×

ชาวอัฟกัน Gen Z หวั่นไร้อนาคต เสรีภาพถูกพราก ในยุคการปกครองของตาลีบัน

30.08.2021
  • LOADING...
ชาวอัฟกัน

สำนักข่าว Reuters เผยแพร่รายงาน สะท้อนความคิดเห็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวอัฟกัน หรือที่เรียกกันว่ารุ่น Gen Z ซึ่งหมายถึงกลุ่มประชาชนที่เกิดตั้งแต่ช่วงปี 1997-2012 หรืออายุตั้งแต่ 9-24 ปี พบว่าหลายคนรู้สึกเหมือนชีวิตพลิกผันในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้ากระบวนการถอนทหารอย่างจริงจัง เปิดทางให้กลุ่มตาลีบันรุกคืบเข้ายึดครองเมืองต่างๆ กระทั่งโค่นรัฐบาลพลเรือนและควบคุมอำนาจได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว

 

สถานการณ์ในอัฟกานิสถานหลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจและเตรียมจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศ สร้างความหวาดผวาให้ประชาชนจำนวนมาก หลายคนหาหนทางอพยพ ทิ้งบ้านเรือนหนีไปยังต่างแดน ขณะที่กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่เคยวาดฝันถึงอนาคตอันสดใสของตนเอง ต่างหมดหวังและหวาดกลัวต่อสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญหลังจากนี้

 

ซอลจี นักศึกษาสาววัย 20 ปี คือหนึ่งในคนที่รู้สึกว่าชีวิตและอนาคตของตนเอง กำลังจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ 

 

เธอให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่าไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เธอเพิ่งได้รับข่าวดีที่สร้างความปลาบปลื้มอย่างยิ่ง หลังรู้ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเธอได้คะแนนสอบสูงสุดจากนักเรียนที่เข้าสอบกว่า 200,000 คน 

 

“นั่นเป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกว่ามีคนมอบของขวัญให้ฉันทั้งโลก แม่ของฉันร้องไห้ด้วยความสุขและฉันร้องไห้กับเธอ” ซอลจีกล่าว และเล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาหลายเดือนก่อนหน้านี้ที่เธอพยายามเก็บตัวอ่านหนังสือเตรียมสอบอยู่ในห้องจนบางครั้งถึงกับลืมกินข้าว

 

แต่ความสุขกลับต้องแปรเปลี่ยนเป็นความกังวลใจ เมื่อซอลจีนึกขึ้นได้ว่าชีวิตและอนาคตของเธอจากนี้ไป จะตกอยู่ใต้เงื้อมมือของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งมีประวัติโชกโชนเรื่องการกดขี่ผู้หญิง

 

“เรากำลังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ฉันคิดว่าฉันเป็นคนที่โชคดีและโชคร้ายที่สุด” เธอกล่าว

 

ปัจจุบันพบว่าประชากรอัฟกันเกือบ 2 ใน 3 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งในกลุ่มคน Gen Z แทบทั้งหมด ไม่เคยได้สัมผัสความโหดร้ายจากการปกครองของตาลีบัน ซึ่งเคยครองอำนาจรัฐบาลในช่วงปี 1996-2001 ก่อนจะถูกสหรัฐฯ และกองทัพชาติตะวันตกโค่นล้ม 

 

ซึ่งในระหว่างที่ตาลีบันเรืองอำนาจ พวกเขาใช้กฎหมายอิสลามที่สุดโต่งในการบริหารประเทศ เด็กหญิงถูกห้ามไม่ให้ไปเรียนหนังสือ ผู้หญิงถูกห้ามทำงาน และยังมีกฎระเบียบเข้มงวดอีกมาก ซึ่งหากฝ่าฝืน โทษสูงสุดอาจถึงขั้นประหารชีวิตในที่สาธารณะ

 

อย่างไรก็ตาม หลังเข้ายึดอำนาจคืนได้สำเร็จ โฆษกตาลีบันประกาศให้การรับรองว่าจะเคารพสิทธิสตรี จะไม่มีการห้ามเรียนหนังสือหรือห้ามทำงาน และเชิญชวนชาวอัฟกันที่มีทักษะต่างๆ ไม่ว่าชายหรือหญิง ให้อยู่ช่วยกันพัฒนาประเทศ

 

แต่คำสัญญาจากตาลีบันยังเป็นที่เคลือบแคลง หนุ่มสาวที่เติบโตมาในยุคอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน และการเคารพสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ต่างกลัวว่ารัฐบาลตาลีบันจะพรากเสรีภาพเหล่านี้ไป

 

“ฉันมีแผนใหญ่ ฉันมีเป้าหมายสูงส่งนี้เพื่อตัวฉันเอง ซึ่งจะยืดยาวต่อจากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า เรามีความหวังสำหรับชีวิต มีความหวังสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่ในช่วงเวลาแค่สัปดาห์เดียว พวกเขายึดประเทศ และภายใน 24 ชั่วโมง พวกเขาก็พรากความหวังและความฝันทั้งหมดไปต่อหน้าเรา แผนทั้งหมดนั้นเปล่าประโยชน์” โซซาน นาบี นักศึกษาจบใหม่ชาวอัฟกัน วัย 21 ปี กล่าว

 

เสรีภาพที่ได้มาอย่างยากลำบาก

 

เช้าวันที่ 15 สิงหาคม ขณะที่ตาลีบันรุกคืบเข้าใกล้กรุงคาบูล จาวิด ชายหนุ่มวัย 26 ปี รีบวิ่งจากมหาวิทยาลัยที่เขาทำงาน กลับไปที่บ้าน และลบอีเมล ข้อความในโซเชียลมีเดียทั้งหมดที่เขาส่งให้กับองค์กรและหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานของสหรัฐฯ ก่อนจะเอาสำเนาใบประกาศนียบัตรที่ได้จากโครงการพัฒนาภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ ไปเผาที่สวนหลังบ้าน พร้อมทั้งทำลายถ้วยรางวัลที่ได้จากโครงการดังกล่าวด้วย

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของชาวอัฟกันมากมายที่หวาดกลัวว่าอาจต้องโทษหรือถูกสังหาร จากการที่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับองค์กรภาครัฐและชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ

 

บรรยากาศในคาบูลและหลายเมืองใหญ่ ซึ่งตอนนี้เต็มไปด้วยนักรบตาลีบันคอยปักหลักเฝ้าระวังและลาดตระเวนรอบเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวที่แม้จะเกิดไม่ทันยุคของตาลีบัน แต่ได้ทราบเรื่องราวจากพ่อแม่ ต่างก็กลัวว่าชีวิตจะไม่ปลอดภัยและหวั่นวิตกว่าเสรีภาพในชีวิตของตนจะหายไปเช่นเดียวกับเมื่อ 20 ปีก่อน 

 

อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้โลกกว้าง และสร้างความบันเทิง ณ ปัจจุบัน เป็นอีกอย่างที่หนุ่มสาวอัฟกันกลัวว่าจะต้องสูญเสียไป เนื่องจากมันไม่เคยมีอยู่ในยุครัฐบาลตาลีบัน อีกทั้งยังอาจขัดต่อกฎหมายอิสลามบางข้อ

 

“มันเป็นสิ่งที่เราทุกคนใช้อยู่ตลอดเวลา เราใช้มันเพื่อความบันเทิงเมื่อเราต้องการพักผ่อน มันเป็นวิธีของเราในการค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก ฉันไม่ต้องการที่จะสูญเสียสิ่งนั้นไป” เอลาฮา ทามิม นักเรียนหญิงวัย 18 ปี ที่เพิ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จกล่าว

 

สิทธิสตรีอาจสูญหาย 

 

ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า หลังยุคการปกครองของตาลีบันในปี 2001 จำนวนเด็กหญิงอัฟกันที่เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 0 เป็นมากกว่า 80%

 

ขณะที่นักเรียนและนักศึกษาหญิงอัฟกันเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ให้สิทธิและเสรีภาพในการไปโรงเรียนและทำสิ่งต่างๆ แต่สำหรับในยุคการปกครองของตาลีบัน สภาพแวดล้อมเหล่านี้อาจสูญหายไป

 

โดยทามิมกล่าวว่าเธอรู้สึกกลัวมาก หลังแม่ของเธอเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาที่ขมขื่นจากการอยู่ภายใต้การปกครองของตาลีบันให้เธอฟัง ซึ่งเธอไม่ต้องการเสียความเป็นอิสระในการเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆ แบบที่เคยได้ทำ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้คำสัญญาของตาลีบันเรื่องการเคารพสิทธิสตรีจะยังไม่น่าไว้ใจ แต่ อัมมาร์ ยาซีร์ สมาชิกฝ่ายการเมืองของตาลีบันประจำสำนักงานในกรุงโดฮาของกาตาร์ ก็โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ แสดงความยินดีให้กับซอลจี ที่ทำคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นอันดับ 1 และได้เข้าเรียนในสาขาการแพทย์

 

ขณะที่ซอลจียังคงมีความหวังว่าเธอจะได้เดินตามความฝันของตนเอง และหากตาลีบันยอมให้เด็กหญิงได้มีการศึกษาสูงๆ โดยไม่ปิดกั้นแบบที่ให้สัญญาไว้จริงก็คงเป็นสิ่งที่ดี แม้ในตอนนี้เธอจะมองว่าความหวังเหล่านี้ยังเป็นเพียง ‘ความไม่แน่นอน’ 

 

ภาพ: Photo by Paula Bronstein /Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X