายทอดมิติของตัวละครผ่านความรู้สึกและบุคลิกที่อยู่ภายในจิตใจได้อย่างแตกฉาน จนผู้ชมสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกภายในของตัวละครได้โดยที่ภาพยนตร์ไม่ต้องเล่าพื้นเพแต่อย่างใด นี่จึงนับเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่ยอดเยี่ยม และน่าจดจำที่สุดของเขาบนจอภาพยนตร์

 

อีกหนึ่งคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Corio ที่ไม่น่าเชื่อว่าการแสดงอันเป็นธรรมชาติและมีเสน่ห์จะเป็นผลงานการแสดงเรื่องแรกของเธอ ซึ่งหากกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ถ้านักแสดงหลักของภาพยนตร์ไม่ใช่สองคนนี้ Aftersun เองก็อาจไม่สามารถฉายแสงสู่สายตาของผู้ชมได้มากถึงเพียงนี้

 

แม้สุดท้าย Aftersun จะเป็นเหมือนช่วงเวลาสั้นๆ หลังตะวันลับ แต่มันก็ได้ทิ้งความรู้สึกอันหนักอึ้งเอาไว้ในหัวใจของผู้ชม เหมือนกับ Sophie ที่มองย้อนกลับมาดูความทรงจำในอดีตที่มีร่วมกับพ่อของเธอ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ตอนนั้นหญิงสาวในวัย 11 ขวบอาจยังไม่เข้าใจพ่อของเธอนัก แต่ตอนนี้ Sophie ในวัย 30 ปีอาจเริ่มรับรู้แล้วว่าเขาแบกรับความทุกข์ไว้แค่ไหนเพื่อให้ตัวเธอในตอนนั้นมีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

Aftersun เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ สามารถรับชมได้ทาง House Samyan, Doc Club & Pub และโรงภาพยนตร์เครือ SF ที่ร่วมรายการ  

 

รับชมตัวอย่างได้ที่ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising