×

UN เผยรายงานเตือนวิกฤตคลื่นความร้อนแถบแอฟริกา-เอเชีย รุนแรงขึ้นจนคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากได้ในอีกไม่กี่ทศวรรษ

11.10.2022
  • LOADING...
คลื่นความร้อนแอฟริกา-เอเชีย

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) เผยแพร่รายงานเตือนผลกระทบจากภาวะโลกรวนว่า จะส่งผลให้คลื่นความร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นในแถบทวีปแอฟริกาและเอเชียภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ทศวรรษ และจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

รายงานดังกล่าวซึ่งจัดทำและเผยแพร่ร่วมกันเมื่อวานนี้ (10 ตุลาคม) ในชื่อหัวข้อ ‘การเตรียมความพร้อมรับมือคลื่นความร้อนในอนาคต’ เนื้อหารายงานระบุว่า ภาวะคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกจำนวน 38 ครั้ง ระหว่างปี 2010-2019 มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7 หมื่นคน ซึ่งคาดว่าน่าจะต่ำกว่าตัวเลขจริง

 

ตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีสัดส่วนคิดเป็นราว 1 ใน 6 ของผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติที่เชื่อมโยงกับสภาพอากาศรุนแรงกว่า 4.1 แสนราย โดยหากดูจากแนวโน้มของสถานการณ์โลกร้อน ณ ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ว่าภาวะคลื่นความร้อนในหลายภูมิภาค เช่น ภูมิภาคซาเฮล ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกึ่งทะเลทรายในทวีปแอฟริกาเหนือ ตลอดจนประเทศแถบเอเชียใต้และตะวันตกเฉียงใต้ อาจทวีความรุนแรงและมีระดับความร้อนเพิ่มสูงขึ้นจนเกินขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ภายในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

 

ที่ผ่านมามีหลายองค์กรออกมาเตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกินมาตรฐานของภาวะคลื่นความร้อนต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยยกตัวอย่างจากบังกลาเทศ ซึ่งในวันที่มีคลื่นความร้อนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 20%

 

“ผลกระทบของภาวะคลื่นความร้อนที่เกิดซ้ำๆ นั้นรวมถึงการทนทุกข์ทรมานและการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่มีความคลื่อนไหวของประชากรและความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น” รายงานเตือน และเสริมว่าแนวโน้มของสิ่งเหล่านี้ ‘ได้เกิดขึ้นแล้ว’

 

“ประเทศร่ำรวยนั้นมีทรัพยากรที่จะช่วยให้ผู้คนปรับตัวได้ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำเช่นนั้น ส่วนประเทศยากจนที่ไม่รับผิดชอบต่อคลื่นความร้อนอันแสนทรมานเหล่านี้ ไม่มีทรัพยากรดังกล่าว”

 

นอกจากนี้ เนื้อหารายงานยังเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ดำเนินการ ‘ขั้นตอนเชิงรุก’ อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากคลื่นความร้อนในอนาคต 

 

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเน้นย้ำมาโดยตลอด ถึงความจำเป็นในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหากทำไม่ได้ตามเป้าและคงระดับอุณหภูมิไว้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ก็ยังมีแนวโน้มที่ผลกระทบจากภาวะคลื่นความร้อนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเกือบ 14 เท่า ซึ่งอาจเป็นอันตรายอย่างมาก

 

ภาพ: Photo by Mamunur Rashid / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X