โมฮัมเหม็ด ซาลาห์, วิคเตอร์ โอซิมเฮน, ซาดิโอ มาเน, ริยาด มาห์เรซ
เอ่ยชื่อนักเตะเหล่านี้ขึ้นมา แฟนฟุตบอลหลายคนก็คงรู้ว่าทั้งหมดล้วนเป็นสุดยอดนักเตะในระดับท็อปของโลกที่ไม่ได้เป็นสองรองจากนักเตะจากยุโรปหรือลาตินอเมริกา
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือนักเตะจากทวีปแอฟริกา และพวกเขากำลังจะเปิดศึกชิงชัยในรายการ ‘แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์’ ศึกชิงความเป็นหนึ่งของชาวแอฟริกัน ที่จะเริ่มต้นในวันเสาร์ที่ 13 มกราคมนี้
ถึงแม้ว่า ‘แอฟคอน (AFCON)’ อาจจะไม่ใช่รายการที่อยู่ในความสนใจของใครหลายคนมากเท่ากับรายการอย่างยูโร หรือโคปาอเมริกา หรือแม้แต่เอเชียนคัพ แต่ก็ไม่ได้แปลว่ารายการนี้จะไม่มีอะไรที่น่าสนใจ
ไอวอรีโคสต์ 2023
สำหรับชื่อเล่นรายการอย่างเป็นทางการของศึกแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ครั้งนี้คือ ‘ไอวอรีโคสต์ 2023’ ซึ่งแน่นอนว่าการแข่งขันนั้นจัดขึ้นที่ประเทศไอวอรีโคสต์ หรือโกตดิวัวร์ ที่ได้รับเกียรติให้เป็นชาติเจ้าภาพครั้งที่ 2
ส่วนตัวเลขปีต่อท้ายนั้น เดิมรายการนี้จะต้องแข่งขันกันในปี 2023 เพียงแต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการตัดสินใจตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 (ซึ่งยังมีโรคระบาดรุนแรง) ให้เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนมกราคม 2024
สิ่งที่อาจจะทำให้หลายคนสับสนคือช่วงเวลาการแข่งขันของรายการ ‘แอฟคอน’ ที่เดิมมีแผนที่จะเปลี่ยนมาแข่งขันกันในช่วงกลางปี ให้สอดคล้องกับปฏิทินหลักของทวีปยุโรปที่มีนักฟุตบอลแอฟริกันเข้าไปค้าแข้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปี 2021 ได้มีการเปลี่ยนมาแข่งกันในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมแทน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองเปลี่ยนช่วงเวลา
แต่จากความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในฤดูร้อนของไอวอรีโคสต์ ทำให้การแข่งขันกลับมาจัดในช่วงเวลาดั้งเดิมของรายการแอฟคอน ก็คือในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
ส่วนการแข่งขันครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปี 2025 ที่ประเทศโมร็อกโก จะกลับไปแข่งในช่วงกลางปีอีกครั้ง แต่ยังไม่มีการกำหนดวันแข่งขันอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
วันและเวลาของการแข่งขัน
เกมแรกจะเริ่มในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม (เช้าวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม ตามเวลาในประเทศไทย) คือเกมของเจ้าภาพไอวอรีโคสต์ที่จะพบกับกินี-บิสเซา ในเวลา 03.00 น.
หลังจากนั้น ในแต่ละวันจะมีการแข่งขันทั้งหมด 3 ช่วงเวลา คือ 21.00 น., 00.00 น. และ 03.00 น. โดยรอบแบ่งกลุ่มจะดำเนินไปถึงวันที่ 24 มกราคม
ต่อจากนั้นจะเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ที่จะมีแชมป์และรองแชมป์กลุ่มทั้งหมด กับทีมอันดับ 3 ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดอีก 4 ทีม รวมกันเป็น 16 ทีม ที่จะค่อยๆ ชิงชัยกันไปเรื่อยๆ จนถึงรอบชิงชนะเลิศ
6 สังเวียนการแข่งขัน
การเป็นเจ้าภาพของไอวอรีโคสต์ครั้งนี้มีความหมายมาก เพราะเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ หลังจากที่ได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรกในปี 1984 ก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองที่ยาวนานและเพิ่งจะสงบได้ 12 ปี
ถึงจะมีความไม่พร้อม แต่เจ้าภาพก็พยายามอย่างดีที่สุดในการเนรมิตสนามแข่งขัน 6 แห่งที่จะอยู่ใน 5 เมืองสำหรับการแข่งขันครั้งนี้
- อลาสซาน วาตารา สเตเดียม เมืองอาบีจาน (ความจุ 60,000 ที่นั่ง)
- เฟลิกซ์ ฮูปูเยต์-บัวนี สเตเดียม เมืองอาบีจาน (ความจุ 30,000 ที่นั่ง)
- ชาร์ลส์ โกนัน แบนนี สเตเดียม เมืองยามูซูโกร (ความจุ 20,000 ที่นั่ง)
- สตาดเดอลาเป เมืองบัวเก (ความจุ 40,000 ที่นั่ง)
- อามาดู กอน คูลิบาลี สเตเดียม เมืองคอร์โฮโก (ความจุ 20,000 ที่นั่ง)
- โลร็องต์ โปกู สเตเดียม เมืองซานเปโดร (ความจุ 20,000 ที่นั่ง)
สำหรับสนามแข่งขันที่สำคัญที่สุดคือ อลาสซาน วาตารา สเตเดียม ซึ่งตั้งชื่อตามประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2010 โดยอยู่ในเมืองอาบีจาน ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ ส่วนเมืองใหญ่ลำดับที่ 2 ของไอวอรีโคสต์คือเมืองบัวเกที่อยู่ตอนกลางของประเทศ ซึ่งมีสนามสตาดเดอลาเป
ยังมีสนามที่ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญคือ สนามเฟลิกซ์ ฮูปูเยต์-บัวนี อดีตประธานาธิบดีไอวอรีโคสต์ผู้ล่วงลับ, สนามชาร์ลส์ โกนัน แบนนี ที่ตั้งชื่อตามอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับเช่นกัน และสนามอามาดู กอน คูลิบาลี ที่ตั้งชื่อตามอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วยเช่นกัน
มีเพียงสนามเดียวที่ตั้งชื่อตามวีรบุรุษลูกหนังของชาวไอวอรีโคสต์คือ สนามโลร็องต์ โปกู อดีตศูนย์หน้าระดับตำนานผู้เป็นขวัญใจของทั้งประเทศ
ทีมไหนเจอใครบ้าง?
รายการแอฟคอน 2023 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งที่ 34 จะมีทีมเข้าร่วมทั้งสิ้น 24 ทีมด้วยกัน โดยในรอบแรกจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม ได้แก่
- กลุ่ม A: ไอวอรีโคสต์, ไนจีเรีย, อิเควทอเรียลกินี, กินี-บิสเซา
- กลุ่ม B: อียิปต์, กานา, เคปเวิร์ด, โมซัมบิก
- กลุ่ม C: เซเนกัล, แคเมอรูน, กินี, แกมเบีย
- กลุ่ม D: แอลจีเรีย, บูร์กินาฟาโซ, มอริเตเนีย, แองโกลา
- กลุ่ม E: ตูนิเซีย, มาลี, แอฟริกาใต้, นามิเบีย
- กลุ่ม F: โมร็อกโก, ดีอาร์คองโก, แซมเบีย, แทนซาเนีย
กลุ่มที่ดูหนักหน่อยคือกลุ่ม A ที่ไอวอรีโคสต์ เจ้าภาพ ต้องเจอไนจีเรีย ส่วนกลุ่ม B ก็ไม่เบา เพราะอียิปต์ รองแชมป์คราวที่แล้ว จะต้องเจอกับกานา และกลุ่ม C แชมป์เก่า เซเนกัล จะเจอกับแคเมอรูน
แล้วใครเต็งแชมป์?
เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ THE STANDARD ได้เตรียมทำนายผลไว้ แต่เผอิญยังไม่ได้มีการสั่งซื้อ จึงต้องขอใช้ข้อมูลจากสำนักสถิติ Opta ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ลองคำนวณหาดูว่าใครจะได้แชมป์ในปีนี้
โดย AI ได้คำนวณจากประวัติการพบกันและผลงานในปัจจุบันของแต่ละทีม ก่อนจะมีการสร้างโมเดลเส้นทางของแต่ละทีมโดยพิจารณาถึงความยาก-ง่ายในเส้นทางกว่าจะไปถึงรอบชิงชนะเลิศ
เหล่าดวงดาวแห่งแอฟริกา
แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ เป็นรายการที่มีซูเปอร์สตาร์ลูกหนังมารวมกันอยู่ไม่น้อย และเป็นสีสันที่น่าติดตามสำหรับแฟนฟุตบอล
- โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (อียิปต์) ผู้มีบาดแผลจากการพ่ายแพ้ในนัดชิงฯ ครั้งที่แล้วต่อเซเนกัลด้วยการดวลจุดโทษ และอยากจะคว้าแชมป์ทวีปให้ได้เป็นสมัยแรก
- วิคเตอร์ โอซิมเฮน (ไนจีเรีย) ศูนย์หน้าตัวเป้าที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลกในเวลานี้ กองหน้านาโปลีพลาดการแข่งในปี 2021 จากโควิด-19 และอาการบาดเจ็บ กลับมาครั้งนี้ถึงไนจีเรียจะไม่ใช่ตัวเต็ง แต่ถ้ามีเขาอยู่ก็ไม่แน่
- ซาดิโอ มาเน (เซเนกัล) ผู้พาเซเนกัลชูถ้วยแชมป์ได้เมื่อ 3 ปีก่อน ครั้งนี้แม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงที่ดีที่สุดแล้ว และมีข้อสงสัยอยู่มากเกี่ยวกับฟอร์มหลังจำเป็นต้องย้ายไปซาอุดีอาระเบีย แต่ขึ้นชื่อว่ามาเน และเซเนกัล ไม่มีใครประมาทได้
- ริยาด มาห์เรซ (แอลจีเรีย) อีกหนึ่งนักเตะที่ย้ายไปเล่นในซาอุดีอาระเบีย แต่มาห์เรซเป็นหนึ่งในนักเตะพรสวรรค์ที่เก่งกาจที่สุดของทวีปที่น่าจับตามองเสมอ
- อัซเซดีน อูนาฮี (โมร็อกโก) กองกลางพลังไดนาโม ผู้เป็นกำลังสำคัญที่พาโมร็อกโกสร้างชื่อด้วยการเป็นทีมจากแอฟริกาชาติแรกที่ทะลุถึงรอบตัดเชือกฟุตบอลโลก 2022 แม้จะมีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน แต่หากคืนฟอร์มได้ ก็มีโอกาสที่จะพาทีมไปได้ไกลเหมือนกัน
นอกจากนี้ยังมี โมฮัมเหม็ด คูดุส (กานา) ที่กำลังร้อนแรงในพรีเมียร์ลีกกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด, อิสซา กาบอเร (บูร์กินาฟาโซ) แบ็กขวาจอมลุย ที่ได้รับรางวัลนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมในการแข่งขันครั้งที่แล้วเมื่อปี 2021 ไปจนถึง เซอร์ฮู กุยราสซี (กินี) ศูนย์หน้าที่มาแรงที่สุดคนหนึ่งในบุนเดสลีกาจากทีมสตุ๊ตการ์ต
มีถ่ายทอดสดไหม?
ในประเทศไทย beIN SPORTS เป็นผู้ถ่ายทอดสดรายการแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ 2023 ผ่านทางแพลตฟอร์ม beIN SPORTS CONNECT
อ้างอิง: