×

วิทยาศาสตร์ช่วยไขปริศนา เกิดอะไรกับสมองเด็กที่ติด TikTok งอมแงม ความกังวลที่อาจนำไปสู่ ‘โรคสมาธิสั้น’

25.08.2022
  • LOADING...

ปกติวัยเด็กก็เป็นวัยซุกซนยากที่พ่อแม่จะรับมืออยู่แล้ว แต่สำหรับเด็กในยุคปัจจุบันดูเหมือนอะไรๆ มันจะยิ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อโลกมี TikTok ซึ่งกำลังเป็นปัญหาชีวิตของน้องๆ หนูๆ เพราะการติดคลิปสั้นแบบงอมแงมนั้นได้ทำร้ายพวกเขาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องนี้วิทยาศาสตร์มีคำตอบบ้างแล้ว

 

เพราะขนาดพ่อแม่ลุงป้าน้าอายังติด TikTok งอมแงมไถกันทั้งวันทั้งคืนโดยเฉพาะก่อนนอน นับประสาอะไรกับเด็กน้อยที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวที่จะติดงอมแงมไม่น้อยกว่ากัน และบางทีเหมือนจะหนักกว่าด้วย ซึ่งผลที่ตามมาจากรายงานจำนวนมากคือการที่เด็กเริ่มไม่สามารถที่จะนั่งชมภาพยนตร์ยาวๆ ไม่มีสมาธิที่จะทำการบ้าน และไม่ต้องถามถึงเรื่องของการอ่านหนังสือ ลืมไปได้เลย!


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับสมองของเด็กๆ เหล่านี้? และผลกระทบของ TikTok รวมไปถึงคอนเทนต์สั้น (Short-Form Content) ทั้งหลาย ซึ่งเรื่องนี้ทาง The Wall Street Journal ได้หาข้อมูลจากนักวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่มีต่อเด็กๆ โดยเฉพาะความกังวลในเรื่องของโรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD)

 

“ยังหาคำตอบได้ยากเกี่ยวกับเรื่องเทรนด์การบริโภคสื่อที่เพิ่มขึ้นจากทุกประเภท การทำงานที่หลากหลายของสื่อ และอัตราการป่วย ADHD ในกลุ่มเด็ก และยังสรุปไม่ได้ว่ามันนำไปสู่เรื่องของสมาธิที่ลดลงของพวกเขา” คาล มาร์ซี จิตแพทย์จากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ในบอสตัน กล่าวถึงเรื่องของความเชื่อมโยงกันระหว่างโรคสมาธิสั้นกับระยะเวลาที่จ้องหน้าจอ

 

แต่ถึงจะสรุปไม่ได้ตอนนี้ก็มีปัจจัยมากมายที่บ่งบอกว่ากรณีแบบนี้เริ่มมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และแม้แต่พ่อแม่ของเด็กที่ไม่ได้เข้ารับการวินิจฉัยเองก็บอกว่าตอนนี้ลูกดูขาดสมาธิมากขึ้น ซึ่งผลการวิจัยระบุว่าการดูกีฬาหรือวิดีโอที่มีความไวสูงจะทำให้เด็กมีปัญหาในการที่จะทำกิจกรรมที่ไม่ได้เสร็จสิ้นในทันทีแต่ต้องใช้ระยะเวลา

 

ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาเรื่องผลกระทบของ TikTok ที่มีต่อสมอง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ทำขึ้นในประเทศจีนโดยเน้นไปยังแอปพลิเคชัน Douyin ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ TikTok ในแดนมังกร ซึ่งพบว่าระบบการคัดเลือกวิดีโอตามความชอบของผู้ใช้เป็นการเปิดระบบการให้รางวัลของสมอง ​โดยจากการสแกนสมองของเด็กนักศึกษาในประเทศจีนพบว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสพติดนั้นได้ถูกกระตุ้นอย่างมากในคนที่ดูวิดีโอที่มีการคัดเลือกตามผู้ใช้ และยังพบว่าหลายคนมีปัญหาในการควบคุมตัวเองที่จะหยุดดูวิดีโอด้วย

 

ในการสืบสวนของ The Wall Street Journal เมื่อปีกลายพบว่าอัลกอริทึมของ TikTok นั้นจะค้นหาว่าผู้ใช้นั้นชอบใช้เวลาในการดูวิดีโอแบบไหน และจะนำเสนอวิดีโอแบบนั้นให้มากขึ้นอีก แม้ว่าทาง TikTok จะบอกว่ากำลังพัฒนาหนทางในการที่จะกระจายวิดีโอที่อัลกอริทึมแนะนำต่อผู้ชม

 

โฆษกของ TikTok ยังกล่าวว่าบริษัทต้องการให้เด็กวัยรุ่นได้มีพัฒนาการด้านสุขภาพดิจิทัลที่ดีก่อน ซึ่งไม่นานมานี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงในแอปพลิเคชันโดยมุ่งหวังในการควบคุมการใช้งานที่เกินขอบเขต ยกตัวอย่างเช่น TikTok จะไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ที่มีอายุ 13-15 ปีได้รับการแจ้งเตือนหลังเวลา 3 ทุ่ม และมีการเตือนให้ผู้ใช้ไปพักเบรกด้วยการออกไปเดินเล่นข้างนอกหรือไปหาขนมรับประทาน

 

สำหรับวิทยาศาสตร์ของสมองเด็กนั้น ในการที่เด็กจะทำอะไรที่จำเป็นต้องใช้สมาธิ เช่น การอ่านหนังสือหรือการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ พวกเขาจำเป็นต้องใช้ความสนใจโดยตรง ซึ่งการทำงานจะเริ่มจากสมองส่วนที่เรียกว่า Prefrontal Cortex ที่รับผิดชอบเรื่องของการตัดสินใจและการควบคุมแรงกระตุ้น ซึ่ง TikTok ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้ามแอปยอดฮิตนี้ทำงานเหมือนการกระตุ้นสมองเด็กด้วยการให้ลูกกวาดสีสันสวยงามตลอดเวลา

 

ในความหมายจริงๆ นั้นเกี่ยวกับเรื่องโดปามีน หรือสารแห่งความสุขที่หลั่งมาในสมองในเวลาที่คาดหวังว่าได้รับรางวัล ซึ่งสารแห่งความสุขนี้จะทำให้เราแสวงหาสิ่งที่จะทำให้มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้ออร่อย หรือคลิปตลกๆ ใน TikTok

 

“TikTok คือเครื่องปั๊มโดปามีน” จอห์น ฮัตตัน กุมารแพทย์จากโรงพยาบาลเด็กซินซินเนติกล่าว “ถ้าอยากให้เด็กมีสมาธิ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการฝึกสมาธิ” เพียงแต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อเด็กติดวิดีโอความยาวสั้นๆ ที่มาถี่ๆ ต่อเนื่องราวกับไม่มีวันหยุดแล้ว ชีวิตนอกหน้าจอสมาร์ทโฟนมันก็ดูจะเนิบช้าไปเสียหมด

 

สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำหากไม่ต้องการให้ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น คือการฝึกเรื่องสมาธิ เปลี่ยนการใช้เวลากับหน้าจอมาเป็นการใช้เวลาในโลกความจริง ได้เล่นจริงๆ โดยที่หาจุดผ่อนปรนให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบด้วย หรืออาจจะใช้ไม้อ่อนอย่างการจำกัดเวลาในการใช้ เช่น ห้ามใช้สมาร์ทโฟนบนโต๊ะอาหารมื้อค่ำ

 

และถ้าจะให้ดีก็เข้าไปควบคุมการใช้ผ่านแอปพลิเคชันหรือระบบของสมาร์ทโฟนที่จะช่วยควบคุมได้บ้าง แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้แปลว่าการทำให้ลูกกลับมาเอาชนะอาการสมาธิสั้นเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X